Skip to main content

ขอทาน ครูข้างถนน  (1) 

       ยามค่ำคืนเป็นหมุดหมายของผม โดยเฉพาะการเคลียร์งานที่ค้างคาหรือปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ

       เอาเข้าจริงชีวิตในประเทศอินเดีย มีบางบรรยากาศที่เริ่มทำงานตอนดึกซึ่งถือว่าสงบและน่าหลงใหล ยิ่งนั่งทำงานพลางกุมแก้วชา (จายย์) ที่ชงด้วยนมสดแล้ว เมืองนี้ช่างน่าอยู่ขึ้นเยอะเลย

        หลายต่อหลายคนเลือกสร้างโลกภาคค่ำของตนเองและเนรมิตให้กลางคืนลืมตาขึ้นมาอีกครั้งในขณะที่คนเกือบทั้งเมืองเริ่มหย่อนตัวลงบนเตียงนอน

        เมื่อเลือกทำงานในตอนกลางดึก ยามเช้าเป็นเวลาเริ่มเข้านอนสักระยะ จึงจะตื่นเข้ามหาวิทยาลัย เราปฏิเสธบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงร้อน ผนังตึกมักคลายไอแดดออกมา ซึ่งในฤดูดังกล่าว ผมไม่สามารถทำอะไรได้เลยในช่วงกลางวัน นั่งเฉย ๆ เสื้อเปียกและเหงื่อชุ่มไปด้วยน้ำ หากวันไหนมีโปรโมชั่นไฟดับด้วยแล้วถือเป็น “บทเรียนราคาแพงในดงแขก

         ปกติก็ดับวันละ 2-3 ชั่วโมงเพื่อทดสอบตบะและลมปราณ เอาเป็นว่า ฤดูร้อนของอินเดีย มันโหดหินกว่าที่ใครหลายคนจิตนาการถึงก็แล้วกัน

          ในฤดูร้อน หลายคนจึงเลือกใช้ช่วงดึกในการเริ่มต้นของการอ่านหนังสือ เขียนงานและอื่น ๆ กอปรกับอากาศเริ่มเข้าที่ อากาศจะเริ่มทำให้เราทรงตัวได้จนถึงสว่าง ลมเย็นพัดผ่านหน้าต่างริมกุโบร์ ถือเป็นความสุขของนักผจญภัยยามดึกโดยแท้

           หลังเสร็จงานในเวลาเช้าตรู่ ผมเริ่มหลับตานอนได้ครูหนึ่ง เสียงเคาะประตูห้องก็ครางขึ้นราวกับโมโห เสียงเคาะไม่ได้โหดร้าย ทว่า ผู้ที่ได้ยินเสียงในสภาพหลับไม่เต็มตาต่างหากหละที่ผวาตกใจและสะดุ้งตื่น ผมนอนห่างจากประตูแค่เพียงหนึ่งวาเท่านั้นเอง

          ผมมิอาจล่วงรู้ได้ว่า จอมยุทธ์ท่านใดบังอาจมาบุกรังลับของผมในตอนเช้ามืด ลองไตร่ตรองดูว่าเป็นมิตรสหายจากสำนักไหน หลังทบทวนอยู่พักใหญ่ ผมจึงสรุปว่า

          “หากเป็นจอมยุทธ์หรือมิตรสหายจากสำนักข้างเคียง คงไม่มีใครย่างกรายมาในห้วงยามนี้เป็นแน่ เพราะทุกคนต่างรู้ว่า ช่วงเช้าของฤดูร้อนถือเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างดีทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเก็บตัวในรังลับคงเป็นการฉลาดกว่ามาเคาะประตูบ้านคนอื่นเป็นแน่”

           ผมจึงใช้ความเงียบตอบโต้เสียงดังกล่าว หมายจะใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวเพื่อผ่านเสียงรบกวนดังกล่าวและข่มตาให้หลับอีกครั้งหนึ่ง ทว่า ผมกลับพ่ายแพ้เสียงดังกล่าวอย่างไร้กระบวนท่า หลังจากแรงเคาะทำงานอย่างหนักบนผนังประตู

