Skip to main content

ฐิตินบ โกมลนิมิ

หมายเหตุ :  บทความชิ้นนี้ถอดมาจากเวทีวิชาการ “หนทางไกลสู่สันติภาพ”:  อดีตและอนาคตของแอฟริกาใต้ เมื่อศุกร์ ที่ 14 สิงหาคม 2558  เนื่องจากเมื่อ ปี 2010 (2553) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ ‘เนลสัน แมนเดลา’ [Long Walk to Freedom: Nelson Mandela] ขึ้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แก่ผู้อ่านชาวไทยที่สนใจเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนของแอฟริกาใต้ เรื่องการสร้างสันติภาพและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งนโยบายต่างประเทศในแง่มุมต่าง ๆ แม้งานเวทีวิชาการนี้จะล่วงเวลาแล้ว 2 ปี แต่เนื้อหาการสนทนายังคงเป็นประโยชน์และสามารถเชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งจากภาควิชาการ สู่ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี 

 

บทเรียน ‘แอฟริกาใต้’ เพื่อโอกาสแปรเปลี่ยนความขัดแย้งสังคมไทย

ผศ.ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวต้อนรับเพื่อเปิดเวทีวิชาการใจความสำคัญสรุปว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างสันติภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ประเทศไทยไม่ว่าภูมิภาคใดก็ตาม การเปลี่ยนผ่านทางสังคมการเมืองและความขัดแย้งย่อมเกี่ยวข้องกับบริบทซับซ้อน รวมทั้งการดิ้นรนต่อสู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของฝ่ายต่าง ๆ ที่สังคมไทยต้องใช้ความพยายามในระยะยาว

บทเรียนจากประเทศแอฟริกาใต้เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของฝ่ายต่าง ๆ ที่จะสร้างสถาบัน ระบบขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิว การเลือกปฏิบัติ สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของประชาชนเกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนเดือดร้อนรวมตัวเพื่อล้มล้างนโยบายการเหยียดสีผิว หลังจากที่ดิ้นรนเป็นเวลาหลายปีจนนโยบายดังกล่าวสิ้นสุดลง ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี ‘เนลสัน แมนเดลา’ การสร้างสันติภาพและการสร้างความปรองดองดังกล่าว เรามีบทเรียนที่เรียนรู้ได้มากมาย สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อพลเมืองของไทยในอนาคต ในการจัดการกับความรุนแรงทั้งสถานการณ์ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

โดยไม่มีความสงสัย การได้เรียนรู้เกี่ยวกับอดีตและอนาคตของแอฟริกาใต้นั้น เพื่อสะท้อนไปสู่ปฏิบัติการในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีด้วย เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ครุ่นคิดถึงกระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งระยาวในประเทศไทย และกระบวนการสร้างสันติภาพของชายแดนใต้/ปาตานี

…………................

อนึ่ง ที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 (2552) ได้กำหนดให้วันคล้ายวันเกิดของนายแมนเดลา 18 กรกฎาคม เป็น ‘วันเนลสัน แมนเดลา’ เพื่อให้ความสำคัญต่อบทบาทของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ที่ต่อสู้เพื่อสันติภาพ มนุษยธรรม ความยุติธรรมทางสังคม และการสร้างความปรองดองแห่งชาติในตลอด 67 ปีที่ผ่านมา ในภารกิจการปลดปล่อยชาวแอฟริกาใต้และนำเอกภาพมาสู่ทวีปแอฟริกา โดยนาย บันคีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ให้ถือ ‘วันเนลสัน แมนเดลา’ เป็นวันเริ่มปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นสาส์นที่ส่งถึงประชาชนทั่วโลกให้เข้าร่วมกระบวนการสร้างสรรค์สันติภาพ เสถียรภาพ และความยุติธรรมทางสังคมอย่างเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นของขวัญชิ้นพิเศษมอบให้แก่ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ที่ได้สละตลอดชีวิตของตนเพื่อคุณค่าอันสูงส่งของมนุษย์

"หนทางไกลสู่เสรีภาพ: อดีตและอนาคตของแอฟริกาใต้”

 

ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “หนทางไกลสู่เสรีภาพ: อดีตและอนาคตของแอฟริกาใต้”  

โดย H.E. Ms. Robina P. Marks เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว

เธอกล่าวว่า: การเกิดขึ้นของเวทีวิชาการ “หนทางไกลสู่เสรีภาพ: อดีตและอนาคตของแอฟริกาใต้” นี้ถือเป็นวันที่สถานฑูตแอฟริกาใต้ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์และเรียนรู้บทเรียนบิดาของประเทศและอดีตประธานาธิบดี 'เนลสัน แมนเดลา'

ขอบคุณสถาบันสันติศึกษาที่มีวิสัยทัศน์สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือและจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา ชื่นชมอย่างยิ่งต่อคุณสมาพร แลคโซ ผู้อุทิศตนทุ่มเทแปลหนังสือ (Long Walk to Freedom: Nelson Mandela) (ชื่อภาษาไทย “หนทางไกลสู่เสรีภาพ”) เล่มนี้ ความสามารถของเธอจะพาผู้คนไปสู่คุณภาพชีวิตใหม่ที่ยอดเยี่ยมจากการเรียนรู้ผ่านแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่

ทางสถานฑูตฯ ภูมิใจที่ได้เชื่อมโยงการทำงานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และการดำรงอยู่อย่างยาวนาน 52 ปี พิสูจน์การเป็นแหล่งบ่มเพาะพลเมืองที่ดีทั้งมีบทบาทนำทางสังคมอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะคำขวัญและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยที่ ‘ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง’ นั้น การเห็นประโยชน์เพื่อมนุษย์ชาติดังกล่าวเป็นความเชื่อเช่นเดียวกับ 'เนลสัน แมนเดลา' ที่สร้างแก่นแห่งจิตวิญญาณ ‘อูบุนตู’ (Ubuntu) ที่มีความหมายว่า ‘ฉันเป็นฉัน เพราะว่ามีคุณ’ หรือ บุคคลจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อคิดและทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั่นเอง

'เนลสัน แมนเดลา’ เคยมาเยือนประเทศไทยหลังถูกปล่อยตัวจากการคุมขังในเรือนจำยาวนานถึง 27 ปี โดยการเชิญของผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ท่านได้ทรงชื่นชมต่อบทบาทการสร้างสันติภาพและการปรองดอง หวังว่าวันนี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งที่ถูกบันทึกเป็นความร่วมมือสร้างประโยชน์ระหว่างประเทศแอฟริกาใต้และประเทศไทย

“แอฟริกาใต้ปรองดองได้อย่างไร?” เมื่อปี 2013 (2556) แมนเดลา: รัฐบุรุษของชาวแอฟริกาใต้ได้จากไป ไม่ใช่เพียงความเศร้าสลดที่ถูกทิ้งไว้ ทว่ายังเป็นพันธะสัญญาที่คนของแอฟริกาใต้จะต้องเดินตามเขา ในฐานะผู้นำที่คนทั่วโลกเคารพนับถือ มีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ทั้งในศตวรรษที่ 20-21 ในช่วงชีวิตที่ ‘เนลสัน แมนเดลา’ มีชีวิตอยู่ได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นตำนานให้แก่คนทั่วโลก

