สรุปเรื่องกาตาร์ในสิบย่อหน้า
- หลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันเมื่อ 93 ปีที่แล้ว อดีตกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆในรัฐออตโตมันถูกแยกเป็นรัฐเล็กใหญ่ๆ ตามการจัดสรรของผู้ชนะสงคราม เมื่อไร้รัฐชาติอิสลามที่ยิ่งใหญ่ กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามต่างๆจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อสานฝันสู่การกลับมามีรัฐอิสลามอีกครั้ง
- ผลพวงจากนักเคลื่อนไหวจากบรรทัดบน จึงเกิดขบวนการ Muslim Brotherhood (MB) หรือ ภราดรภาพมุสลิม ในประเทศอิยิปต์ช่วงปี 1928 ซึ่งเป็นกลุ่มจัดตั้งโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผนวกเอารูปแบบทันสมัยแบบตะวันตกเข้ามาจัดการบริหาร โดยมีอุดมการณ์การกลับมาอีกครั้งของรัฐอิสลามอันยิ่งใหญ่ ความทันสมัยและระบบจัดการที่ดีทำให้กลุ่มขยายตัวเร็วมาก รวบรวมคนชั้นล่างและคนชั้นกลาง และปัญญาชนเข้ามาร่วมพรรคได้มากมาย
- หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1948 มีการก่อตั้งของรัฐอิสราเอล รัฐอาหรับร่วมกันรบกับอิสราเอลโดยที่องค์กรที่มีแนวคิดทั้งชาตินิยมอาหรับ อิสลามิสต์ ร่วมมือกันรบแต่แพ้ สถานการณ์ตะวันออกกลางเริ่มยุ่งเหยิงมากขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของอิสราเอล (ชาติพันธ์อาหรับ+ศาสนาอิสลาม VS ชาติพันธ์ยิว ศาสนายูดาย)
- ซาอุดิอารเบีย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ MB มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ในช่วงปี 1950 MB เคยถูกสั่งแบนจากประธานาธิบดีนัซเซอร์ ซาอุเป็นผู้รับการอพยพของนักวิชาการศาสนาจาก MB และเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระบบมหาวิทยาลัยสำหรับการศึกษาศาสนาในซาอุดิอารเบีย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุกับ MB นั้นเปลี่ยนแปลงตามหัวรถจักรของประเทศ (ผู้นำสูงสุดของซาอุ) บางช่วงก็ดีมาก บางช่วงก็ดีน้อย บางช่วงก็ถือเป็นศัตรูกัน
- MB เคยถูกแบนในอิยิปต์หลายครั้ง ทุกครั้งที่ถูกแบน แกนนำจำนวนหนึ่งจะอพยพไปยังประเทศอื่นๆ แกนนำ MB กระจัดกระจายลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากอิยิปต์เป็นชาติรุ่มรวยอารยธรรม และ MB ได้รวบรวมนักคิด นักวิชาการไว้จำนวนมาก การแบน MB ในอิยิปต์จึงเป็นการแพร่กระจายเมล็ดพันธ์ทางความคิดที่ถ่ายทอดโดยแกนนำของ MB ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆด้วย แทบทุกประเทศในโลกอาหรับจะมีหน่อพันธ์ของ MB อยู่ และเริ่มแตกหน่อกลายเป็นพรรคการเมืองบ้าง เป็นองค์กรสาธารณกุศลบ้าง
- มีการลอบสังหารอันวา ซาดัต ประธานาธิบดีของอิยิปต์ในปี 1981 หลังซาดัตเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ผู้สังหารคือกลุ่มสุดโต่งกลุ่มหนึ่ง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในประเทศอิยิปต์ทั้งหมดถูกสั่งแบน ตามมาด้วยการจับกุมตัวผู้นำของ MB และการอพยพครั้งใหญ่ของแกนนำ MB อีกครั้ง
- การแบน MB ไม่เคยทำให้ MB หายไปจากสารบบ อุดมการณ์และการเคลื่อนไหวของ MB ไม่หยุดนิ่ง การประท้วงจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองในตูนิเซียโดยประชาชนเดินดินธรรมดา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งยิ่งใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง MB เห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงนี้และร่วมสนับสนุนประชาชนผ่านองค์กรหรือพรรคการเมืองของ MB ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ร่วมเดินขบวนไล่รัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศอาหรับ ไล่ตั้งแต่ ตูนีเซีย อิยิปต์ เยเมน โมรอคโค ลิเบีย และ ซีเรีย หลายประเทศไล่ผู้นำสำเร็จ แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีความวุ่นวายตามมา
- กาตาร์เป็นรัฐขนาดเล็ก ที่มีรายได้จากพลังงานฟอสสิล ร่ำรวยมหาศาล ผู้ปกครองมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล พยายามพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ทั้งทางด้านตำแหน่งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา วางแผนตั้งแต่สามสิบสี่สิบปีที่แล้ว (โดยพ่อของผู้ปกครองรัฐคนปัจจุบัน) นักวิชาการของ MB จำนวนมากอยู่ในกาตาร์ เปิดสถาบันการเรียนการสอนที่นั่น และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้นำรัฐ ฮามาสศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสราเอลซึ่งเป็นเครือข่ายของ MB มีสำนักงานในโดฮา และเชคยูซุฟ กอรฏอวี ปูชนียบุคคล ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของ MB ก็ใช้ชีวิตอยู่ที่กาตาร์ ได้รับรองความปลอดภัย แม้ทางอิยิปต์จะขอให้ส่งตัวในฐานะผู้ก่อการร้ายก็ตาม
- กาตาร์ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ MB ผ่านสื่อที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกอาหรับอย่าง Al Jazeera ซึ่งบรรดาผู้นำชาติอาหรับอื่นๆมองเป็นการยั่วยุให้ประชาชนนั้นแข็งข้อต่อรัฐบาลตัวเอง ช่วงอาหรับสปริงถือเป็นช่วงที่ Al-Jazeera เล่นบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลของฝั่งประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลประเทศตัวเอง ซาอุดิอารเบีย เอมิเรต บาห์เรน ถึงแม้จะไม่มีช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจากอาหรับสปริง แต่ถือว่าถูกประชาชนท้าทายอำนาจพอสมควร ความไม่พอใจนี้นำมาสู่การแบนกาตาร์ครั้งแรกในปี 2012 โดยการเรียกทูตกลับ แต่ไม่ถึงขั้นปิดน่านฟ้า ปิดพรมแดนแบบนี้
- กาตาร์โดนบีบโดยชาติอาหรับ จึงต้องเพิ่มความร่วมมือกับชาตินอกอาหรับอย่างตุรกี และอิหร่านเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้กาตาร์และอิหร่านจะสนับสนุนคนละฝั่งในสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่การปฏิสัมพันธ์โดยตรงของผู้นำรัฐของอิหร่านและกาตาร์ มีความอ่อนไหวต่อเสถียรภาพของชาติอาหรับอื่นๆ เมื่อบวกกับปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา จึงทำให้เกิดการประกาศแบนกาตาร์ครั้งใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้น