-ว่าด้วยหัวหอม-
https://cdn.firstwefeast.com/assets/2014/03/bricklane_vegetables1.jpg
ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้รู้จักผักชนิดที่ชื่อ “หัวหอม” อย่างเป็นจริงเป็นจัง
หัวหอมได้รับการปลูกอย่างมากมายในพื้นที่เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งนิยมปลูกหัวหอม โดยเฉพาะทางด้านฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ว่ากันว่า “ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีหอมแดงคุณภาพดี” แน่นอนประเทศไทยก็ได้ส่งออกหอมแดงไปยังประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก
หัวหอมเป็นผักชนิดที่มีกลิ่นฉุน แต่ในสังคมทั่วไปของอินเดียมักรับประทานหัวหอมกันอย่างน่าใจหาย จนขนาดที่ว่า “อาหารเกือบทุกชนิดรับประทานพร้อมกับหัวหอมเป็นส่วนประกอบ” คนอินเดียกินหัวหอมสดพร้อมกับอาหารที่มีรสนิยมแบบแดนภารตะ
เมื่อผมได้เห็นพฤติกรรมการกินหอมสดเหล่านี้ ผมยิ่งเกิดอาการมึนงงเป็นอย่างมาก เพราะโดยมากของคนบ้านเรา ไม่มีวัฒนธรรมการการนั่งปลอกหอมในร้านค้าเป็นกระสอบเพื่อนำมากินดิบ หากจะเห็นก็แต่นำมาทอดเพื่อใส่ข้าวเหนียวไก่และอื่น ๆ ทว่า พืชผักชนิดที่ชื่อว่า “หัวหอม” สำหรับอินเดียกลายเป็นหนึ่งในผักที่กินพร้อมกับอาหารคาวไม่ต่างจากแตงกวา ยอดมันปู มะเขือหรือถั่วฝักยาว พร้อมน้ำพริกอะไรทำนองนี้
ผมเคยโดยสารร้านอาหารต่าง ๆ ในอินเดียเพื่อบรรจุอาหารลงท้องและท่องยุทธจักรร้านค้าสไตล์แขก จนผมพอที่เห็นว่า “ทุกร้านอาหารทั้งขนาดใหญ่และย่อมมีหัวหอมเป็นตัวขับเคลื่อนบนโต๊ะอาหาร” ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกับแกล้มที่นำมาเสิร์ฟพร้อมกับกาบาบ (ไก่หรือเนื้อที่หั่นจนละเอียดแล้วนำมาย่าง)โรยหน้าบนข้าวบิรยานี (ข้าวหมกอินเดีย) หรือแม้แต่เป็นผักเคียงที่มาพร้อมกับเนื้อนะฮารี (เนื้อเปื่อยทรงเครื่องอบอวลไปด้วยเครื่องเทศซึ่งโรยหน้าด้วยผักชี ขิง พริกและน้ำมะนาว) อาหารทั้งหมดเหล่านี้จะต้องมีหัวหอมเป็น “สื่อนำร่อง” ในการกินทั้งหมด อาหารคาวชนิดอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกัน
เอาเข้าจริง เมื่อตั้งใจมองไปยัง “วัฒนธรรมการกินหัวหอม” ของคนอินเดียจะพบว่า “พวกเขากินหอมเพื่อเพิ่มรสชาติในอาหารและขับของเสียออกจากร่างกาย” เพราะสรรพคุณของหัวหอมนั้น นอกจากจะช่วยขจัดสารพิษที่อาจปนเปื้อนมาในอาหารแล้ว ยังช่วยในระบบขับลม แก้ท้องอืดและทำให้ร่างกายอบอุ่นอีกด้วย
ถึงตรงนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นคนอินเดียโดยทั่วไปรับประทานหอมมากกว่าพื้นที่บ้านเกิด เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ร้อนค่อนข้างหนักและหนาวค่อนข้างน่ากลัว สิ่งนี้น่าจะเป็นตำรายาขนานเอกของอินเดียในการรับมือกับสิ่งแปลกปลอมที่มาพร้อมกับอากาศ ฤดูกาล หรืออาหารที่ค่อนข้างสกปรก รวมไปถึงน้ำดื่มที่ไม่ค่อยสะอาด กอปรกับสารเคมีที่ปนเปื้อนกับเนื้อสัตว์ที่เป็นพิษซึ่งอาจเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายได้