หลังจากบิดาแห่งประเทศเราได้เสียชีวิต กิจกรรมในการแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านสังคมของแอฟริกาใต้ถือเป็นภารกิจที่เราจะบอกเล่าให้ทั่วโลกได้รับทราบ กรอบคิดที่อยากแลกเปลี่ยนวาระนี้ คือ แนวคิดเรื่องการใช้ ‘อำนาจอ่อน’ หรือ ‘อำนาจที่ไม่เป็นทางการ’ (soft power) หรือ ‘อำนาจในการโน้มน้าวชักจูง’ ของศ.ดร.โจเซฟ เนย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม แห่งสหรัฐอเมริกา คำนิยมที่ใช้คือ ‘อำนาจในการมุ่งเน้นสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น’ ก็น่าจะตรงกับการดำเนินการทางการฑูตของแอฟริกาใต้ด้วย

ศ.ดรโจเซฟ เนย์ บอกว่า ‘อำนาจในการมุ่งเน้นสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น’ (soft power) คือความสามารถของประเทศในการสร้างอิทธิพลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านการโน้มน้าวจูงใจ ประเทศใดที่มีการใช้อำนาจลักษณะนี้ แสดงว่าเป็นประเทศที่มีสถาบัน ค่านิยม ระบบที่ชื่นชมยกย่องประเทศอื่น

เราต้องการสร้างกรอบการอธิบายวิธีคิดของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ด้วยบริบทคำอธิบายว่าด้วยเรื่องการใช้ ‘อำนาจในการมุ่งเน้นสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น’ (soft power) และคิดถึงอิทธิพลของแมนเดลาในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ สันติภาพ อิสรภาพของความยุติธรรม และมนุษยชน รวมทั้งการได้คืนมาของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เวลา 27 ที่อยู่ในเรือนจำ การดิ้นรนสู้เพื่ออิสรภาพ และกลายมาเป็นคุณค่าที่องค์การสหประชาติชาติยกย่องให้เป็น ‘วันเนลสัน แมนเดลา’ 18 กรกฎาคมของทุกปี

‘เนลสัน แมนเดลา’ เป็นบิดาของชาติและเป็นบุตรชายของแอฟริกาใต้ เป็นพลเมืองอันโดดเด่นของโลก ซึ่งมีการเฉลิมฉลองรำลึกถึงชีวิตและผลงานของเขาไปทั่วโลก โดยข้อเท็จจริงแล้วมีหลายสิ่งที่ตั้งชื่อตาม ‘เนลสัน แมนเดลา’ เพราะได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาว ทั้งผิวขาว ผิวดำ คนในประเทศและต่างประเทศ จากความมุ่งมั่นเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และเป็นผู้ที่มีความสม่ำเสมอในแนวทางปฏิบัตินิยมมายาวนานแล้ว ก่อนที่โลกจะได้รู้จักเขา

ทว่าสิ่งที่น่าประทับใจ คือนิสัยของท่านเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ที่มีความเป็นประชาธิปไตย ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของผู้คน ทำให้ประเทศของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว สิ่งที่หยั่งรากลึกมากที่สุดที่ทิ้งไว้ให้แก่ประชาชนแอฟริกาใต้ คือ การเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่เสมอจนเป็นแบบอย่างแก่ทั่วโลก

แอฟริกาใต้อยู่แถวหน้าการถูกบอกว่าเป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นในการต่อต้านการใช้ความรุนแรง ดูแลตนเองทั่วทั้งทวีป จนได้รับการยอมรับเข้ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 (Group of Twenty Finance Ministers and Central Bank Governors) เป็นสมาชิกสองครั้ง ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สามารถจัดงานฟุตบอลโลกเมื่อปี 2010 (2553) และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ กําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ ‘บริคส์’ (BRICS) เป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ประกอบด้วย จีน อินเดีย บราซิล รวมทั้งแอฟริกใต้นั่นเอง เป็นกลุ่มประเทศที่บริหารจัดการหุ้นส่วนของการปกครองระดับโลก 

ทุกวันนี้ แอฟริกาใต้แตกต่างไปมากมายจากอดีตที่เคยแบ่งแยกสีผิว คนดำไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในสถาบัน การแบ่งแยกการสมรส และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้มีการแก้ไขอย่างต่อเนื่องเพื่อมนุษยชาติ เหล่านี้คือมรดกจากคุณค่าการทำงานหนักและมุ่งมั่นของท่าน

เราระลึกถึงหลักการใช้ ‘อำนาจในการมุ่งเน้นสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น’ ในวันที่ระลึกถึงท่าน เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการปรองดอง มีการส่งเสริมค่านิยมของท่านมองโลกเหมือนที่ท่านมอง และได้ยินเสียงเหมือนท่าน เพื่อทำให้ทุกวันเป็นเหมือนกับ ‘วันของเนลสัน แมนเดลา’.

จะแปรความขัดแย้งเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร?

“แม้ล้มนโยบายแบ่งแยกสีิผิวลงแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถแก้และจัดการทัศนคติได้ ตราบนั้น ความอยุติธรรมก็ยังดำรงอยู่ นโยบายเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่ไม่เพียงพอการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งกว่า”

นี้คือหัวใจสำคัญจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างท่านเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยและผู้เข้าร่วมเสวนา หลังการกล่าวปาฐกถาจบ โดยสาระอื่น ๆ สรุปความได้ดังนี้

จุดเปลี่ยนของ 'เนลสัน แมนเดลา’ จากนักโทษ ผู้ถูกกดขี่ไปสู่นักสร้างสันติภาพ “คือ การใช้เวลาในเรือนจำฝึกทำสมาธิทุกวันในช่วงเวลายากลำบาก ไตร่ตรองจากข้อเท็จจริง พบว่าไม่มีประโยชน์ในการสร้างความขุ่นเคืองอีกต่อไป การโกรธ การสร้างความไม่พอใจคือการกลืนยาพิษ การทำเช่นนั้นคือการยึดติดกับความไม่พอใจ ไม่ได้ช่วยให้พัฒนาวิสัยทัศน์ในการสร้างและพัฒนาประเทศ” การสำนึกดังกล่าวเปลี่ยนความโกรธให้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างชาติ ลืมอดีต ด้วยแอฟริกาใต้เป็นของทุกคน ไม่ว่าเป็นสีผิว เพศ คนพิการ หรือคนสมบูรณ์ “แปรความโกรธจากห้องขังเล็ก ๆ คิดถึงประโยชน์ของแอฟริกาใต้เป็นที่ตั้งก่อน”

