อาลัยต่อการจากไปของ “นายแวหามะ แวกือจิก” ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ มีเดียสลาตัน และผู้บุกเบิกรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดปัตตานี และใน 3 จชต. นำเสียงผู้เห็นต่างจากรัฐออกอากาศในรายการวิทยุมีเดียสลาตัน ร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากทราบข่าวการเสียชีวิตของนายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ มีเดียสลาตัน ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย (โรคมะเร็งลำไส้) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 03.00 น. และกำหนดพิธีละหมาดญานะซะห์ เวลา 15.00 น. วันนี้ (12 กรกฎาคม 2560) ณ มัสยิดนูรูลเอนซาน (มัสยิดปะกาฮะรัง หมู่ที่ 1) และจะนำร่างมาฝังที่กุโปร์โต๊ะอาเยาะห์ จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี
นายแวหามะ แวกือจิก ผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน และอดีคผู้ผลิตรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันปัตตานี
ภาพนี้นายแวหามะกำลังร่วมแสดงความคิดเห็นในการเสวนา เรื่อง สื่อภาคประชาชนและสิทธิการสื่อสาร: บทเรียนจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ (People’s media and Communication rights in Indonesia and the Philippines) เมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี
ทีมงานสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ได้สัมภาษณ์บุคคลในเส้นทางการทำงานด้านสื่อที่รู้จักและใกล้ชิดกับนายแวหามะ แวกือจิก มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรำลึกถึงการจากไปของแบมะ และสะท้อนให้เห็นถึงคุณงามความดี ความมุ่งมั่น ความตั้งใจในการทำงาน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ยังอยู่ มุ่งมั่นสานต่อในเจตนารมณ์อันแน่วแน่บนเส้นทางสื่อวิทยุที่แบมะได้เริ่มต้น “บุกเบิก” และ “แผ้วถางทาง” หวังจะเห็นสันติภาพบังเกิดในบ้านเกิด โดยใช้สื่อเสียงผ่านสื่อวิทยุสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแท้จริง
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า รู้จักแบมะ หรือ นายแวหามะ แวกือจิก ที่เพื่อนพ้องน้องพี่รู้จักในนาม “แบมะ” มานานแล้ว รู้จักมากขึ้นตอนมาทำงานอยู่ปัตตานี แบมะเป็นคนแรกที่ทำข่าว INN และบุกเบิกรายการวิทยุ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นรายการที่ให้ประชาชนโทรเข้ามาแจ้งปัญหาความทุกข์ความเดือดร้อน รายการมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนมาเป็นรายการประเด็นสันติภาพทางสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ข้อเด่นของแบมะ คือ เป็นคนแรกที่นำเสียงคนที่เห็นต่างจากรัฐออกมาสื่อสารผ่านรายการทางวิทยุ สิ่งที่แบมะพูดย้ำ 2 เรื่อง คือ 1.การเปิดพื้นที่กลาง และ2.การส่งเสียงให้มากๆซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของสันติวิธี ไม่ใช่การหลั่งเลือด
“คิดว่าคนรุ่นใหม่ ควรจะได้ยึดตามแนวทางที่แบมะได้ทำ คือ การรักษาพื้นที่กลาง และ การสื่อสารผ่านสื่อวิทยุ ปรับเนื้อหารายการเข้ากับประเด็นสันติภาพ สะท้อนให้เห็นบทบาทสื่อวิทยุกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่”นายมูฮำมัดอายุบ กล่าว
ด้านนายณรงค์ มะเซ็ง รักษาการรองคณะกรรมการธรรมาภิบาล จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า รู้จักแบมะมาประมาณ 6 ปีแล้ว และทำงานด้วยกันประมาณ 1 ปี ในคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดปัตตานี โดยแบมะเป็นรองกรรมการ บุคลิกของแบมะ เป็นคนจริงจัง เวลาคุยเรื่องการแก้ปัญหาแล้วรู้สึกว่าคุยถูกคน ปัญหาที่คุยกัน เช่น ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่
“เราช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นเตือน สอดส่อง ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาเบาบางปัญหาในพื้นที่ได้บ้าง รู้สึกอาลัยต่อการจากไปของแบมะ ขอให้อัลเลาะห์ตอบแทนความดีที่แบมะได้ทำ จากนี้ไปก็จะสานงานต่อในสิ่งที่แบมะตั้งใจให้สำเร็จตามเป้าหมาย”นายณรงค์ กล่าว
