Skip to main content

 

น้ำดื่มถูกนำมาวางเรียงไว้บนที่นั่งแทนผู้โดยสารเกือบแทบทุกที่นั่ง ขณะที่ข้าวของอีก 8 ตันอัดแน่นอยู่ใต้ท้องเครื่องบิน                

โบอิ้ง737-400 ทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมืองมุ่งสู่สนามบินบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส โดยบนเครื่องมีผู้โดยสารไม่ถึง 10 คน แต่เหล่าแอร์โฮสเตสยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทั้งตักเตือนผู้โดยสารให้นั่งประจำที่ รัดเข็มขัดยามเครื่องขึ้น-ลง และปิดเครื่องรับโทรศัพท์                 

 

สาวน้อยชุดเหลืองยืนทำท่าประกอบสอนผู้โดยสารถึงวิธีปฏิบัติหากเกิดเหตุฉุกเฉินเหมือนเที่ยวบินทั่วไป แต่สายตาที่ต้องเหลือบแลไปยังผู้โดยสารส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแพ็กน้ำและปลากระป๋อง  ทำให้กลายเป็นบรรยากาศของการ  “อมยิ้ม” ยามเช้ามากกว่าใส่ใจในสิ่งที่เธอกำลังถ่ายทอด                 

 

เสียงพูดคุยอย่างออกรสออกชาติตามแบบฉบับของ “พาที สารสิน” ดังขึ้นเมื่อเครื่องบินไต่ถึงระดับและเสียงสัญญาณอนุญาตให้เอาสายรัดเข็มขัดออกได้                

 

เที่ยวบินพิเศษของนกแอร์เที่ยวแรกนี้ พาที ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินร่วมเดินทางไปด้วย  ขณะที่เจ้าของกิจการและประชาชนหลายภาคส่วนต่างส่งข้าวของและ “ใจ” ไปถึงผู้ประสบภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (www.thaiflood.com)               

 

ศูนย์ช่วยเหลือแห่งนี้เป็นความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในภาคประชาชน                

 

ทุกคนต่างๆ คิดเหมือนกันหมดว่า  ทำอย่างไรถึงจะให้ข้าวของเครื่องใช้ที่ขนมานี้ถึงมือผู้ประสบภัยที่กำลังเดือดร้อนอย่างสาหัสโดยเร็วที่สุด                

 

หลายคนเหนื่อยหน่ายและระอาใจเมื่อพูดถึงรัฐบาล  เพราะตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่ทั้งในภาคอีสานและภาคกลาง  ตลอดมาจนถึงภาคใต้ กลไกลภาครัฐยังคงมะงุมมะงาหราและเข้าไม่ถึงผู้ประสบความเดือดร้อน ทั้งๆ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ กำลังพล และงบประมาณอยู่พร้อมสรรพ                 

 

แม้รัฐบาลจะตีปี๊บดังโครมครามๆ ในการจ่ายเงินชดเชยความสูญเสีย  แต่เป็นเสียงโครมครามคือเสียงที่น่ารำคาญมากกว่าน่าเชื่อถือ

 

ขณะที่นิยามความ “สูญเสีย” ระหว่างรัฐและราษฎร์ยังคงแตกต่างกันเหลือเกิน และการเยียวยาหากใช้เพียงสมอง แต่ไม่เอา“ใจ”เข้าไปร่วมด้วย ก็ยากที่จะเข้าใจหัวอกของคนบนพื้นดิน

 

เครื่องบินยังคงมุ่งหน้าลงใต้โดยลอยแล่นเลียบฝั่งทะเล แม้บินสูงอยู่เหนือผืนดินพอสมควร แต่ร่องรอยความเสียหายปรากฏชัดให้เห็นตั้งแต่เข้าเขตจังหวัดสงขลา

 

แนวต้นสน  ต้นมะพร้าว หักโค่นตามริมชายหาดเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับบ้านเรือนริมทะเลหลายหลังพังพินาศ ขณะที่สวนยางพาราหลายร้อยไร่ยังคงยืนอยู่ในน้ำ

 

“ปอม” หรือ พรพรหม พรหมสุนทร อาสาสมัครซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร พยายามเก็บภาพจากมุมสูงเอาไว้เท่าที่ทำได้

 

ปอมและเพื่อนๆ อาสาสมัครราว 30 คนรวมตัวกันในนาม “ประเทศไทยกลับมาสดใส ดีกว่าเดิม” ช่วยกันระดมความช่วยเหลือส่งไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเริ่มขึ้นในสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค ก่อนมาตั้งจุดเปิดรับบริจาคในหลายแห่ง และมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 150 คน

 

“หลายคนเขามีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนครั้งนี้ แต่เขาเบื่อกับวิธีการบางอย่าง เช่น พอบริจาคไปแล้ว กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ช่องนั้น ช่องนี้ เอาไปอ้างอิง หรือเอาไปสร้างภาพให้ตัวเองดูดีขึ้น” ปอมสะท้อนความรู้สึกร่วมของเพื่อนๆ

 

ช่องนั้น ช่องนี้ ที่เขาพูด หมายถึงสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่แข่งขันกันเสนอข่าวไปพร้อมกับการเปิดรับบริจาคนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้

 