ในพื้นที่ประชาธิปไตย คนก็ยังมีทัศนคติจำฝังใจได้ ถ้าอัตลักษณ์ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นพื้นฐานให้เกิดการริดรอนสิทธิ์ แม้นโยบายการเหยียดผิวล้มล้างไปแล้ว ทุกพื้นที่มีเสรีภาพเสมอภาคเท่ากันในเชิงหลักการ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ คือการลืมความโกรธคนผิวขาว การใช้ชีวิตประจำวันในบางสถานที่ก็ต้องประเมินความสบายใจด้วย เพราะเราเป็นลูกของคนที่ถูกประสบการณ์เหยียดผิว ถูกจองจำ ต้องต่อสู้ แต่อย่างไม่เป็นทางการคนก็จำได้ วันนี้แอฟริกาใต้ยังมีบรรยากาศที่ไม่สบายใจระหว่างสองสีผิว “เมื่อมองว่าคนเท่าเทียมกัน สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจมากในประเทศของเรา”

สำหรับแรงบันดาลใจของ 'เนลสัน แมนเดลา’ กลายเป็นนักสร้างสันติ นักต่อสู้ มาจากการยอมรับไม่ได้ที่เห็นคนผิวดำเป็นขอทานตามท้องถนน ถูกกีดกันการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการทุกประการในชีวิตประจำวัน เขาไม่สามาถทนความอยุติธรรรมเหล่านั้นได้ โดยแปรเปลี่ยนความโกรธความเกลียดชังเป็นความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อการอยู่ร่วมกัน รวมตัวกัน มีสิทธิเสียง พูดออกมาให้ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรม

'เนลสัน แมนเดลา’ เป็นนักกฎหมายผิวดำคนแรก ๆ เปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเป็นสิทธิ เป็นนิติธรรม ดังนั้น ข้อเสนอของเรา (ท่านเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย) โปรดใช้หัวใจและสมองของคุณ นำทฤษฎีความรู้ต่าง ๆ ผนวกคุณค่าเข้ามารวมกันให้ได้ จงลุกขึ้นเป็นตัวแทนของผู้คน ทุกคนมีศักยภาพเป็นผู้เปลี่ยนแปลงได้ โดยทำตัวเองเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ เช่นการตั้งคำถามที่ท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิคนข้ามเพศ สิทธิผู้หญิง การเรียกร้องความเท่าเทียมกันในแง่มุมต่าง ๆ  ทั้งนี้ รูปแบบของอำนาจในเชิงสถาบันไม่ได้สะท้อนความเท่าเทียมกันจำเป็นต้องมีความรู้เชิงวิพากษ์ เมื่อเป็นนักศึกษาและบุคลากรหนึ่งในมหาวิทยาลัยติดอันดับสิบของประเทศและโลก ต้องถามว่าเราจะทำประโยชน์อะไรให้สังคม ชุมชน ทุกคนสามารถเป็น 'เนลสัน แมนเดลา’ โดยสำนึกใช้พลังของคุณสู่ผู้อื่น สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นต่อไป.

เสวนาหนังสือ: 

“บทเรียนจากอัตชีวประวัติ ‘เนลสัน แมนเดลา’ กับการเดินทางสู่เสรีภาพที่ไม่ง่ายดาย”

‘เนลสัน แมนเดลา’ เกิด 18 กรกฎาคม 1918 (2461) เป็นเชื้อสายของราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นอิสระ จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ทำงานเป็นทนายความให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งเน้นการว่าความให้แก่คนผิวดำที่ถูกริดรอนสิทธิ์ อีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวที่ยึดแนวทางสันติวิธีจนเมื่อสถานการณ์เข้มข้นก็นำตนเองและองค์กรเอเอ็นซีเข้าสู้ในสงครามกลางเมือง เปลี่ยนบทบาทผู้นำสันติวิธีสู่กองกำลังติดอาวุธ ถูกจำคุกอยู่ 27 ปี แต่การต่อสู้มีจุดเด่นอัตชีวประวัติของเขาได้เปิดพื้นที่ให้เห็นบทบาทการต่อสู้ของชาวแอฟริกาผ่านตัวเขา จนกระทั่งเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 95 ปี ในปี 2013 (2556)

แอฟริกาใต้ผ่านช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมอย่างยาวนาน จากที่เคยมีนโยบายการแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติที่เรียกว่า ‘อพาร์ไทด์’ (apartheid) กุมอำนาจโดยคนผิวขาว แม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ แต่ก็ไม่ได้ยอมรับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม กลับวางกฎเกณฑ์กีดกัน ‘คนผิวสี’ อย่างมาก จำกัดการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แบ่งแยกส่วนคนขาวและคนดำชัดเจน สร้างแรงโกรธแค้นจนเกิดการประทุต่อสู้ระหว่างปี 1960 - 1970 อย่างเข้มข้น และมีการปราบปรามแกนนำการประท้วง หนึ่งในนั้นคือ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ที่กลายมาเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้และเป็นผู้นำสีผิวคนแรก กว่าจะเดินทางมาสู่ช่วงเวลาปราศจากการแบ่งแยกและเป็นประชาธิปไตยใช้เวลาในการเดินทางไกล สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก

เราจะเรียนรู้ประสบการณ์การเดินทางของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ผ่านสามมุมมองจาก

  1. สมาพร แลคโซ ผู้แปลหนังสืออัตชีวประวัติ Long Walk to Freedom
  2. รชฏ ศาสตราวุธ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. วิทยาเขตปัตตานี
  3. อภิชญา โออินทร์ ศูนย์จัดการความขัดแย้ง สถาบันสันติศึกษา มอ. หาดใหญ่      

โดยมีเนื้อหาน่าติดตามและสร้างความน่าสนใจในการ ‘อ่าน’ หนทางไกลสู่เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น

.......……………………………….

 

สมาพร แลคโซ ผู้แปลหนังสืออัตชีวประวัติ เรื่อง Long Walk to Freedom

หนังสือเล่มนี้มี “การเดินทาง” ที่ยาวนานไม่น้อย แปลเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาแต่เพิ่งได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 (2557) คือพิมพ์หลังจากฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกถึง 20 ปี (Long Walk to Freedom พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1994 (2537) และแปลเสร็จเมื่อปี 2003 (2546)

จุดเริ่มต้นของการเลือกหนังสือเล่มนี้มาเสนอขอทุนต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อแปลเป็นภาษาไทยนั้น มาจากสามีของผู้แปลซึ่งเป็นวิศวกรชาวออสเตรียเข้าไปทำงานในหลายประเทศในทวีปแอฟริกามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี และหลงใหลธรรมชาติอันงดงามของดินแดนแห่งนี้ ทำให้รู้สึกว่าดินแดนแห่งนี้มีสิ่งน่าศึกษามากมาย ดังนั้น เมื่อ สกว.ประกาศให้ทุนสำหรับการแปลหนังสือสำหรับเป็นฐานความรู้เกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลก จึงนึกถึงทวีปแอฟริกาโดยหนังสือเล่มนี้ตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“หนทางไกลสู่เสรีภาพ” เล่าเรื่องชีวิตบุคคลสำคัญที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายและยาวนาน เกี่ยวข้องกับผู้คนและสถานที่เป็นจำนวนมาก “ใครคิดว่าเป็นหนังสือการเมืองเนื้อหาสาระหนักแน่น คงไม่ใช่เสียทั้งหมด” แมนเดลา ได้เล่าถึงการเดินทางเชิงวัฒนธรรมการเมืองของผู้คนและสังคมแอฟริกาใต้ผ่านสายตาของเขา ตั้งแต่การเกิด การนับเครือญาติ การละเล่น การเข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศเพื่อเปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ พิธีกรรมต่าง ๆ การแต่งงงาน การให้สินสอด พูดถึงกวีที่สำคัญของแอฟริกา พูดทุกเรื่องแม้กระทั่งความโรแมนติกการจีบภรรยาคนที่หนึ่งและสอง หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้จักนิสัยใจคอคนแอฟริกา มากพอกับการต่อสู้ของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ นั่นเอง

