Skip to main content

เช้าวันที่ 2 ของการมาถึงเจนีวาเราเริ่มต้นด้วยการไปหาซื้อตั๋วรถโดยสารสาธารณะที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เฮ้ยไม่ใช่ เป็น สถานีรถไฟ ที่รถเกือบทุกสายจะมาจอดที่นี้ ที่จะใช้เดินทางได้ในเจนีวาทั้งรถบัส รถราง และ เรือ อาทิตย์ละ 38 ฟรังส์สวิส เพราะตอนที่เราออกจากสนามบินเจนีวาจะมีเครื่องออกตั๋วให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศฟรี 1 ชั่วโมง พอหมดชั่วโมงก็ต้องซื้อที่ป้ายที่เราจะขึ้น ถ้าไม่มีตั๋วอาจเจอแจ๊ตพอต เจ้าหน้าที่ขึ้นมาตรวจได้นะจ๊ะ 

เราเริ่มต้นด้วยการทำบัตรผ่านเพื่อเข้าไปในอาคารของ Unite Nations ซึ่งเราก็ได้สมัครไปก่อนหน้านี้แล้วผ่านทางเว็บไซต์ของ UN เมื่อผ่านด่านตรวจแล้วก็ต้องมองหาอาคารที่เราจะเข้าร่วมการประชุม ช่วงเช้าของวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เป็นการเปิดเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิสตรีทั่วโลกที่คณะกรรมการ CEDAW หรือ คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ในทุกรูปแบบ โดยจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอนุสัญญานี้ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีทั่วโลกจำนวน 23 คน และจะทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม การนำอนุสัญญา CEDAW ไปใช้และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญานี้ โดยจะรับรายงานจากรัฐบาล คณะกรรมสิทธิมนุษยชน และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและระหว่างประเทศประกอบการพิจารณาและให้คำแนะนำต่อรัฐบาลในการปรับปรุงระบบในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเรียกว่า Concluding observation

เราจะเล่าบรรยากาศในห้องนะ กว่าจะเดินหาห้องเจอก็ต้องผ่านซอกหลืบและเครื่องถ่ายเอกสารหลายเครื่องทีเดียว แต่เขาก็มีป้ายติดไว้นะว่าห้องประชุมไปทางไหน เมื่อเจอห้องแล้วก็เป็นเวลาที่ทางคณะกรรมการกำลังจะกล่าวเปิดเวทีพอดีเลยซึ่งตรงกลางห้องด้านหน้าก็จะเป็นโต๊ะยาวใหญ่สำหรับผู้รายงาน เมื่อหันหน้าไปทางซ้ายมือของโต๊ะด้านหน้าก็จะเป็นโต๊ะของสื่อมวลชน NGO คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศที่มารายงาน ฝั่งตรงข้ามของ NGO ก็จะเป็นตัวแทนรัฐบาล ทั้งนี้ประธานคณะกรรมการก็ได้รายงานสถานการณ์สิทธิสตรีทั่วโลก บอกถึงประเทศไทยที่ไม่ส่งรายงานประเทศไทยที่ล่าช้า

ทั้งนี้มี 71 ประเทศทั่วโลกที่ลงนามในอนุสัญญา โดยคณะกรรมการแต่ละท่าก็ได้นำเสนอว่าได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีมาบ้าง ก็ได้พูดถึง การที่ผู้หญิงจะเข้าเป็นคณะกรรมการ OIC ผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสานเสวนา( Dialogue) การประชุมกับผู้หญิงซีเรีย การศึกษาในมหาวิทยาลัยถึงกลไกของ CEDAW การถ่ายทอดสด ที่ มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า การที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในรัฐสภาของอูกันดาและการผลักดันให้มีการลงนามในอนุสัญญา CEDAW การประชุมเชิงปฎิบัติการและการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึง กฎหมายจารีตประเพณี( Customary Law) ผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม ผู้หญิงในความขัดแย้ง การรณรงค์เรื่องอนุสัญญา CEDAW กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเทศต่างๆ ผู้หญิงกับการถูกละเมิดโดยบริษัทใหญ่ๆ

สำหรับในช่วงบ่ายสามของวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ก็จะเป็นการรายงานด้วยวาจาของ NGO และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรียกว่าการนำเสนอ Oral statement โดยมีการรายงานของประเทศ อิตาลี คอสตาริกา โรมาเนีย และประทศไทย ซึ่งจะนำเสนอคนละ 10 นาที หลังจากนั้นคณะกรรมการก็จะตั้งคำถาม โดยประเทศไทยก็มีการนำเสนอถึง ปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่ถูกคุกคาม ผู้หญิงชาติพันธ์ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ม 44 การนำ UN1325 มาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ ปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง กระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงมลายูมุสลิม ซึ่งคณะกรรมการได้สอบถามต่อ NG0 2 คำถามคือบทบาทของสื่อในการสนับสนุนการทำงานเรื่อง CEDAW และ หญิงบริการได้รับประโยชน์จาก พรบ แรงงานฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งทาง NGO ก็ได้ให้คำตอบไปว่าการทำงานของสื่อมีอุปสรรคในการทำงานภายใต้รัฐบาลทหารและหญิงบริการไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่เพราะการทำงานนี้ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศ หลังจากนั้นจึงเป็นรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโดยมีคุณ อังคณา นีละไพจิตรได้นำเสนอเป็นเวลา 10 นาท ซึ่งก็ได้พูดถึงผู้หญิงและเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายจารีตประเพณีและผู้หญิงกลุ่มชาติพันธ์

เมื่อจบการนำเสนอ แต่งานเรายังไม่จบนะคะ เราก็ไปพูดคุยกันต่อในอีกห้องหนึ่งโดยมีองค์กรที่เขาช่วยชี้แนะแนวทางในการดำเนินการต่างๆคือองค์กร IWRAW Asia Pacific ได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีและแนวทางในการเตรียมการนำเสนอ Lunch briefing กับคณะกรรมการ CEDAW ที่รับผิดชอบวาระประเทศไทย ประมาณ 6 ท่าน ทุกคนจึงเตรียมการนำเสนอในวันพรุ่งนี้ ( 4 กรกฎาคม 2560 ) โดยพยายามไม่ให้ประเด็นในการนำเสนอซ้ำกันและ และเลือกตัวแทนของแต่ละประเด็นที่จะนำเสนอ เป็นไงไม่ง่ายใช่ไหมคะ การไปเจนีวา หลังจากประชุมเสร็จ ต่างก็แยกย้ายกันกลับที่พักซึ่งเราต้องไปซื้อกับข้าวเพื่อมาทำกับข้าวกินกัน เพราะที่นั่นอาหารแพงมาก มื้อเที่ยงเราต้องจ่ายถึง 400 กว่าบาทเลยทีเดียว กลางคืนจึงต้องนั่งทำงานกันคนละมุมและฝึกอ่าน ออกเสียง ภาษาอังกฤษให้ถูกต้องเพื่อให้คณะกรรมการเข้าใจการสื่อสารของเรา ผลเป็นอย่างไรเหรอ อิอิอิ …ค่อยบอกนะ

 

ปล ที่บันทึกมาอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดนะคะเพราะระดับภาษาอังกฤษอยู่ในขั้น Fair.

 


 

เรื่องเล่านี้ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Anchana Heemmina