เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประเมินความเสียหายของประชาชนในพื้นที่ ณ วันที่ 5 - 6 พ.ย. 53 โดยพบว่า จ.ปัตตานีมีผู้ประสบภัยจำนวน 405 หมู่บ้าน กว่า 95,305 คน ใน 12 อำเภอ และต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ 1,160 คน และเสียชีวิต 19 ศพโดย 15 ศพ จากคลื่นซัดขึ้นฝั่งบริเวณบ้านดาโต๊ะ ม.4 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
นอกจากนั้นยังพบว่า มีพื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 88,102 ไร่ บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 133 หลัง เสียหายบางส่วน 4,917 หลัง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมืองปัตตานี อ.แม่ลาน และ อ.หนองจิก ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำสายหลักและเขื่อนบางลางนั้น พบว่า เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำในอ่าง 67.42% โดยสามารถรับน้ำได้อีก 4.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนปัตตานีเริ่มเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่ยังมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีเล็กน้อย เนื่องจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุน ทั้งนึ้คาดว่า น้ำจะท่วมรอบๆ เขตชุมชนนอกเทศบาลเมืองปัตตานีไปอีกระยะหนึ่งและจะเริ่มลดลงประมาณ 4 - 5 วัน
ส่วนใน จ.ยะลา มีผู้ประสบภัยรวม 13,616 หมู่บ้าน รวม 53,361 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่จำนวน 5,877 คน กว่า 341 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 30,119 ไร่บ้านเรือนของประชาชนเสียหายทั้งหลัง 1 ราย เสียหายบางส่วน 640 หลัง ถนนเสียหา 298 สาย โรงเรียน วัดและมัสยิดรวม 40 แห่งและ 10 แห่ง ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์โดยรวมแม้จะมีเมฆและฝนฟ้าคะนองกระจาย ประมาณ 40% ของพื้นที่ แต่คาดว่า ฝนจะลดลงและเข้าสู่ภาวะปรกติ
ขณะที่ใน จ. นราธิวาส มีพื้นที่ประสบภัยรวม 13 อำเภอ กว่า 15,687 คน ต้องอพยพชาวบ้านใน อ.สุไหงโก-ลก จำนวน 200 คน ทางจังหวัดอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรม โดยระดับน้ำใน 3 ลำน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำบางนรา ระดับน้ำลดลงจนต่ำกว่าตลิ่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปริมาณน้ำฝน (จนถึงเช้าวันที่ 6 พ.ย.) สูงสุดอยู่ที่ อ.ศรีสาคร 48 ม.ม. โดยคาดว่า ฝนจะหยุดตกและระดับน้ำเริ่มลดลงโดยลำดับ