ความโดดเด่นของแมนเดลา คือการเดินทางผ่านตนเองด้วยบทเรียนที่ผ่านการจองจำในคุก เริ่มตั้งแต่การต่อสู้เพื่อให้นักโทษได้รับสิทธิ์มากขึ้น เขารับไม่ได้ต่อการเลือกปฏิบัติที่คนผิวต่างกันกินต่างกัน ทั้งขนมปังและน้ำตาล ให้แต่งตัวไม่เหมือนกัน เหยียดผิวทุกหนแห่งในทุกพื้นที่อย่างรุนแรง จึงต่อสู้จากในคุก ทำให้นักโทษผิวดำได้รับสิทธิ์มากขึ้น นักโทษทางการเมืองได้รับการปล่อยตัว และเคลื่อนไหวอย่างมีกลยุทธ์ใช้มวลชนกลุ่มต่าง ๆ เคลื่อนไหวส่งเสียงให้นานาประเทศกดดันทางการเมืองไม่ให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ที่นำโดยคนผิวขาวมีนโยบายแบ่งแยกสีผิว โดยมีรายละเอียดน่าสนใจ และน่าทึ่งมาก

ในหนังสือให้ภาพ แมนเดลาพยายามแก้ปัญหาทั้งสองระดับ คือ (หนึ่ง) การเปลี่ยนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างเด่นชัด (สอง) พยายามเปลี่ยนจิตใจทัศนคติระหว่างคนดำและคนขาว เห็นได้จากก่อนออกจากคุก เขารู้ถึงความหวาดระแวงของคนขาว คิดว่าเมื่อคนดำมีอำนาจเกรงการกวาดล้าง ทว่าในโลกทัศน์ของแมนเดลาไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของทัศนะการเหยียดผิวเสียเองและไม่ละทิ้งหลักการเพื่อเสรีภาพของประชาชนทั้งปวง โดยตระหนักว่าต้องอาศัยความรู้จากคนขาวในการสร้างชาติด้วย ดังนั้น ก่อนออกจากคุกเขาพูดถึงระบบและโครงสร้างที่เลวร้าย ไม่ใช่คนขาวที่เลวร้าย เพื่อทำให้คนดำเกลียดชังคนขาวน้อยลง นี่คือสิ่งที่เขาอยากเปลี่ยนแปลง และบรรเทาความเกลียดชังโดยลดการหวาดระแวงก่อนไปสู่การร่วมมือกันสร้างชาติเป็น ‘ชาติสีรุ้ง’ (The Rainbow Nation)

……………………………….

รชฏ ศาสตราวุธ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

ผมพยายามจะพาพวกเราเข้าไปในหนังสืออีกครั้งในฐานะผู้อ่านต่างวัฒนธรรมว่าเห็นอะไรบ้างในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม โดยขอเริ่มต้นด้วยโจทย์เดียวกับที่สภาแห่งชาติแอฟริกัน (African Nation Congress)  หรือ ‘เอเอ็นซี’ จัดบรรยายหลักสูตรให้สมาชิกภายในพรรค (อ่านรายละเอียดในหน้า 191) ตัวหลักสูตรแบ่งเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่ (1) “โลกที่เราอยู่เป็นอย่างไร” ยามที่ต่อสู้ต้องถามคำถามนี้ก่อน (2) “เราถูกปกครองอย่างไร” เพื่อตอบคำถามเชื่อมโยงกับข้อหนึ่ง และ (3) “ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” โดยพยายามหาวิธีการที่เราจะเปลี่ยนโลกที่เราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และเราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นอย่างไร

 “โลกที่ 'เนลสัน แมนเดลา' อยู่มีลักษณะอย่างไร?”

ความในหนังสือหน้า 198 เรื่องราวเกิดกับ 'เนลสัน แมนเดลา’ เมื่อเป็นทนายความแล้ว ระบุดังนี้

การเป็นทนายความไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับความเคารพนอกศาลเช่นกัน วันหนึ่ง ใกล้ ๆ กับสำนักงานของเรา ผมเห็นผู้หญิงสูงวัยผิวขาวคนหนึ่งซึ่งรถยนต์ของเธอถูกรถยนต์สองคันจอดขวางอยู่ ผมรุดไปช่วยเข็นรถให้เธอเลื่อนรถออกมาได้ ผู้หญิงซึ่งพูดภาษาอังกฤคนนั้นหันมาหาผมแล้วพูดว่า ‘ขอบใจนะ จอห์น’ จอห์นคือชื่อที่คนผิวขาวใช้เรียกชาวแอฟริกันคนใดก็ตามที่พวกเขาไม่รู้จักชื่อ จากนั้นเธอก็ยื่นเหรียญมูลค่า 6 เพนนีให้ผมซึ่งผมปฏิเสธไปอย่างสุภาพ เธอยัดเยียดให้ผมอีก ผมก็บอกอีกว่า ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณ เธอจึงตะคอกว่า ‘เธอปฏิเสธเงินหกเพนนี ต้องอยากจะได้หนึ่งชิลลิงแน่ ๆ แต่เธอจะไม่มีวันได้มันหรอก!’ ว่าแล้วก็ปาเหรียญใส่ผมก่อนจะขับรถออกไป

จากความข้างต้น ชี้ให้เห็นประการหนึ่งคือ ธรรมชาติของเราฝังอยู่ที่สีผิวของเรา หมายความว่าลักษณะทางศีลธรรมก็อยู่ที่สีผิวด้วย เรื่องนี้ไม่น่าธรรมดา เพราะหากธรรมชาติอยู่บนเรือนร่างของเราและมีผู้คนมาตัดสินตีความว่า ‘คนใส่เสื้อแดง’ หรือ ‘คนถือธงชาติ’ ต้องมีลักษณะบางอย่าง คนไม่เห็นด้วยในธรรมชาติดังกล่าวต้องเป็นอย่างนี้แน่ ล้วนแฝงฝังทัศนคติทางการเมืองและโลกทัศน์ที่ถูกกล่อมเกลาทางสังคมควบแน่นประทับตราผู้คนไว้

ประการที่สอง ความในหน้า 118 จากบทสนทนาของเนลสันและฮันส์ มูลเลอร์ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ผิวขาว ผู้ซึ่งมองโลกผ่านปริซึมของอุปทานและอุปสงค์ วันหนึ่งนายมูลเลอร์ชี้ออกไปนอกหน้าต่างเพื่ออธิบายคนดำได้อย่างน่าสนใจมาก

