รูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
(ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คลิก)
โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
คณะผู้วิจัย
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ตลอดระยะเวลา 2 ปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ผู้เขียนร่วมกับดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ และคณะได้ทำการวิจัยเรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง เทศบาลนครยะลาได้ให้งบประมาณสนับสนุนโดย มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา รวบรวม สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งการนำเสนอข้อสรุปรูปแบบ เงื่อนไข ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้แบ่งระยะการวิจัยเป็น 4 ระยะ คือ 1. การศึกษารวบรวม สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคทฤษฎี จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จำนวน 57 เรื่อง และการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคสนาม จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 198 คน 2. การสังเคราะห์ และสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการประชุมปฏิบัติการของคณะผู้วิจัยเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. การตรวจสอบรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสนทนากลุ่ม(Focus Group) กับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 29 คน และ 4. การนำเสนอข้อสรุปรูปแบบ เงื่อนไข ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้นำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จากจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลาและสตูล จำนวน 540 คน ทั้งนี้มีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 -2559 และได้นำข้อมูลมาสังเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
|
ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ ดังนี้
1. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 0 – 5 ปี (ช่วงก่อนวัยเรียน)
1.1 รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในช่วงอายุตั้งแต่ 0 – 2 ปี
เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กวัยทารก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานสาธารณสุข, หน่วยงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ในด้านวิธีการส่งเสริมพัฒนาการ,การส่งเสริมภาระทางโภชนาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมบูรณ์ตามวัย
1.2 รูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบในช่วงอายุตั้งแต่ 2 – 3 ปี
การจัดการศึกษาโดยชุมชนในพื้นที่โดยการมีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดหรือศูนย์เราเฎาะ ตลอดจนการศึกษาที่ร่วมกับหน่วยงานทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ทางด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนทางด้านพัฒนาการและโภชนาการ รวมทั้งการแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยกับเด็กก่อนวัยเรียน
1.3 รูปแบบการจัดการศึกษาในระบบขั้นพื้นฐานในช่วงอายุตั้งแต่ 3 – 5 ปี
การจัดการศึกษาให้มีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สมบูรณ์และสมดุลตามวัย,ด้านการจัดสวัสดิศึกษาหรือสภาพความปลอดภัยในโรงเรียนให้,ด้านการสื่อสารภาษาไทยและภาษาแม่, ด้านการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและด้านการส่งเสริมการคิด โดยมีสาระประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) สาระการเรียนรู้ตามกรอบของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 ใน 4 สาระ คือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและสภาพแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว 2) สาระการเรียนรู้ตามบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ สาระการเรียนรู้ด้านภาษาไทยและภาษาแม่ (มลายู) สาระการคิดและนำเสนอความคิด และสาระการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. สถานศึกษาต้องมีสื่อและแหล่งเรียนรู้ ที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กนักเรียน ประกอบด้วย
1.1 สนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นสนามครบทุกด้านตามเกณฑ์มาตรฐาน
1.2 แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ เช่น สวนผลไม้ ทุ่งนา สวนหย่อม บ่อเลี้ยงปลา สวนยาง สวนปาล์ม มัสยิด วัด เป็นต้น
1.3 แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน เช่น สวนสมุนไพร ร้านค้าสหกรณ์ ห้องสมุด สนามกีฬา เป็นต้น
|
1.4 ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ สวนสาธารณะ ศาล สถานีตำรวจ เป็นต้น
2. สนับสนุนให้ครู/ผู้ดูแลเด็กต้องมีมาตรฐานวิชาชีพอนุบาล/ปฐมวัย และมีจำนวนครบตามสัดส่วนของเด็ก
3. สนับสนุนให้มีการนิเทศติดตาม ครู/ผู้ดูแลเด็ก อย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบพี่เลี้ยง ที่มีความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
2. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 7 - 22 ปี (ภาคบังคับและการเตรียมตัวทำงาน)
รูปแบบการจัดศึกษาในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่มีระยะยาวนานของการอยู่ในระบบการศึกษา จึงได้แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
2.1 รูปแบบการศึกษาในช่วงอายุ 7 – 18 ปี (การศึกษาขั้นพื้นฐาน)
มีหลักการในการศึกษาดังนี้
2.1.1 ส่งเสริมการเรียนรู้โดยมีการบูรณาการอิสลามศึกษากับสาระเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสอดคล้องตามบริบทและความต้องการของท้องถิ่น