การรับประทานหัวหอมช่วยในการแก้หวัดคัดจมูกและเป็นยาขับลมขนานดี หนำซ้ำยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้อีกด้วย หัวหอมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ด้วยเหตุนี้ การรับประทานหอมเป็นประจำนั้นสามารถช่วยในการลดคอเลสเตอรอล ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น หนำซ้ำยังลดไข่มันในเส้นเลือดอีกด้วย ปกติของการรับประทานหอมทำให้ห่างไกลจากการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
หนึ่งในความพิเศษของหัวหอมคือ ช่วยพัฒนาระบบความจำได้เป็นอย่างดีเพราะองค์ประกอบหนึ่งของหัวหอมคือ มีธาตุฟอสฟอรัสในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้การรับประทานหอมอย่างมากนั้นไม่ได้ส่งผลต่ออันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด ทว่า ยิ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย เพราะหัวหอมคือหนึ่งในพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ
วิธีการรับประทานหอมที่ได้รับโภชนาการที่สมบูรณ์แบบนั่นก็คือ “การกินสด” และพยายามหลีกเลี่ยงการผ่านความร้อนเพราะจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง ยารักษาโรคขนานอินเดียจึงเน้นการทานแบบดิบนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมการกินของอินเดียจึงทลายกำแพงโรคร้ายเหล่านี้ด้วยการใช้ “หัวหอม” ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรของการต้านโรคร้ายหรือสารพิษที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย
แต่ก็อีกนั่นแหละ การรับประทานหัวหอมมากจนเกินความพอดี อาจส่งผลต่อกลิ่นตัวที่ค่อนข้างแรง หากใครได้มีโอกาสมาอินเดียแล้วจะรู้ว่า ระดับความแรงของกลิ่นตัวพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะการโหนรถเมล์ในช่วงฤดูร้อน ถือว่าเข้าถึงสัจธรรมแห่งความเป็นอินเดียโดยแท้
แม้ธรรมชาติของหอมอาจเป็นหนึ่งในผักที่มีกลิ่นค่อนข้างแรงและฉุน จึงไม่แปลกที่กลิ่นตัวของผู้รับประทานอาจเหม็นฉุนและแรง ทว่า ผมมองถึงข้อดีของร่างกายคือ “การยอมให้เรือนร่างภายนอกมีกลิ่น ปัสสาวะอาจค่อนข้างฉุน อาจดีกว่าปล่อยให้ระบบขับถ่ายและอวัยวะภายในนั้นสกปรก สิ่งบกพร่องของมนุษย์จากภายนอกอาจสัมผัสง่ายด้วยการดม ทว่าสิ่งบกพร่องจากภายในนับเป็นสิ่งที่ยากยิ่งแก่การเข้าถึงและรับรู้
ด้วยเหตุนี้ หากเลือกได้ ชีวิตในสังคมที่ซับซ้อนแบบนี้ เราควรได้รับการเตือนตนเอง จากภายนอกนั้น คงปลอดภัยกว่าสัญญาณเตือนจากภายใน
ในทางกลับกัน บางสังคมอาจรับไม่ได้กับกลิ่นตัวที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะอาจเป็นหนึ่งในตัวประหลาดในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อื่นอาจน่าอับอายและค่อนข้างเป็นบุคคลที่เชยในสังคมเมือง หากปล่อยให้กลิ่นตัวของตนเองรบกวนคนรอบข้าง
ทว่า แนวทางที่ฉลาดที่สุดคือ “การถือเคร่งทางสายกลาง” หย่อนยานเกินไปก็ไม่ดี ตึงแข็งเกินไปก็ไม่ได้ ในสังคมนี้จึงต้องเรียนรู้การปิดรอยที่อาจมีตำหนิจากภายนอก และปรุงแต่งความแหว่งโหว่จากภายใน “ข้างนอกสดใส ข้างในไร้โรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐโดยแท้”
สำหรับสังคมที่เน้นการให้ความสำคัญทางด้าน “อากัปกิริยาและปรุงแต่งภายนอก” อาจปรากฏออกมาในลักษณะที่ว่า “เน้นการปรุงแต่งภายนอก” ให้สวยงาม น่ามอง มีกลิ่นหอม ทว่า ระบบภายอาจถูกละเลยและเมินเฉยอย่างไม่ใยดี จึงไม่แปลกที่ออกมาในรูปของ โรคร้ายต่าง ๆ