แม้การทำหน้าที่สื่อกลางในการรวบรวมน้ำใจส่งถึงผู้ประสบภัยครั้งนี้จะเป็นเรื่องดี  แต่ภาพข่าวที่ฉายให้เห็นในโทรทัศน์บางช่องเป็นเพียงแค่งานสงเคราะห์ประเภทวิ่งไล่แจกข้าวโดยมีตราสัญลักษณ์ของโทรทัศน์ช่องนั้นประทับหราอยู่  มากกว่าการช่วยเหลือชาวบ้านให้พยุงตัวเองได้ ก่อนการฟื้นฟูและเยียวยา  จึงมีคำถามเพิ่มขึ้นมากทุกวัน

 

“บางพื้นที่ที่เราไปมายิ่งกว่านั้นอีก พอเราเอาข้าวของไปให้ พวกนักการเมืองและผู้นำท้องถิ่นเอานามบัตรหรือเขียนป้ายชื่อพวกเขาติดไว้เลย” ปอมหัวเราะ เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เพราะสังคมของนักเลือกตั้ง นับแต่ระดับตำบลไปยันระดับชาติ ต่างก็จ้องสร้างบุญคุณให้ชาวบ้านไว้เพื่อผลในการลงคะแนนครั้งหน้าโดยไม่เลือกวิธีการ

 

“หลายคนที่เข้ามาบริจาค เขาเดินดุ่มๆ เข้ามาเอง บางคนมาถามก่อนว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วก็ออกไปซื้อกลับมาให้ บางคนเดินผ่านก็แวะเอาเงินใส่ซองมาให้” เขารู้สึกประทับใจในน้ำจิตน้ำใจของคนจำนวนมาก

 

“ผมว่าจริงๆแล้วยังมีคนต้องการบริจาคอีกเยอะ แต่เขาไม่สะดวก พอเราไปตั้งจุดเปิดรับใกล้ๆและเขามั่นใจว่าของไปถึงผู้ประสบภัยแน่ๆเขาก็พร้อม”ปอมและเพื่อนๆโชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดียอมให้ใช้พื้นที่ลานจอดรถโรงแรมดุสิตธานี บริเวณต้นถนนสีลมย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวงเป็นจุดรับบริจาค ทำให้แต่ละวันมีผู้แวะเวียนมาไม่น้อย

 

“พวกเราหลายคนคิดเหมือนๆกันคือเป็นพวกคิดบวก พอมารวมกลุ่มกัน มาทำกิจกรรมดีๆ ด้วยกันมันเลยสนุก” เขายืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับเขาจำนวนไม่น้อยที่มีจิตอาสาและพร้อมช่วยเหลือสังคม

 

หากมีโอกาสพวกเขาจะไม่ยอมปล่อยผ่าน..

 

หลังจากโบอิ้ง 737-400 เที่ยวพิเศษลงจอดที่สนามบินบ้านทอน ปอมและอาสาสมัครได้เดินทางต่อไปยังอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบความเสียหายอย่างหนัก เพี่อถ่ายภาพและเก็บข้อมูลนำไปเสนอสู่สังคม ขณะที่เสบียงถูกลำเลียงไปไว้ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งเพื่อรอการแจกจ่าย

 

“ผมว่าที่นี่รุนแรงกว่าที่โคราชและพิมายอีก” เขาเปรียบเทียบความเสียหายกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอาสาสมัครได้ลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน

 

ในหลายชุมชนบ้านริมฝั่งทะเลรอบอ่าวปัตตานีตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย  โดยชาวบ้านเล่าว่าพายุรุนแรงมาพร้อมกับคลื่นลูกใหญ่สูงถึงยอดมะพร้าวพัดถล่มหมู่บ้านจนบ้านพังยับเยิน โดยเฉพาะพื้นที่บ้านดาโต๊ะและแหลมโพธิ์  ซึ่งด้านหนึ่งเป็นทะเลอ่าวปัตตานีและอีกด้านหนึ่งเป็นทะเลอ่าวไทย ทำให้ต้องเผชิญทั้งลมและคลื่นทั้ง 2 ด้าน

 

“ในชีวิตนี้ฉันไม่เคยเจอคลื่นลูกใหญ่เท่านี้มาก่อนเลย” แม่เฒ่ามุสลิมคนหนึ่งยังคงระทึกใจเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ไม่กี่วันก่อน

 

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี  แต่เป็นความรุนแรงด้วยฝีมือมนุษย์ แต่ยามนี้ความรุนแรงจากภัยธรรมชาติได้ซัดเข้าใส่ชาวบ้านอีกระรอกใหญ่

 

นับวันสังคมไทยจะประสบแต่เหตุการณ์รุนแรงถี่ขึ้น  ทั้งภัยจากมนุษย์บางสายพันธุ์และภัยธรรมชาติ

 

หากชุมชนยังไม่ตั้งรับด้วยการสานสายใยและเกื้อกูลถึงกันเป็นโครงข่ายโดยเร็ว  อาจทำให้ความรุนแรงที่โหมเข้ามา กระแทกใส่สังคมจนแตกละเอียดและไม่สามารถเยียวยาได้อีก

 

                                                                                            ภาสกร จำลองราช  

                                                                                           (เผยแพร่ครั้งแรกที่หนัีงสือพิมพ์มติชน 5 พ.ย.53)