2.1.2 ส่งเสริมทักษะทางภาษาด้วยการเรียนการสอนแบบสองภาษา (ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น) ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น
2.1.3 ส่งเสริมการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด
2.1.4 ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต
2.1.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2.1.6 ส่งเสริมการร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษากับชุมชนโดยอาศัยหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
โดยมีรูปแบบ 2 ส่วน คือ รูปแบบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยสามารถจัดแบบบูรณาการเนื้อหาอิสลามศึกษาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจัดควบคู่ระหว่างหลักสูตรอิสลามศึกษาและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยต้องมีการส่งเสริมการสอนแบบสองภาษา กระบวนการคิด และทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ครูผู้สอนมีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามสาระการเรียนรู้และมีจำนวนครบตามมาตรฐาน
2. ครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
3. โรงเรียนต้องมีความพร้อมของสื่อและแหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องปฏิบัติการทางภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องสมุด สื่ออิเลคทรอนนิกส์ และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นต้น
4. การบริหารจัดการของโรงเรียนต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน ยึดหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
2.2 รูปแบบการศึกษาทางวิชาชีพ มีการจัดการศึกษาทางวิชาชีพ ดังนี้
2.2.1 ส่งเสริมให้มีหลักสูตรตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่โดยมีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีเน้นการฝึกภาคปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ
2.2.2 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้เรียนตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในพื้นที่
2.2.3 ส่งเสริมการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด
2.2.4 ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต
2.2.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการบูรณาการอิสลามศึกษากับการเรียนด้านวิชาชีพ
2.2.6 ส่งเสริมการร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยการทำกิจกรรมจิตบริการชุมชน
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ครูผู้สอนมีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามวิชาชีพและมีจำนวนครบตามมาตรฐาน
|
2. ครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
3. สถานศึกษาต้องมีความพร้อมของสื่อและห้องปฏิบัติการทางวิชาชีพ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ในสถานประกอบการ
4. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
2.3 รูปแบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ดังนี้
2.3.1 ส่งเสริมระบบการผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถและมีความเข้าใจในบริบทของสังคมในท้องถิ่น
2.3.2 ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยการบูรณาการกับหน่วยงานในชุมชนและใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้
2.3.3 ส่งเสริมการบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับภูมิปัญญาสากล สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2.3.4 ส่งเสริมการวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้โจทย์การวิจัยจากท้องถิ่นตามลักษณะพื้นที่ เพื่อสามารถสร้างองค์ความรู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
2.3.5 ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เพื่อให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และการเรียนรู้ ปรับตัวในวัฒนธรรมที่แตกต่างได้
2.3.6 ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในระดับสากล เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรและนักศึกษาและสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. อาจารย์ผู้สอนมีคุณวุฒิและผลงานวิชาการตามกรอบเกณฑ์มาตรฐาน
2. ความร่วมมือของหน่วยงานการใช้บัณฑิตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกประสบการณ์สู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การบูรณาการและแสวงหาความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆเพื่อกำหนดโจทย์การวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น
|
4. ประสิทธิภาพการบริหารงานของมหาวิทยาลัย อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
2.4 รูปแบบการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้
2.4.1 ส่งเสริมทักษะทางภาษาไทยร่วมกันสถาบันปอเนาะ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.4.2 ส่งเสริมทักษะทางอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.4.3 ส่งเสริมการเรียนรู้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการพึ่งพาตนเอง สามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
2.4.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ครูผู้สอนสังกัดการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) มีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามสาระการเรียนรู้และมีจำนวนครบตามมาตรฐาน
2. ความร่วมมือระหว่างการศึกษาเอกชน สถาบันปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกา กับการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ต้องมีความใกล้ชิด และมีการวางแผนการศึกษาอย่างเป็นระบบ