สังคมบ้านเราจึงฉายภาพของการปรุงแต่งภายนอกออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อาภรณ์เสื้อผ้า หน้าผม ท้ายที่สุด ระบบคิดเหล่านั้น แทรกซึมเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของสังคมไม่ว่าจะระบบการเมืองที่เน้นรูปและแบบเป็นหลัก แต่ตัวระบบทำงานอย่างไร้แกนและหลัก
ระบบการศึกษามุ่งเน้นอาคารเรียนและหลักสูตรในหนังสือ มากกว่าการมุ่งเน้นสอนให้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ลองมองดูในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งจะเห็นว่า มียารักษาโรคต่าง ๆ ถูกผลิตออกมาอย่างมากมาย ในขณะที่สังคมเราก็มีโรคแปลก ๆ เพิ่มให้เห็นมากขึ้นทุกวัน
ยาขนานต่าง ๆ เป็นจำนวนมากปรากฏออกมาในรูปของ “อาหารเสริม” ที่ระบุบนฉลากเพื่อบอกสรรพคุณหลากหลาย โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านความสวยความงาม เช่น ขจัดความอ้วนหายขาด ปรับหุ่นให้กระชับ ระงับหน้าสิว เพิ่มหน้าใส รวมไปถึง ผิวขาว น่าดู อกฟู รูฟิด ล้วนเกี่ยวกับเรื่องของความงามบนเรือนร่างหรือ “การปรุงแต่งเปลือกนอก” ทั้งสิ้น
วิธีการใช้สารเคมีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเชื้อโรคให้กับร่างกายของตนเอง อาศัยการเสพที่แตกต่างกันออกไป ผ่านกรรมวิธีเบื้องต้นคือ กิน ทาและฉีด
ทั้งหมดเหล่านี้เกิดจาก “เบ้าหลอมทางด้านวิถีคิด” เป็นพื้นฐาน แล้วกระตุ้นสังคมกำหนดการกระทำเพื่อตอบโจทย์ระบบความเชื่อและค่านิยมของคนที่ถูกแขวนไว้พร้อมกับระบบทุนและความเป็นสมัยใหม่ ถูกล่อลวงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ การตามกระแสสังคม ค่านิยมและกลุ่มเพื่อน
จนสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดกลายเป็น “ความไม่จำเป็น” ที่สำคัญต่อชีวิตชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทางกลับกันสิ่งเหล่านั้นล้วนส่งผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบอวัยวะภายนอกและภายในทั้งสิ้น ภาพสะท้อนจึงออกมาในลักษณะของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคผิวหนัง เบาหวาน ความดัน และอื่น ๆ ตามที่เห็นเป็นข่าว
แนวคิดดังกล่าวจึงส่งต่อผลระบบความเชื่อและมุมมองอื่น ๆ ในชีวิตคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมเหล่านั้นจึงเป็นที่มาของสำนวนที่ค่อนข้างมักคุ้นนั่นก็คือ “ผักชีโรยหน้า” หรือ “ข้างนอกสดใส แต่ข้างในเป็นโพรง”
แต่ก็อีกนั่นแหละ ความเชื่อและค่านิยมดังกล่าวนั้นอาจถูกหล่อหลอมมาในรูปแบบต่างกัน ผมได้รับบทเรียนเหล่านี้จากสังคมอินเดีย อย่างน้อยก็คือ เรียนรู้การปรุงแต่งภายในให้สมบูรณ์กว่าภายนอก เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่เปลือกแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้น่าจะอธิบายที่มาของกลิ่นตัวคนอินเดียได้บ้างไม่มากก็น้อย
ถึงตรงนี้ ผมคิดว่า เราน่าจะตั้งคำถามกับชีวิตของเราใหม่ว่า “อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตกันแน่”
ไม่ต่างจากคำถามที่มิตรสหายแดนไกลของผม ได้ผู้เรียนถามเพื่อไขข้อข้องใจบางอย่างและอยากรู้มุมมองของข้าพเจ้า ซึ่งการแลกเปลี่ยนของเรานั้นถูกตั้งขึ้นใต้นิยามที่ว่า
“มนุษย์ยอมทุกอย่างเพื่อความสุขสบายจริงเหรอ?”