“ดูนั่นซิ เนลสัน” “เห็นผู้ชายผู้หญิงพวกนั้นไหม ที่กำลังเร่งรีบขวักไขว่อยู่บนถนนนั่น? พวกเรากำลังไล่ตามอะไรกันหรือ? พวกเขาตรากตรำทำงานไปเพื่ออะไร? ฉันจะบอกเธอให้ ทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น ต่างไล่ตามความมั่งคั่งและเงินทอง เพราะความมั่งคั่งและเงินทองเทียบเท่ากับความสุข นั่นคือสิ่งที่เธอจะต้องดิ้นรนให้ได้มา เงินไม่มีสิ่งใดนอกเสียจากเงิน เมื่อไหร่เธอมีเงินมากพอ ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เธอจะต้องการในชีวิตนี้”

 ความข้างต้นไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเมื่อคนดำมีฐานะยากจน ในนามของความเป็นมนุษย์ดีดดิ้นในกรอบทุนนิยมและคิดว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน กลายเป็นว่าเราไม่ฝันถึงการเมืองที่ดีและไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ทุนนิยมทำให้ผู้คนมีมโนทัศน์ว่าคุณค่าเท่ากับมูลค่า เช่น ถ้าคุณรักแม่จริงต้องกินสุกี้เอ็มเค (ในช่วงวันแม่ มีโปรโมชั่น ‘ร่วมตอบแทนรัก จากดวงใจ...ให้แม่ เมื่อกินสุกี้เอ็มเคครบ 1,000 บาทขึ้นไป รับบัตรกำนัลเพื่อสุขภาพมูลค่า ....’ ) หมายความว่าเวลากตัญญูกับพ่อแม่ทุนนิยมจะบอกให้ตีค่าเป็นเงินทอง กล่าวคือสังคมจะไม่ยอมรับหากสิ่งใดไม่สามารถอธิบายได้ด้วยระดับตัวเลข ทั้งสังคมแอฟริกาขณะนั้นและสังคมไทยขณะนี้เป็นยุคที่ผู้คนแยกไม่ออกระหว่างคุณค่ากับราคา

ตัวอย่างโลกของ 'เนลสัน แมนเดลา’ อีกประการ ตามความในหน้า 156 ได้กล่าวถึงเพื่อนๆ ของเขา เพื่อนนักเรียนทุนคนหนึ่งหมดโอกาสร่ำเรียนเพราะยากจน เธอฉลาดผิดธรรมดา มีพรสวรรค์ ถูกจำกัดการเข้าเรียนเพราะครอบครัวขาดแคลนทรัพย์เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปกติของชาวแอฟริกา ในบางพื้นที่การขาดโอกาสการศึกษาชวนให้ตั้งคำถามที่ลึกซึ้งมากกว่าเรื่องเศรษฐฐานะ ในแง่นี้ โลกที่เราเลือกเกิดไม่ได้ เมื่อโลกไม่ยุติธรรมจึงจำเป็นต้องแสวงหาความยุติธรรม แต่พื้นที่ของความยุติธรรมอยู่ที่การต่อรองทางการเมือง เมื่อเห็นได้ว่าโลกที่อยุติธรรม การต่อรองจึงไปอยู่ที่สังคมการเมือง ถ้าสังคมการเมืองให้สิทธิทางการศึกษาเท่ากัน คนเราย่อมมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีได้เท่ากัน แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แปลว่าในที่สุด เราต่อรองกับความไม่ยุติธรรมได้ในพื้นที่ทางสังคมการเมือง

หนังสือหนทางไกลสู่เสรีภาพ สะท้อนให้เห็นว่าโลกนี้เป็นโลกที่เราจินตนาการความยุติธรรมได้ลำบาก เพราะคิดว่าความยุติธรรมเท่ากับธรรมชาติ จึงตอกย้ำความไม่เท่ากัน

  “เราถูกปกครองอย่างไร?”

เมื่อตั้งคำถามว่าสังคมแอฟริกาถูกปกครองอย่างไร ความในหน้า 243 อันเป็นบทสนทนาระหว่างเนลสันกับคนค้ายาเสพติดตอนหนึ่ง เขาถามว่า

“ทำไมจึงเลือกใช้ชีวิตเสี่ยงอันตรายอย่างนั้น” เขาบอกว่าตอนแรกเขาอยากเป็นครู แต่พ่อแม่ยากจนเกินไปที่จะส่งเขาเรียนวิทยาลัย ภายหลังออกจากโรงเรียนเขาก็ไปทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่ง แต่ค่าแรงน้อยนิดเกินกว่าจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง เขาจึงเริ่มหารายได้ด้วยการลักลอบค้ากัญชา และไม่นานเขาก็พบว่ามันทำกำไรมากจนต่อมาเขาลาออกจากโรงงานเสียด้วยเลย เขาบอกว่าหากเป็นประเทศอื่นในโลกเขาคงจะมีโอกาสได้ใช้ความสามารถของตนเอง “ผมเห็นคนผิวขาวที่ด้อยความสามารถและด้อยสติปัญญากว่าผมกลับมีรายได้มากกว่าผมถึงห้าสิบเท่า” หลังจากนิ่งเงียบไปนาน เขาก็ประกาศด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า “ผมก็เป็นสมาชิกเอเอ็นซีเหมือนกัน”

ความข้างต้นสะท้อนว่า เราถูกปกครองด้วยความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างที่แฝงฝังเกินกว่าตัวตนไปถึงการกำหนดชะตากรรม สิ่งที่น่าครุ่นคิดคือ ความอยุติธรรมฝังอยู่ที่ไหน ควรจะไปจัดการที่ตรงไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างพ่อค้ายาเสพติดที่อ้างถึงนั้น ต่อให้ขยันก็ไม่ลืมตาอ้าปากได้ในโครงสร้างสังคมเช่นนี้ ปัญหาอยู่ที่บุคคลหรือโครงสร้าง สะท้อนย้อนคิดกลับมาที่สังคมการเมืองของไทย ทำไมการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกเมื่อเชื่อวันจึงไปผูกติดกับ ‘บุคคล’ อยู่ร่ำไป เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ต่อเนื่องจากชุดคำถามที่กล่าวมาแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ยังแนบสองคำถามชวนให้เราใคร่ครวญแม้จะวางหนังสือลงแล้ว คือ (หนึ่ง) ถ้าหากท่านออกกฎหมายได้จะทำอะไร? (สอง) ท่านจะทำให้แอฟริกาใต้เป็นดินแดนที่ทุกคนมีความสุขได้อย่างไร?  โปรดสังเกต: เขาไม่ถามว่าทำอย่างไรให้คนดำหรือคนขาวมีความสุข หรือเศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร? ทั้งไม่ใช้คำถามเชิงแบ่งแยก ทว่าเป็นคำถามที่มนุษย์สามารถจินตนาการได้เกินโครงสร้างที่บีบรัดเราไว้ (คนจนมากกว่าคนรวยแน่นอน ยามมีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง น่าฉงนนักทำไมเรื่องนี้จึงชี้นิ้วไปที่คนจนเป็นหลัก ไม่มีใครพูดถึงคนที่มีมากอยู่แล้ว ประหนึ่งตอกย้ำให้คนจนจนอย่างเพียงพอ กล่าวให้ถึงที่สุด จินตนาการเรื่อง ‘ความพอเพียง’ คนกำกับเชิงโครงสร้างได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ไว้สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น จะทำอย่างไรให้ไปไกลกว่าโครงสร้างเดิม ฤาเราจะอยู่แค่นี้)