3. ความพร้อมของสื่อและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์เรียนรู้ชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน เป็นต้น
4. เครือข่ายความร่วมมือในชุมชน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรในชุมชน
3. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 23 - 60 ปี (วัยทำงาน) มีรูปแบบการจัดการศึกษา ดังนี้
3.1 ส่งเสริมให้มีพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ชาชัก กริช หมวกกะปิเยาะ ผ้าพื้นเมือง กรงนก เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3.2 ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารงบประมาณ บัญชี ต้นทุน เทคโนโลยี เป็นต้น
|
3.3 ส่งเสริมการแสวงหาความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
3.4 ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางวิชาชีพในท้องถิ่นและมีการกำกับติดตามเพื่อให้วิชาชีพมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิชาชีพชาชัก วิชาชีพการทำกริช หรือวิชาชีพการทำกรงนก เป็นต้น
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ความร่วมมือระหว่างองค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ/วิชาชีพ สถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพของชุมชนท้องถิ่น
2. การมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีสื่อที่หลากหลาย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป
3. การรวมตัวของกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้เกิดเอกภาพและการพัฒนาอย่างทั่วถึง
4. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (วัยผู้สูงอายุ) การจัดการศึกษาของวัยสูงอายุ ควรเป็น ดังนี้
4.1 ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแพทย์ทางเลือกร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน
4.2 ส่งเสริมการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับวัยผู้อายุ เช่น การจักสาน การปลูกต้นไม้ประดับ ไม้สมุนไพร อาชีพด้านการฝีมือ เป็นต้น
4.3 ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดทักษะฝีมือของผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสืบสานด้านอาชีพและการยกย่องคุณค่าของผู้สูงอายุ เช่น การทำกรงนกเขาชวา การทำหมวกกะปิเยาะ การทำกริช เป็นต้น
4.4 ส่งเสริมให้สถานประกอบการรับผู้สูงอายุที่มีฝีมือและมีสุขภาพดี เข้าทำงานเพื่อทดแทนแรงงานและสร้างรายได้สำหรับผู้อายุ
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อายุ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เป็นต้น
|
2. การมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ
3. ความเข้มแข็งของกลุ่มของผู้สูงอายุ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ
อภิปรายผลการวิจัย
ข้อคันพบจากการวิจัยครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย 2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด และ 3. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งสามารถอภิปรายตามประเด็น ดังนี้
1. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย ทั้งนี้จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คะแนนเฉลี่ย 40.56 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ (44.48) แสดงให้เห็นว่าปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ จะเห็นจากการสนทนากลุ่มของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา “เราจะพบว่าการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาทางราชการในการสื่อสารรวมทั้งใช้สำหรับการเรียนการสอน การออกข้อสอบ แต่นักเรียนเราอ่านภาษาไทยไม่ได้ อันนี้เราก็เสียเปรียบแล้ว เมื่อเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อย่างอื่นก็เดินยาก” ดั้งนั้นจะพบว่ามีการพัฒนาวิธีการสอนภาษาไทยรวมถึงสื่อการสอน จะเห็นได้จาก การจัดเรียนการสอนโดยใช้ภาภาษาถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อการสอน กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ 2551) โดยมีการดำเนินการนำร่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบันผลการศึกษาพบว่าสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะการขยายผล รวมถึงการใช้สื่อที่เป็นภาษามลายู ร่วมกับภาษาไทย เช่น การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านชุดพหุภาษาสำหรับผู้เริ่มเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สุนทร ปิยะวสันต์ 2552) ผลการศึกษาก็พบว่าเป็นสื่อการสอนที่เหมาะกับบริบทวัฒนธรรมและสามารถพัฒนาทักษะทางภาษา ปัญหาการอ่านภาษาไทย ไม่ออก ก็เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในจังหวัดยะลา “ผมใช้การแจกลูกประสมคำสำหรับเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งใช้ได้ผลมาตั้งแต่อดีตแล้วและปัจจุบันยังใช้ได้ดีนะครับ” (ประถม เตโช 2559) นอกจากนั้นก็ยังมีการวิจัยในชั้นเรียนที่มีการพัฒนาการใช้ภาษาไทยอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แบบฝึกทักษะการพูด ฟัง อ่าน และเขียน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการพัฒนาทักษะภาษาไทยก็ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานักเรียนที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ที่ใช้ภาษามลายยูถิ่นในการสื่อสารในชีวิตประจำวันจะใช้ภาษาไทยเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำรูปแบบการสอนที่ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เช่นการสอนทวิภาษา การสอนแบบพหุภาษา และการสอนแบบแจกลูกประสมคำ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการสอนเหล่านี้ต้องมีการบูรณาการและมีการขยายผลให้มีการใช้การพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทย รวมทั้งต้องมีการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาทางด้านทักษะภาษาไทย เพื่อให้มีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนทางด้านภาษาและเผยแพร่สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
|
2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด จากผลการประเมินการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวิชาคณิตศาสตร์ ได้คะแนนเฉลี่ย 34.04 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ (38.06) นอกจากนั้นยังพบว่าการศึกษาต่อของนักเรียนในพื้นที่สนใจเข้าเรียนสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษามีจำนวนน้อย จะเห็นได้จากการเปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาต้องเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติมเข้าเรียนในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในทุกปีการศึกษา จากปัญหาดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถหรือทักษะทางด้านการคิดคำนวนซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ รวมทั้งการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการทางด้านสมองในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ทิศนา แขมมณี 2554 : 188 - 189) สำหรับการแก้ปัญหาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่มีการศึกษารูปแบบการบริหารและจัดห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในโรงเรียนจังหวัดภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ผลการประเมินเบื้องต้นอยู่ในระดับดี (มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 2559 ฐานข้อมูลออนไลน์ smp-yru.blogspot.com) และจากผลการจัดเวทีประชาคม มีการเสนอแนะให้มีการขยายโครงการ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ทั่วทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีศูนย์ประสานงานแต่ละจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพิจารณาถึงส่งเสริมทักษะการคิดขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นและใช้มากในชีวิตประจำวันรวมทั้งใช้เป็นพื้นฐานในการคิดขั้นสูงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ ไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานที่ 4 (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์กรมหาชน (2547 : 6) จากผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบรูปแบบการพัฒนาทักษะการคิดดังกล่าวค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เพราะการคิดเป็นลักษณะของกระบวนการหรือวิธีการไม่ใช่เนื้อหาสาระหรือเนื้อหาความรู้ การสอนจึงเป็นเรื่องยากสำหรับครูซึ่งต้องอาศัยความรู้ทั้งด้านความหมาย ขั้นตอนการคิด และตัวบ่งชี้ในการคิด (ทิศนา แขมมณี 2554 : 191 - 192)
|
ดังนั้นการส่งเสริมรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านความคิดควรจัดควบคู่ไปกับการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การศึกษารูปแบบการส่งเสริมผู้เรียนให้มีการประดิษฐ์ การวิเคราะห์เหตุการณ์ การตัดสินใจ การรับรู้เท่าทันสื่อ รูปแบบของโรงเรียนที่ส่งเสริมการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาโดยมีการสนับสนุนทางด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาการคิดทั้งระบบต่อไป
3. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม จากผลการวิจัยที่พบว่าทุกระดับการศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งผลปรากฏจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งปัจจุบัน สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความไม่เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันในต่างวัฒนธรรม การยอมรับซึ่งกันและกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ในการอยู่ร่วมกัน และเป็นหัวใจที่สำคัญในการดำเนินงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2551) ดังนั้นการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความเข้าใจที่มุ่งสู่สันติภาพหรือสันติศึกษา (Peace Education) โดยการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความร่วมมือ การสะท้อนคิด ไม่ใช้ความรุนแรงในการสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการมีจินตนาการเชิงสันติ รวมทั้งรูปแบบการจัดการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) ที่ต้องทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความแตกต่างและยอมรับในความหลากหลายของแต่ละบุคคล โดยมุ่งให้ความสำคัญกับสิทธิและความเสมอภาค และความเป็นพลเมืองตามแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ต้องส่งเสริมในนักเรียนเกิดความเชื่อมั่นและมีความภาคภูมิใจในตนเองและยอมรับความหลากหลายได้ (จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ และคณะ 2556)าาา
ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม จึงควรจัดทำหลักสูตรด้านสันติศึกษาในแต่ละระดับโดยมีเนื้อหาให้เหมาะสมในแต่ละระดับ และใช้หลักการในการยอมรับความแตกต่าง การเคารพในความเชื่อความเห็นของแต่ละบุคคล การ ไม่ใช้ความรุนแรงในการสื่อสารและการแก้ปัญหา และการน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้สำหรับการพัฒนารูปแบบดังกล่าว รวมทั้งมีการบูรณาการเนื้อหาเหล่านี้อยู่ในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะการอยู่ร่วมกันด้วยสันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
|
ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
1. ด้านนโยบาย
1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับแผนการศึกษา
ชาติโดยมีการสำรวจสภาพปัญหา บริบทและความพร้อมของโรงเรียนก่อนกำหนดนโยบาย
1.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการศึกษานำร่องก่อนนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นและมีวิธีการป้องกัน
1.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรการมีนโนบายในการกำหนดมาตรฐานการสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการให้มีความเท่าเทียม
2. ด้านหลักสูตร
2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาด้วยการเรียนการสอนแบบสองภาษา (ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น) ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด
2.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต
2.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2.5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้เรียนทางวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในพื้นที่
|
2.6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมให้มีพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ชาชัก กริช หมวกกะปิเยาะ ผ้าพื้นเมือง กรงนก เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2.7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารงบประมาณ บัญชี ต้นทุน เทคโนโลยี เป็นต้น
2.8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
2.9 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแพทย์ทางเลือกร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน
2.10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมการหลักสูตรสำหรับฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับวัยผู้อายุ เช่น การจักสาน การปลูกต้นไม้ประดับ ไม้สมุนไพร อาชีพด้านการฝีมือ เป็นต้น
2.11 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้มีหลักสูตรการถ่ายทอดทักษะฝีมือของผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสืบสานด้านอาชีพและการยกย่องคุณค่าของผู้สูงอายุ เช่น การทำกรงนกเขาชวา การทำหมวกกะปิเยาะ การทำกริช เป็นต้น
3. ด้านการบริหารจัดการ
3.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้การบริหารจัดการของโรงเรียนต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน ยึดหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
3.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้โรงเรียนมีการจัดทำภาระงานและมีการ
กำหนดกรอบอัตราตำแหน่งให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน
4. ด้านการส่งเสริมและการพัฒนาครู
4.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรวางแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตครูให้ตอบสนองสาขาที่ขาดแคลนอย่างเป็นระบบ
4.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการวางแผนการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบโดยมีสถาบันพัฒนาครูที่ได้มาตรฐาน
4.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้มีระบบการนิเทศติดตามครูอย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
|
4.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
5. ด้านกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน
5.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดให้สถานศึกษาต้องมีสื่อและแหล่งเรียนรู้ ที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กนักเรียน ประกอบด้วย สนามเด็กเล่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ห้องปฏิบัติการทางภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องสมุด สื่ออิเลคทรอนนิกส์, แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ, แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และ ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน
5.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเพื่อจัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนอินเตอร์เน็ต/อุปกรณ์ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
5.3 การจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนควรกำหนดให้สอดคล้องตามหลักศาสนาและมีความหลากหลาย
5.4 ควรมีรูปแบบการช่วยเหลือนักเรียนเป็นเฉพาะรายกรณีควบคู่กับการให้คำปรึกษา สำหรับการบำบัดยาเสพติดควรมีการบูรณาการกับหน่วยงานด้านการบำบัด/ความมั่นคงและครอบครัว
ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน แต่ละรูปแบบ เช่น รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด และรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นต้น
2. ควรมีการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะทางภาษาไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ศูนย์พัฒนาทางด้านการคิด และศูนย์ส่งเสริมสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม
3. ควรมีการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิตต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ชายแดนภาคใต้
หมายเหตุ สำหรับผู้เขียนมีทัศนะดังนี้
1.การส่งเสริมภาษาในโครงการทวิภาษาภึงเเม้จะสามารถพัฒนาด้านภาษาไทยเด็กในพื้นที่ตามผลการวิจัยเเต่ในเเง่รัฐศาสตร์การเมืองอาจมีผลเสียสร้างความเเตกเเยกมากกว่าเพราะสังคมมลายูอีกหลายส่วนมีทัศนะว่าจะทำให้อักษรยาวีมลายูหายไป
2.ไม่มีเเต่พัฒนาศูนย์ภาษาไทยเเต่ควรพัฒนาศูนย์มลายูไปพร้อมกันเพราะนับวันภาษามลายูมาตรฐานทางวิชาการของคนในพื้นที่ก็กำลังหายไปด้วย
3. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรหนุนเสริมการศึกษาศาสนาตลอดชีพเเก่คนพื้นที่เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรม(นอกจากการศึกษาศาสนาในระบบโรงเรียน)