ซึ่งแน่นอน ในมุมมองของผม เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคับว่าเมื่อเป็นมนุษย์ย่อมดำรงไว้ซึ่งวิถีแบบนั้น ชอบความสุขสบายและหลีกหนีความยากลำบาก
ในปรัชญาอิสลามข้อหนึ่งได้กล่าวยืนยันในพระคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า "หลังจากความยากลำบากย่อมมีความง่ายดายซ่อนเร้นไว้เสมอ" นั้นก็หมายความว่า มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อถูกทดสอบให้ลำบาก เมื่อมนุษย์ผ่านระดับของการทดสอบในขั้นที่ยากลำบากไปแล้ว ผมตอบแทนที่ตามมาสำหรับการเลื่อนขั้นก็คือ มนุษย์ก็จะสุขสบาย
ใช่หรือไม่ว่า นักศึกษาคนหนึ่งหวังเพื่อจะได้ใบปริญญา ทว่า เขาต้องผ่านการทดสอบอย่างมากมายก่อนจะได้ใบประกาศจบ แต่เมื่อเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะลำบาก เขาก็เริ่มจะได้รับบทเรียนจนกระทั่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ใช่หรือไม่ว่า หมอศัลยกรรมต้องทำการผ่าตัดอาจารย์หมอมากี่ครั้งถึงจะลงสนามผ่าตัดชีวิตมนุษย์จริงๆ จนกระทั่งเป็นมืออาชีพ
นักวิทยาศาสตร์ต้องผ่านเชื้อโรคมามากมายขนาดไหน จนจะถึงขั้นนักวิจัยเชื้อผู้ชำนาญการ
บ่อยครั้งเราถูกสอนให้เห็นและเลียนแบบผู้ประสบความสำเร็จในวงการต่าง ๆ จนลืมที่จะมองไปก่อนหน้านั้นสักหน่อยว่า "เขาต้องล้มละลายและล้มเหลวมากี่ครั้ง"
นักพูดที่ดี ต้องเป็นนักฟังมาอย่างมากมายขนาดไหน ไม่ต่างกัน นักเขียนที่ดีต้องเป็นนักอ่านมาอย่างมากมาย ซึ่งเช่นกัน ครูที่ดี โดยมากต้องผ่านการเป็นนักเรียนที่ดีมาก่อนใช่หรือไม่
สูตรสำเร็จไม่มีในชีวิตจริง ทว่าต้องผ่านการบ่มเพาะ กล้าไม้ที่งอกงาม ไม่ได้เติบโตเพราะปุ๋ย ทว่าด้วยการดูแลของสภาพแวดล้อม คุณภาพของดิน การพึ่งพิงเมาไม้ใหญ่ การไล่ต่อมวัชพืชของระบบธรรมชาติ การทะนุถนอมของนักเพาะชำ ทั้งหมดก็กลายเป็นหนึ่งใน “ส่วนสำคัญ” ไม่ใช่ “ส่วนประกอบ” แต่อย่างใด
ความสุขที่มนุษย์พยายามทำและแสวงหา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์เรียนรู้กระบวนการรับมือกับความทุกข์ได้อย่างชาญฉลาดและมีระเบียบวินัย ชีวิตที่ไร้แก่นสาร ผลที่ได้มาก็คือ การขาดแกนหลักในชีวิต ความสุขเกิดได้จากวิถีที่ชัดเจนและถูกต้อง ไม่มีทางลัด ไม่มีทางอ้อม มีแต่ทางที่ออกเดินและเรียนรู้เพื่อก้าวผ่าน
การปรุงแต่งภายนอก ไม่ได้มีอิทธิพลต่อความสุขที่แท้จริงของภายใน ทว่า การปะชุนภายใน ย่อมส่งผลต่อเปลือกนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ “แกน” จึงสำคัญกว่า “เปลือก”
ผลมะม่วงปลูกด้วยเมล็ด ต้องใช้เวลากว่าทศวรรษเพื่อได้รับประทานลูก แต่ผลมะม่วงที่เติบโตจากการตอนกิ่ง ไม่นานก็จะได้ผล ทว่า ความหอมหวานนั้น ช่างแตกต่างกัน หนำซ้ำ ผลที่ปลูกด้วยการตอนกิ่ง มักไหวเอนตามลมง่ายกว่าพืชพันธุ์ที่เพาะชำผ่านเมล็ด พายุจึงมีพลังในการทำลายล้างต่างกัน
ไม่มีถนนสายย่อย่นและฉาบฉวย ที่จะนำนักแสวงหาพบเจอความสุขที่นิรันดร
ไม่มีทางเลือกในชีวิตจริงสำหรับความสุขที่ยั่งยืน มีแต่ความจริงที่ต้องทนรับความเจ็บปวด ห้วงยามสันโดษ ไร้มิตรข้างกาย ไร้คนข้างเคียง ศรัทธาเท่านั้นจะพยุงและดึงออกจากโคลนตมแห่งความล้มเหลว
ไม่มีความสุขที่แท้คลอดออกมาจากวิถีทางที่คดโกง เพราะสุขที่แท้จึงไม่ใช่อยู่ที่กายหยาบหรือวัตถุที่ครอบครอง