ลองจินตนาการร่วมกันให้มากขึ้นอีก “คนแอฟริกันถูกปกครองอย่างไร?” จากความในหน้า 752 ช่วงท้าย มีคนถาม 'เนลสัน แมนเดลา’ ว่า หลังออกจากคุกเป็นอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า “ผมออกจากคุกมาแล้ว แต่ผมก็ยังไม่มีอิสระ” และอธิบายมากขึ้นดังความว่า

“ผมถูกถามเช่นกันเกี่ยวกับความกลัวของคนขาว ผมรู้ว่าประชาชนคาดหวังว่าผมจะมีความเคียดแค้นชิงชังคนขาว แต่ผมไม่มี ในคุกนั้น ความโกรธคนขาวของผมบรรเทาลง แต่ความเกลียดชังระบบได้งอกงามขึ้น ผมต้องการให้แอฟริกาใต้มองว่าผมรักแม้กระทั่งศัตรูของผม ขณะที่เกลียดชังระบบซึ่งทำให้เราหันหน้ามาประหัตประหารกัน

ผมต้องการให้ผู้สื่อข่าวตระหนักถึงบทบาทสำคัญของคนขาวในระบบใหม่ ผมไม่เคยพยายามจะละเลยประเด็นนี้ เราไม่ต้องการจะทำลายประเทศก่อนจะปลดปล่อยให้เป็นไท และการขับคนขาวออกไปมีแต่จะทำให้ชาติย่อยยับอับปาง ผมบอกว่ามีจุดกึ่งกลางระหว่างความกลัวของคนขาวกับความหวังของคนดำ และพวกเราในเอเอ็นซีจะค้นหาจุดนั้น ‘คนขาวก็เป็นชาวแอฟริกาใต้’ ผมพูด ‘และเราต้องการให้พวกเรารู้สึกปลอดภัยและรู้ว่าเรารู้สึกขอบคุณที่พวกเขาได้ช่วยพัฒนาประเทศนี้’ ...[...]...

เราต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติผิวขาวของเราคล้อยตามว่าแอฟริกาใต้ใหม่ซึ่งไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ จะเป็นดินแดนที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน

 กล่าวโดยสรุป การสนทนากับตัวเองเมื่ออยู่ในคุกทำให้จิตใจของ 'เนลสัน แมนเดลา’ สงบเยือกเย็น ละความเคียดแค้นชิงชัง ความโกรธคนได้บรรเทาลง แต่ความเกลียดชังระบบเจริญงอกงาม ลดการเกลียดบุคคล และไปเกลี่ยดโครงสร้างดีกว่า เพราะหากยังมีความเคียดแค้นลงที่ตัวบุคคลผลคือเราจะออกมาฆ่ากัน แต่ถ้าเกลียดระบบร่วมกันเราจะออกไปต่อสู้กับระบบร่วมกัน  วิธีคิดของเขาเช่นนี้ จึงมาสู่คำตอบของหลักสูตรที่สาม ที่ว่า “ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” โดยพยายามหาวิธีการที่เราจะเปลี่ยนโลกที่เราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร เราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นอย่างไรนั่นเอง

มนุษย์ชอบคิดว่าปัญหาของคนอื่นไม่ใช่ปัญหาของเรา และทำให้ปัญหาของเราเป็นของคนอื่นด้วย เช่น เมื่อน้ำท่วมที่ใดซ้ำซาก ทำไมจึงเกิดขึ้น คนหนึ่งอาจเลือกยกพื้นบ้านให้สูงขึ้นเพื่อให้ตนพ้นจากปัญหานั้น ทว่าหากน้ำท่วมระดับสูงก็มีความเป็นไปได้สองทางคือ เราสามารถเอาตัวรอดได้เพียงลำพัง หรือจมน้ำร่วมกับคนอื่นในชุมชนด้วย แต่ถ้าจะต่อสู้ต้องคิดว่าซอยอื่นมีโอกาสเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับเรา ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมออกแบบวางแผนในการแก้ไขปัญหาด้วยกัน

ทั้งนี้ “ทุกประเทศเคลื่อนไปไม่ได้ ถ้าไม่อ่านหนังสือ” แมนเดลาพูดกับประชาชนครั้งแรกหลังออกจากคุก “เพื่อนเอ๋ย สหาย และชาวแอฟริกาใต้ทั้งหลาย ผมขอทักทายพวกท่านในนามของสันติภาพ ประชาธิปไตย และเสรีภาพของทุกคน!!! ผมยืนอยู่ตรงหน้าท่านทั้งหลายไม่ใช่ฐานะศาสดา แต่เป็นข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อยของพวกท่าน ประชาชนทั้งหลาย”.

……………………………….

อภิชญา โออินทร์, ศูนย์จัดการความขัดแย้ง สถาบันสันติศึกษา

อ่านครั้งแรกเมื่อปี  2014  หนังสือ “หนทางไกลสู่เสรีภาพ” มีความยาวเกินแปดร้อยหน้า แมนเดลาเขียนจากในคุกเมื่อครั้งยังเป็นนักโทษการเมืองที่เกาะร็อบเบน กระดาษกว่าห้าร้อยแผ่นที่เต็มไปด้วยชวเลขขนาดเล็กถูกลักลอบออกมา โดยความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมอุดมการณ์สองคนคือ ‘วอลเตอร์ ซิซูลู’ และ ‘อาเม็ด แคธราดา’  เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับผู้คนมากมายที่ได้พบเจอระหว่างการเดินทางไกลสู่เสรีภาพของเขาและชาวแอฟริกันสู่สายตาประชาคมโลก

 โลกของแมนเดลและการตั้งคำถามถึงภาวะการเป็นผู้นำ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจ 'เนลสัน แมนเดลา' ถึงพัฒนาการภาวะผู้นำ เมื่ออ่านจบทั้งเล่มแล้วทำให้เราทิ้งค้างในใจ โลกแห่งความจริงบุคลิกของผู้นำคืออะไร? สภาวะความเป็นผู้นำเป็นอย่างไร? คนเราเกิดมาเป็นผู้นำได้เลยหรือไม่? หรือจะต้องสร้างคนให้เป็นผู้นำ? ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากบุคคล? หรือ เริ่มต้นต้นจากชุดของสถานการณ์และการกระทำ? อันต่างจากหนังสือเล่มอื่นอาจยกย่องให้แมนเดลาเป็นรัฐบุรุษ มีบุคลิกพิเศษ

