นิทานฮาลาล ตอนที่ 4: ประเด็นน่าเวียนหัวเรื่อง “อัลกอฮอล์” (ต่อ)
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของอัลกอฮอล์อยู่หลายเรื่อง ประเด็นแรกคืออัลกอฮอล์ถือว่าหะรอมหรือต้องห้ามในศาสนาอิสลามใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่เสมอไป เรื่องนี้ทางกระทรวงศาสนาของซาอุดีอาระเบียเคยตัดสินไว้แล้วว่าส่วนที่หะรอมนั้นเป็นเฉพาะ “เอธิลอัลกอฮอล์” หรือเอธานอลซึ่งมีสูตรทางเคมีเป็น C2H5OH เท่านั้น อัลกอฮอล์ตัวอื่นไม่ถือว่าหะรอมแม้ว่าบางตัวอาจเป็นพิษ แต่หะรอมจะกำหนดกันตามอำเภอใจโดยไม่อิงหลักการอิสลามเลยไม่ได้ ในเมื่อคณะกรรมการฟัตวาของซาอุดีอาระเบียบอกว่าหะรอมที่เอธานอลตัวเดียวก็ต้องตัวเดียว และการเป็นหะรอมของเอธานอลก็มีเงื่อนไขคือต้องเป็นเหล้า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาว่ากันที่เอธานอลตัวเดียวในเงื่อนไขที่กำหนด
เอธานอลพบในเครื่องดื่มประเภทที่เป็นสุราหรือเหล้าทุกชนิด ทั้งเบียร์ ไวน์ เหล้า บรั่นดี แชมเปญ ซาเกะ วอดก้า วิสกี้ ปอร์โต้ อุ กะแช่ และอีกสารพัด นอกจากนี้ยังพบเอธานอลในอัลกอฮอล์กลั่นที่นำมาใช้ในทางการแพทย์และในทางอุตสาหกรรม คำถามคือทุกผลิตภัณฑ์ที่มีเอธานอลถือว่าหะรอมทั้งหมดเลยใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่อย่างที่บอกไว้แล้วเพราะอัลกอฮอล์ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาดื่มให้มึนเมา ถึงจะเอามาดื่มก็ทำไม่ได้เพราะความเข้มข้นสูงเกินไปทำให้เกิดพิษ แม้จะลดความเข้มข้นลงจนมีอัลกอฮอล์เท่ากับเหล้าก็ยังมีปัญหาว่าปลอดสารเอสเตอร์ที่ให้กลิ่นและรสที่ชวนดื่มจึงขาดรสชาติถึงดื่มไปก็ดื่มไม่ลงว่ากันอย่างนั้น
อัลกอฮอล์ในเครื่องดื่มประเภทเหล้าทั้งหลายจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้มึนเมาขณะที่อัลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการแพทย์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างนั้น จากหะดิษบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม หมายเลข 1262 มีว่า “ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้มึนเมาทุกอย่างคือเหล้า และเหล้าทุกอย่างเป็นสิ่งต้องห้าม” ดังนั้นอัลกอฮอล์ในเหล้าทุกอย่างจึงห้าม มีคำถามอยู่ว่าในเมื่อตัวที่ทำให้เมาคืออัลกอฮอล์แต่ตัวที่ทำให้มีรสชาติชวนดื่มคือสารเอสเตอร์ทั้งหลาย ดังนั้น หากหาทางสกัดหรือระเหยอัลกอฮอล์ออกให้หมดโดยยังคงเอสเตอร์ไว้เช่นเดิมเพื่อให้เป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติชวนดื่มเหมือนเหล้าแต่ไม่ทำให้เมา อย่างเช่น กรณีทำไวน์หรือเบียร์ปลอดอัลกอฮอล์ อย่างนี้แล้วยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามหรือหะรอมหรือไม่ หรือว่าไม่หะรอมแล้ว
ประเด็นนี้เชคตอกี อัดดิน อะฮฺหมัด อิบนฺ ตอยมียะฮฺ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าอิบนฺ ตอยมียะฮฺ (เสียชีวิต ค.ศ.1328) อุลามะคนสำคัญในสายซุนหนี่เคยฟัตวาไว้อย่างน่าสนใจว่า หากนำฆ็อมรฺหรือสุราซึ่งหะรอมมาเปลี่ยนเป็นน้ำส้มสายชู กระบวนการที่ทำนั้นถือว่าหะรอม สรุปได้สาระว่าน้ำส้มสายชูนั้นผลิตจากน้ำตาลซึ่งเปลี่ยนสภาพไปเป็นเหล้าจากนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นน้ำส้มสายชูด้วยกระบวนการของมันเอง อย่างนี้ถือว่าเป็นกระบวนการแปลงสภาพตามธรรมชาติหรืออิสติฮาละฮฺซึ่งฮาลาล แต่หากนำเหล้ามาเปลี่ยนเป็นน้ำส้มสายชูอย่างนี้ถือว่าหะรอม ฉันใดฉันนั้น การนำเอาเหล้ามาสกัดอัลกอฮอล์ออกถือว่าเป็นกระบวนการหะรอม ไม่ทำให้หะรอมเปลี่ยนเป็นฮาลาลไปได้ สรุปอีกครั้งคือการผลิตเบียร์หรือไวน์ไม่มีอัลกอฮอล์เริ่มด้วยการผลิตเหล้าจากนั้นจึงนำเหล้ามาสกัดส่วนที่ทำให้มึนเมาออก การทำอย่างนั้นไม่ทำให้หะรอมกลายเป็นฮาลาลไปได้
การตัดสินหรือฟัตวาของท่านเชคอิบนฺ ตอยมียะฮฺยืนยันได้ด้วยหะดิษบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม หมายเลข 1278 เป็นรายงานจากอนัสมีว่าท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ถูกถามเกี่ยวกับการนำฆ็อมรฺหรือเหล้าไวน์มาทำเป็นน้ำส้มสายชู คำถามคือทำได้หรือไม่ ท่านนบีตอบชัดเจนว่า “ไม่ได้” สรุปส่งท้ายคือเบียร์และไวน์ปลอดอัลกอฮอล์ที่พยายามนำเข้ามาขายโดยอ้างว่าเป็นเบียร์ฮาลาล ไวน์ฮาลาล ทั้งยังบอกว่าได้รับการรับรองฮาลาลแล้วนั่นน่ะ ขอว่าอย่าเอามาอ้างกันเลย เข้าใจตรงกันนะ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
นิทานฮาลาล ตอนที่ 1: คำถามจากผู้ใหญ่ทำไมฮาลาลไทยสู้มาเลเซียไม่ได้
นิทานฮาลาล ตอนที่ 2: นั่งเอกเขนกกินด้วยเจ็ดลำไส้
นิทานฮาลาล ตอนที่ 3 : ประเด็นน่าเวียนหัวเรื่อง “อัลกอฮอล์”