ส่วนนางสาวยะห์ อาลี นักจัดรายการวิทยุและประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า รู้จัก แบมะในฐานะคนทำสื่อวิทยุด้วยกัน เป็นคนทำงานเพี่อสังคม พัฒนาสื่อ และเยาวชน
“ขอให้อัลเลาะห์ประทานความเมตตา และตอบแทนความดีที่แบมะได้ทำ เป็นตัวอย่างของคนทำงานด้านสื่อในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”นางสาวยะห์กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่องกับนายแวหามะ แวกือจิก
· ‘แวหะมะ แวกือจิก’ กับพื้นที่สันติภาพของ‘Media Selatan’
นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น นักจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้จักแบมะช่วงปี 2544-2545 เคยจัดรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดปัตตานีด้วยกัน ทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี F.M.107.25 MHz สนับสนุนโดยสำนักข่าว INN ร่วมกันสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี จำกัด โดยเช่าช่วงเวลาของทางสถานีฯ ในขณะนั้น จำได้ว่าแบมะจัดรายการออกอากาศครั้งแรกด้วยความกังวล น้ำเสียงตื่นเต้น หายใจติดขัด และมักปนด้วยมุขตลกตามมา กลัวว่าจะพูดทองแดงหล่น จนเก็บไม่ทัน ด้วยความที่ไม่เคยจัดรายการมาก่อน แต่แบมะก็ทำได้ดี มีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการเปิดตัวรายการครั้งแรก เพื่อเป็นช่องทางสำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้หัวใจในการสื่อสาร ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู จนกระทั่งพัฒนามาเป็นนักจัดรายการวิทยุตัวจริง เสียงจริง ผู้จัดการ และผู้บริหารสถานีวิทยุของตนเองในเวลาต่อมา
“คิดถึงแบมะ คิดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีช่องทางในการสื่อเสียงของตนเอง ใครจะคิดว่าเสียงชาวบ้านในพื้นที่ที่กังวลกับการพูด สื่อสาร ปัญหาความทุกข์ของพวกเขาจะได้ออกอากาศ มีคนรับฟัง และได้รับการแก้ไข ปัญหามีตั้งแต่เรื่องไฟดับ น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ แพะ แกะ วัว เดินบนถนน คนขับรถชนวัว และอีกหลายๆปัญหา เสียงของชาวบ้านได้สื่อสารออกไป ทำให้เกิดการตื่นตัวของท้องถิ่นและราชการในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และกลายเป็นช่องทางที่ชาวบ้านคิดถึงก่อนอันดับแรกแล้วโทรมาก่อนที่จะโทรไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง”นางสาวพัชรากล่าวและว่า
ประวัติของแบมะนั้น ตอนเริ่มต้นทำสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าเติบโตมาพร้อม ๆ กับพัฒนาการของสื่อวิทยุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับบทบาทที่มีความเด่นชัดมากขึ้นและสำคัญมากขึ้น จากปัญหาทุกข์ร้อนที่มองเห็น มาสู่ปัญหาเนื้อในเชิงโครงสร้าง และสู่ประเด็นสันติภาพที่ยังต้องพัฒนาต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้เสียงของชาวบ้านเริ่มสื่อสารแล้ว พร้อมๆกับการพัฒนาประเด็นเนื้อหาในการนำเสนอ และนำเสียงที่แตกต่างหลากหลายสะท้อนผ่านช่องทางต่างๆเพื่อทำให้เกิดความสมดุล ถ่วงดุลการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญ คือ เพื่อสร้างความเข้าใจ ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
“เป็นความตั้งใจของแบมะที่อยากทำสื่อเพื่อเป็นตัวแทนเสียงของชาวบ้าน จนมาถึงยุคมีเดียสลาตัน ที่ปรับเนื้อหารายการเป็นประเด็นสันติภาพ นำเสียงของผู้เห็นต่างจากรัฐออกอากาศเป็นครั้งแรก เป็นส่วนหนึ่งของทำงานร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาสื่อร่วมกับชุมชนในพื้นที่อีกหลายประเด็นในเวลาต่อมา”นางสาวพัชรากล่าว
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์ของสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี