ศอ.บต.ตั้งกรรมการสอบ 4 โครงการพัฒนาชายแดนใต้
ปัตตานี
ในวันศุกร์ (18 สิงหาคม 2560) นี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต.มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ 4 โครงการที่ถูกประชาชนร้องเรียน และพบมีปัญหาตามข้อเท็จจริงที่ร้องเรียน ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จริง
พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 หนึ่งในกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการ ศอ.บต. เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมตรวจสอบโครงการ ศอ.บต. ครั้งที่สองว่า เบื้องต้นพบปัญหาของโครงการจริงตามที่ประชาชนร้องเรียน จึงจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ และหวังให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“วันนี้ คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นได้นำข้อมูลและเอกสารที่ได้จาก ศอ.บต. ในการประชุมครั้งแรกไปวิเคราะห์ และได้นำผลวิเคราะห์กลับมารายงานต่อที่ประชุม เบื้องต้นพบว่าโครงการทั้ง 4 โครงการของ ศอ.บต. มีปัญหาตามข้อเท็จจริงที่ร้องเรียน หลังจากนี้ทางคณะกรรมการสอบสวนฯ จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโครงการ คาดว่าเป็น ช่วงต้นเดือนกันยายน” พล.อ.จำลอง
“การสอบสวนครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังจะหาคนผิดมาลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้โครงการบรรลุเป้าหมาย ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่า บางโครงการยังอยู่ในประกัน คณะกรรมการจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด ให้กลับมาใช้งานให้ได้ทันตามกรอบเวลา ก่อนการตรวจรับงาน แต่หลังจากนี้หากยังทำไม่เสร็จ ก็จะต้องมีคนรับผิดชอบ” พล.อ.จำลอง กล่าวเพิ่มเติม
พล.อ.จำลองระบุว่า 4 โครงการที่คณะกรรมการจะดำเนินการตรวจสอบประกอบด้วย 1. โครงการติดตั้งเสาไฟ และโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กว่า 16,000 ชุด งบประมาณเกือบ 1 พันล้านบาท พบปัญหาว่า บางชุดไม่สามารถใช้งานได้ ขณะที่บางชุดชำรุดเสียหาย 2. โครงการปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มูลค่า 149 ล้านบาท พบปัญหา บริษัทที่ดำเนินโครงการมีสถานะล้มละลาย 3. โครงการปรับปรุงอาคารสำนักงาน ศอ.บต. ซึ่งเป็นการซื้อโรงแรมชางลี ซึ่งเป็นโรงแรมร้างเพื่อนำมาปรับปรุง มูลค่ากว่า 260 ล้านบาท พบว่า ประชาชนร้องเรียนถึงความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ และ 4. โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม งบประมาณเกือบ 180 ล้านบาท ซึ่งพบปัญหาชำรุด และไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม โดยทั้ง 4 โครงการมีมูลค่าเกือบ 1,600 ล้านบาท
นายแวยูโซะ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านรู้เรื่องของความไม่โปร่งใสของการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นอย่างดี ที่อ้างว่าทำเพื่อการพัฒนาพื้นที่ แต่เมื่อร้องเรียนกลับถูกกล่าวหา ซึ่งไม่บังเกิดผล และถูกกล่าวหาว่าให้ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ
"และนี่คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม แต่เขาก็อ้างว่าเขาพัฒนาพื้นที่ทำเพื่อชาวบ้าน... การตรวจสอบการทุจริตโครงการในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้” นายแวยูโซะ กล่าว
หนึ่งในข้อร้องเรียน คือโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ ที่ตั้งงบประมาณ 149,830,000 บาท โดยมี ศอ.บต. เป็นเจ้าของโครงการ ได้จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ โดยว่าจ้างกิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดสนธิเศรษฐ และบริษัท ชาติธนา จำกัด เข้ารับเหมาทำโครงการ และลงนามในสัญญาจ้างกัน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559
หลังดำเนินโครงการประชาชนในพื้นที่บางส่วน และชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ประกาศยุติการให้ความร่วมมือกับ ศอ.บต.ในโครงการนี้ เนื่องจากในเดือนมีนาคม 2560 พบข้อมูลว่า บริษัท ชาติธนา จำกัด หนึ่งในผู้ทำสัญญาดำเนินโครงการพัฒนาครั้งนี้ ถูกฟ้องล้มละลาย และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559
"การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการของรัฐถือว่าดีมาก แต่ควรตรวจสอบโครงการอื่นๆ ของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย และควรตรวจสอบตั้งแต่การเริ่มโครงการว่า ใครลงนาม ก็ย้อนตรวจสอบ ไม่ควรตรวจสอบเฉพาะกับคนทำงานยุคปัจจุบันเท่านั้น ถ้าโครงการผ่านตั้งแต่โน้น แต่มาสอบเอาตอนคนใหม่มารับตำแหน่งถือว่าไม่เป็นธรรม" ชาวไทยพุทธในพื้นที่ ผู้ไม่ประสงค์รายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-south-corruption-08182017171728.html