ทว่าถูกผูกร้อยกับความสุขที่นิรันดรของหัวใจด้วยการรู้จักพอ
ความสุขที่เราพูดถึงจึงเป็นความสุขที่เกิดจากการพอ มากกว่า การยึดติดและครอบครอง
ปรัชญาข้อแรกของพระโพธิ์ธรรมหรือปรมาจารย์ตักม้อ นายแพทย์นักบวชชาวทมิฬ แห่งแผ่นดินอินเดียที่เดินทางไปเทศนาธรรมบนแผ่นดินจีนได้รับคำเทศนาธรรมจากพระอาจารย์จึงเกิดความเลื่อมใสในหลักธรรม นั่นก็คือ
"จงปล่อยวางและตัดจากกิเลส เพื่อจะได้ไปสู่ดินแดนสุขาวดีดังหวัง"
จากคำพูดนี้ทำให้เรากระจ่างทันทีว่า สุขที่ว่านี้ คือ "ความสุขทางใจ" เพราะก่อนพระโพธิ์ธรรมจะมาบวชท่านเป็นถึงองค์รัชทายาทที่มีอำนาจเหนือแว่นแคว้นปกครองต่างๆ ทว่านั่นหาใช่ความสุขที่แท้จริง
เมื่อหันมามองหลักปรัชญาอิสลามเราจึงสรุปได้ว่า
“ผู้มีความสุขที่แท้จริงคือ ผู้ที่เขานั้นอยู่อย่างสมถะ”
คำพูดอันน่าหลงไหนซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนอิสลาม ซึ่งฉายให้เห็นผ่านคำสอนของท่านอิหม่ามนาวาวี ว่า
"ใครก็แล้วแต่ที่พระเจ้าเลือก เขาจะเป็นผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความสุข เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจะเป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เขาจะเห็นและเข้าใจว่าโลกใบนี้เป็นสิ่งหลอกลวง เขาสามารถผินตัวเองจากดงดอกไม้แห่งความสุขทางวัตถุบนโลกใบนี้ได้ และแน่นอนที่สุด เขาจะตักตวงผลประโยชน์จากโลกใบนี้เท่าที่เจ้านั้นมีความจำเป็น เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจะตัดขาดการเกี่ยวพันกับความโลภทุกชนิดได้อย่างขาดสะบั้น และวางวิถีชีวิตของเขาในแต่ละวันเพื่อมุ่งไปสู่ชีวิตที่นิรันดร์ในภพหน้า "
ด้วยเหตุนี้ ความสุขดังกล่าวก็ต้องผ่านกรอบแห่งหลักความเชื่อเป็นผู้ควบคุม หนำซ้ำการเดินผ่านเพื่อก้าวข้ามความทุกข์ก็ถูกเชื่อมร้อยด้วยหลักศีลธรรม เพื่อให้เราก้าวไปสู่ ถนนแห่งความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขจอมปลอม
ตำแหน่งและอำนาจเป็นภาพลวงตา
ชื่อเสียงและเกียรติยศล้วนปรุงแต่ง
ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ
ความรักและความชังเป็นสิ่งว่างเปล่า
หากมนุษย์เราสลัดจากเชือกเส้นนี้ไม่ได้
หัวใจจะยึดติดและยากจะหลุดพ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่พ้นทุกข์
ผมได้รับบทเรียนเรื่องหัวหอมจากการคลุกคลีในสังคมอินเดียมากกว่า 10 ปี ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร “หัวหอม” อาจเป็นอีกหนึ่งชนิดผักทางเลือกของเรา
เหลือเชื่อไหมว่า แค่เรื่องของหัวหอม เรากลับมีเรื่องราวให้แลกเปลี่ยนอย่างมากมายและพาเราเดินทางมาไกลได้ขนาดนี้
***หมายเหตุ***
"ว่าด้วยหัวหอม" เป็นหนึ่งใน "ข้อเขียน" จากหลาย ๆ เรื่องที่ผมตั้งใจเขียนเพื่อสรุปบทเรียน 10 ปี ของผมที่ได้วางรกราก ณ เมืองอาลิการ์ (ِAligarh) ประเทศอินเดีย ในฐานะ "นักเรียน" ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะรวบรวมประสบการณ์ตรงของตนเองไม่ว่าจะเป็น ด้านสังคม เศรษฐกิจ ชนชั้น ระบบทุน วัฒนธรม ประเพณี การศึกษา การเมือง การใช้ชีวิต การเดินทางและอื่น ๆ เพื่อเป็นเรื่องเล่าว่า "ผมได้อะไรบ้าง" จากประเทศนี้
อยากเขียนรวมเป็น "หนังสือ" สักเล่ม เพื่อบอกเล่าการเดินทางของตนเองในดินแดนถารตะ