มานิ วิถีแห่งป่าเขา (ตอนที่ 3 ความตาย และภาษาของชาวมานิ)
ความเชื่อของแต่ละชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ มานิเป็นชนเผ่าที่มีวีถีวัฒนธรรมที่เน้นการเคารพธรรมชาติ มีการให้ความสำคัญกับต้นไม้ สายน้ำ ภูเขา จอมปลวก ทุกอย่างล้วนมีพลังงานบางอย่างอยู่ในตัวเอง อาจเรียกว่าผีก็ได้ เป็นธรรมชาติที่ต้องเคารพ มานิเคารพในธรรมชาติอย่างยิ่ง แต่ไม่มีพิธีกรรมการไหว้หรือพิธีบูชาใดๆ แต่เป็นความเคารพที่ฝังอยู่ในชุดความคิดที่ไม่ทำลายธรรมชาติและไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ขอเพียงแค่พออยู่พอกินในแต่ละวัน
ความตายเป็นตัวสะท้อนวัฒนธรรมที่ดี พี่จรูญ ทศกูล เล่าว่า “มานิไม่มีการจัดการงานศพ หากมีคนป่วยหนัก น่าจะไม่รอด เมื่อต้องย้ายทับ ต้องเดินข้ามเขา ย่อมพาคนป่วยหนักที่เดินไม่ไหวไปด้วยไม่ได้ มานิจะปล่อยให้คนคนนั้นนอนในทับ ทิ้งอาหารและน้ำไว้ หากในวันข้างหน้า คนที่ย้ายทับกลับมา พบเห็นกระดูกก็หมายความว่าตายแล้ว หากกลับมาไม่เห็นอะไร จะไม่ว่าหายป่วยหรืออาจถูกสัตว์กัดกินจนไม่เหลือซาก ก็แปลว่า เขาคนนั้นได้กลับไปอาศัยกับบรรพบุรุษแล้ว” แต่ปัจจุบันด้วยความใกล้ชิดคนพื้นราบ จึงมีการฝังศพจากการที่คนพื้นราบช่วยจัดการให้
มานิมีเครื่องดนตรี เขามีเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าเช่นกัน แต่ปัจจุบันนั้นเชื่อว่ากำลังจะสาบสูญ มานิเองที่ประดิษฐ์เครื่องดนตรีเป็นนั้นคงมีเหลือน้อยลงมาก แม้แต่ภาษามานิในอนาคตก็อาจสาบสูญไป ภาษามานิเป็นภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันคนมานิส่วนหนึ่งพูดภาษาใต้ได้บ้างเพื่อการสื่อสาร แต่เขายังพูดภาษามานิในการคุยกันเอง
ภาษามานิมีการนับเลขเพียงเลข 1,2,3 และ 4 เท่านั้น ภาษามานิเลข 4 เรียกว่า “แบม” หากเลข 5 เป็นต้นไป เขาจะเรียกว่า แบมแบม แปลว่ามาก ด้วยข้อจำกัดทางภาษา เขาจึงมีปัญหาในการคิดเลข การใช้เงินแลกเปลี่ยน การทอนเงิน ส่วนใหญ่ของมันนิหากเอาขอป่าลงมาในหมู่บ้าน ก็มักเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของ แลกสะตอป่ากับข้าวสารเป็นต้น
อ่านตอนที่แล้ว