หนังสือเล่มนี้ได้บอกถึงความเป็นสามัญ ความเป็นคนของแมนเดลา ผ่านการเดินทางไปพบปะผู้คนตั้งแต่โลกเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ในสังคม โรงเรียน มักกล่าวถึงคุณสมบัติด้านดีที่เขาเอาเป็นแบบอย่าง และระลึกถึงด้านไม่พึงปรารถนาของคนเหล่านั้นแล้วสอบทานกับความคิดและการกระทำของตนเองอยู่ตลอดเวลา เขาไม่ละเลยที่จะกล่าวถึงคนที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะสำคัญมากน้อยต่างกันอย่างไร แมนเดลาเอ่ยถึงพวกเขาโดยแฝงแง่คิดบางอย่างเสมอ ที่สำคัญเขาได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานว่าระดับการศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันความเป็นผู้นำและไม่มีความหมายอะไรเลยหากคนผู้นั้นไม่ได้เข้าไปในชุมชนและพิสูจน์ตนเอง

 'เนลสัน แมนเดลา' เป็นส่วนหนึ่งในสังคมใหม่และโลกใหม่ที่ต้องพิสูจน์ตนเอง โลกทัศน์ที่ไม่ได้เกิดมาเป็นผู้นำเลย แต่สะท้อนโลกทัศน์ที่ย้ำให้เราเชื่อเรื่องการฝึกฝน เช่น การออกไปฟังแถลงการณ์ของผู้นำคนหนึ่งที่พูดถึงระบอบเหยียดผิวทำให้เขาค้นพบว่าในหมู่บ้านไม่ใช่โลกสงบสุขใบเดิมเสียแล้ว เขาทำให้ตระหนักว่าการเป็นผู้นำที่มีพรสวรรค์บางอย่างต้องเปิดตนเอง ปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง การถกเถียง การหาข้อสรุป การหาฉันทามติ ที่สำคัญสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในพื้นที่ที่มีเสรีภาพน้อยที่สุดคือคุก

บทเรียนสู่การแปรแปลี่ยนความขัดแย้ง

แม้หนังสือเล่มนี้ถูกจัดประเภทว่าเป็นอัตชีวประวัติก็จริง แต่ในสาระสำคัญของ “หนทางไกลสู่เสรีภาพ” ได้ทิ้งร่องรอยของปรากกฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทุกระดับ ทั้งระดับปัจเจก กลุ่ม ประเทศ และโลก แมนเดลากำลังบอกผู้อ่านว่า เราไม่อาจเข้าใจการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในรูปแบบของ “วีรบุรุษผู้มีคุณธรรมสูงส่งที่จะมาช่วยเหลือมวลมนุษย์” อีกต่อไป ทว่าการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ (Systemic understanding) ต่างหากที่จะเป็นคุณูปการต่อการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ในการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางสังคมยืดเยื้อยาวนานของ Edward Azar เช่นสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมียนมาร์ ฯลฯ ได้จำแนกตัวแปรที่มีผลต่อพลวัตของกระบวนการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง (Process Dynamics) เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง กลยุทธ์ของชุมชนหรือกลุ่ม (Communal action Strategies) สอง กลยุทธ์และการกระทำของรัฐ (State actions and strategies) และสาม กลไกที่มีอยู่โดยธรรมชาติของความขัดแย้ง (Built-in mechanisms of conflict) หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของการทำความเข้าใจตัวแปรทั้งสามกลุ่มได้อย่างดีเยี่ยม กล่าวโดยสรุป คือ    

ตัวแปรแรก กลยุทธ์ของชุมชนหรือกลุ่ม ข้อชวนคิดสำหรับนักต่อสู้ เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มคนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้มีแรงขับดันให้สู้ด้วยกัน กลุ่มหรือชุมชนของตนจะสามารถประนีประนอมเชิงกลยุทธ์ในสถานการณ์ต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด? และกระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มเป็นอย่างไร? “หนทางไกลสู่สันติภาพ” แมนเดลาสะท้อนบ่อย ๆ ในสังคมแอฟริกันมีคนผิวดำ ผิวผสม อินเดีย คนผิวขาว ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ เอเอ็นซีจะผนึกความร่วมมือกับกลุ่มอื่นหรือไม่ ถ้าร่วม จะร่วมอย่างไร เพราะแม้ว่าเอเอ็นซีจะสู้กับศัตรูเดียวกันกับกลุ่มอื่น ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยม ผลประโยชน์ และความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้นบางครั้งก็เป็นคนละเรื่องกันและการร่วมมือกับบางกลุ่มก็อาจหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของเอเอ็นซีด้วยซ้ำ หนังสือเล่มนี้ได้วาดภาพการใช้เหตุผลและการต่อรองในหมู่สมาชิกของเอเอ็นซีไว้อย่างน่าสนใจ เน้นย้ำถึงความยืดหยุ่นของการจัดกระบวนการการต่อสู้ซึ่งปรับตามสถานการณ์โดยไม่ละทิ้งหลักการเพื่อเสรีภาพของประชาชนทั้งปวง

และการเดินทางไกลให้ข้อสรุปหนึ่งว่า การออกแบบการปกครองให้พ้นจากวิธีคิดการกดขี่นั้นไม่จำเป็นว่าอดีตเคยถูกกดขี่จากคนขาวแล้วต้องเกลียดคนขาวด้วย มิฉะนั้น เราเองก็จะตกเป็นเหยื่อในการแบ่งแยกเสียเอง และการช่วงชิงการนำของกลุ่มต่าง ๆ ก็มีอิิทธิพลต่อดุลยภาพของสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเสมอ ด้วยเหตุนี้ องค์ประกอบของความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรงและควบคุมไม่ได้จะปรากฏอยู่ในบทบาทการนำของแต่ละกลุ่มนั่นเอง แง่นี้ การเปิดพื้นที่แห่งการประนีประนอมและการปรับตัว เพื่อหาทางออกทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ยาก หากกลุ่มหรือชุมชนไม่เห็นความสำคัญของจุดยืน จุดสนใจ และความต้องการของกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม เพราะข้อเสนอใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการเจรจาในอนาคตก็มักถูกมองว่าเป็นกลไกให้ได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมอีกฝ่ายเท่านั้นเอง เอเอ็นซีจึงยกกลยุทธ์ความร่วมมือ จัดตั้งองค์กรประชาชนชาวแอฟิกัน (African People’s Organization: APO) ให้เป็นพื้นที่ความร่วมมือระหว่างชาวแอฟริกัน ชาวอินเดีย และพวกลูกผสม ที่ถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเอกภาพท่ามกลางการกดขี่ทั้งปวงในแอฟริกาใต้

สะท้อนเชื่อมโยงกลับมาในสังคมไทย การที่เราอยู่ในภาวะกดขี่ร่วมกัน ทางหนึ่งที่แปรเปลี่ยนโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง คือการต้องผนึกกำลังเช่นเดียวกับที่แมนเดลาชี้นำความคิดประชาชนแอฟริกาใต้ เกลียดรัฐบาลคนขาวได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเกลียดคนขาว นี้เป็นบทเรียนน่าสนใจ

ตัวแปรสอง กลยุทธ์และการกระทำของรัฐ คือกลยุทธ์เชิงนโยบายที่รัฐใช้ในการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divine and Rule) สร้างความเหลื่อมล้ำแนวราบมากกว่าการเอื้อประโยชน์คนรวยและกดเพดานการกระจายทรัพยากรให้คนจน ทว่าเป็นการแบ่งแยกบนพื้นฐานของสีผิว อัตลักษณ์ ขั้วทางการเมืองที่ตกทอดมาจากจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษเพื่อธำรงอำนาจของเชื้อชาติที่มีอำนาจปกครอง ลดอิทธิพลของกลุ่มที่ต่อต้าน และส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยกสีผิวคงอยู่และฝังรากลึกในสังคมแอฟริกาใต้ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญให้เกิดความขัดแย้งยิ่งดำรงยาวนานย่อมเป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อได้

ตัวแปรสาม กลไกที่มีอยู่โดยธรรมชาติของความขัดแย้ง ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แนวตั้งและแนวราบอย่างเงียบๆ การแบ่งแยกสีผิวผ่านนโยบายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำแนวราบ และนำไปสู่ความเกลียดชังในระดับปัจเจกและกลุ่มอย่างร้ายแรง ถึงแม้ว่าหนังสือจะไม่ได้เน้นย้ำให้เห็นความรุนแรงดังกล่าวมากนัก แต่ก็พบเห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง ดังเช่นคำบอกเล่าตอนหนึ่งแสดงให้เห็นความเกลียดชังซึ่งนำไปสู่การกีดกันอย่างเป็นระบบ:

            “…[…]…เป็นอาชญากรรมถ้าเราเดินผ่านประตูสำหรับคนขาวเท่านั้น
            เป็นอาชญากรรมถ้าเราดื่มน้ำพูที่มีไว้สำหรับคนขาวเท่านั้น
            เป็นอาชญากรรมถ้าเราอยู่บนท้องถนนหลังห้าทุ่ม
            เป็นอาชญากรรมถ้าเราไม่มีใบผ่านแดน
            เป็นอาชญากรรมถ้าเราว่างงานและ
            เป็นอาชญากรรมหากเราทำงานผิดที่ผิดทาง....”

สังคมแอฟริกาใต้ยอมรับการกีดกันและความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ได้อย่างไร แสดงว่าสังคมต้องมีบางอย่างผิดปกติไม่ใช่แค่รัฐผิดปกติ และกลไกหนึ่งที่ดำรงอยู่ยาวนานคือการปล่อยให้อคติและความเกลียดชังดำรงอยู่ “ภายใน” (internalize) ชีวิตประจำวัน มีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

กล่าวแต่ต้น “หนทางไกลสู่เสรีภาพ” เป็นอัตชีวิตประวัติที่ทำให้เราเรียนรู้สังคมแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปัจเจก สังคม ชุมชน ประเทศ และโลกอย่างเป็นระบบ รวมถึงกลยุทธ์ทางการเมืองที่โยกเปลี่ยนจากการต่อสู้เชิงบุคคลไปสู่การต่อสู้เชิงโครงสร้างเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน เช่น เมื่อพบว่าโรงเรียนเป็นต้นทางของความไม่เป็นธรรม ก็มีการรณรงค์เพื่อหยุดไม่ให้นักเรียนไปโรงเรียนนั้นพร้อมกับเสนอทางเลือกบางอย่างให้แก่โรงเรียนที่มีนโยบายเหยียดผิว ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็คือการเสนอทางเลือกบางอย่าง และหากทางเลือกนั้นมาจากผู้นำคนเดียวที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนข้อเสนอให้มาจากมวลชนการต่อสู้ที่ได้ผลกระทบจากโครงสร้างจำนวนมาก ดึงผลกระทบที่อยู่กระจัดกระจายทั่วทุกหัวระแหง ทำให้ผู้นำเห็นผลกระทบจากเชิงโครงสร้างหลากหลายไม่ใช่จากใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งประกาศเป็นกฎบัตรเสรีภาพ เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการต่อสู้ที่มาจากมวลชนทุกกลุ่ม เป็นต้น

ตัวอย่างกลยุทธ์ทางการเมืองที่โยกเปลี่ยนจากการต่อสู้เชิงบุคคลไปสู่การต่อสู้เชิงโครงสร้างเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนที่เป็นทเรียนสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ แมนเดลาเป็นคนริเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพก็จริง ทว่าการพิจารณาความขัดแย้งไม่ได้เริ่มต้นพิจารณาจากระดับใหญ่ โครงสร้างความไม่เป็นธรรมปรากฏผ่านชีวิตประจำวัน เช่น คุก วิธีการต่อสู้ในคุกและนอกคุกของเอเอ็นซี ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้ที่เรียกว่า “เอกภาพ” แมนเดลาวางบทบาทในคุกของตนเองเป็นทั้งแกนนำเอเอ็นซีและผู้ส่งเสริมความเป็นเอกภาพ ตัวแทนที่ซื่อตรงและผู้สร้างสันติภาพ จะเห็นได้จากการไม่ยอมขึ้นให้การเป็นพยานในคดีปะทะกันระหว่างคนของเอเอ็นซี พีเอซี (Pan Africanist Congress) และบีซีเอ็ม (Black Consciousness Movement) เขาเลือกที่จะรักษาความเป็นกลางและเป็นผู้สร้างความปรองดองโดยยอมผิดใจกับเพื่อนของเขาในเอเอ็นซี เพราะในการต่อสู้ที่ทุกกลุ่มมีศัตรูร่วมกันนั้น ภารกิจในการสร้างความเป็นเอกภาพนั้นย่อมยิ่งใหญ่กว่าความจงรักภักดีส่วนบุคคล

โดยสรุป “หนทางไกลสู่เสรีภาพ” ไม่เพียงถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดของผู้นำที่ยิ่งใหญ่อย่าง ‘เนลสัน แมนเดลา’ เท่านั้น แต่ให้คุณูปการต่อการทำความรู้จักประเทศแอฟิกาใต้ในมิติที่น้อยคนนักจะเข้าถึง นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจความขัดแย้งและกลยุทธการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ หนังสือเล่มนี้จะพาท่านเดินทางไปพร้อมกับบทเรียนที่สำคัญมากมาย และหนึ่งในนั้นคือบทเรียนที่ว่า การเดินทางสู่เสรีภาพไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะต้องเกิดจากการทำงานภายในตัวตนของนักสู้เองแลภายนอกกับผู้คนมากมาย เป็นเส้นทางเมื่อมองย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นแล้วจะพบว่า เรื่องราวระหว่างทางมักทำให้นักสู้เหล่านั้นค้นพบคำตอบของคำถามเชิงจริยธรรมที่เคยมีต่อตนเอง คนอื่น และสังคมเสมอ.

……………………………….