       ผมจึงเปิดประตูห้องด้วยอาการมึนงงและหงุดหงิด ภาพที่ปรากฏต่อหน้าคือ จอมยุทธ์นิรนาม เดินทางมาในคราบบัณฑิตผู้คงแก่เรียน ทว่ายังเยาว์วัยมากนัก   จอมยุทธ์ท่านนี้ ร่างใหญ่เอาการ หน้าตาดี ผมเหยียดตรง ค่อนข้างอ้วน สูงกว่า 180 เซนติเมตร แต่งตัวดี คำทักทายของบัณฑิตหนุ่มผู้นี้คือ

 “มีเงินจะบริจาคให้ผมบ้างไหม ผมเป็นคนจน ผมต้องการเงินเรียนหนังสือ”

ผมจึงบอกด้วยเสียงกึ่งหลับกึ่งตื่นไปว่า

“ผมไม่ค่อยมีปัจจัยเลยในช่วงนี้ อาการของผมก็ไม่ต่างจากท่าน คือ ช่วงปลายเดือน ผมก็ไม่มีอะไรจะกิน”

บัณฑิตหนุ่มจึงทำหน้าเศร้าพลางส่งเสียงตอบโต้แลกเปลี่ยนหนักหน่วงกว่าเดิม

 "ไม่คิดจะทำบุญกันบ้างเลยเหรอ"

ผมได้รู้สึกผิดขึ้นมาโดยกะทันหัน  ผมบอกแกว่า

"ผมไม่มี ไปได้แล้ว!!!ผมจะนอน พร้อมแสดงอาการค่อนข้างอ่อนเพลียสุดๆ"

บัณฑิต: ผมจะต้องใช้เงินเรียนหนังสือ

ผม: ผมก็นักเรียน และไม่ได้ทำงาน

บัณฑิต: แต่อย่างน้อยคุณก็มีเงินกว่าผม คุณมีห้องพัก คุณมาเรียนถึงประเทศอินเดียได้ แสดงว่าคุณก็มีอันจะกิน ด้วยเหตุนี้ คุณต้องบริจาค

ผม: ตอนนี้ ผมไม่มีเงินเลย เพราะการเงินไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่

บัณฑิต: ไม่สงสารกันบ้างเหรอ ผมเดินทางมาตั้งไกล ไม่ใจดำไปหน่อยเหรอ หากคุณปล่อยให้ผมกลับบ้านมือเปล่า

ผมนึกในใจ “ดราม่าใส่กูสะงั้น” พลางเริ่มออกอาการทรุดจะล้มทั้งยืนเพราะมึน ๆ เนื่องจากนอนหลับไม่เต็มตื่น ไม่ใช่สิ ยังไม่ได้นอนต่างหาก ผมจึงทำเสียงค่อนข้างสูง เพื่ออัญเชิญบัณฑิตผู้นี้ออกจากห้องของผม

บัณฑิต: คุณไม่มีสิทธิ์มาไล่ผมนะ!!! อีกอย่างผมมีสิทธิ์ที่จะขอ เพราะคุณคือ บุคคลอันมีอันจะกิน อีกอย่าง คุณไม่มีสิทธิ์ไล่แขกของพระเจ้า !!!

ผมนึกในใจ เข้ามารบกวน ตั้งแต่เช้ายังไม่พอ แถมด่าว่าใจดำอีก

ผม: ช่วงนี้ไม่มีจริงๆ อีกอย่างผมถือศีลอดและยังไม่ได้นอนเลย

บัณฑิต: เอ้อคุณพูดภาษาอังกฤษได้นิ คุณอยู่ที่ไหน? เป็นคำถามพลางชวนสนทนา

ผม: ผมเป็นคนไทย

บัณฑิต: คุณเป็นชาวต่างชาตินิ คุณต้องมีเงินมากแน่เลย !!!

ผมนึกในใจ ตกลงจะได้นอนตอนไหนว่ะ นี่ก็สายมากละ ไม่นานไฟก็จะดับอีก ร้อนก็ร้อน

บัณฑิต: ประเทศไทยนิอยู่ตรงไหน สังคมที่นั่นเป็นไง ผู้คนรวยไหม มีกินมีใช้ไหม เทียบกับประเทศอินเดียนิ ที่ไหนน่าอยู่กว่า ผู้คนที่นั่นเขาทำอะไรกัน ?

ผมตั้งใจจะพูดตอบโต้ด้วยเสียงดังเพื่อตัดความรำคาญเพราะผมรู้สึกไม่ไหวแถมง่วงมากด้วย

ผม: อินเดียน่าอยู่มาก สบาย พร้อมทำเสียงสูงเชิงไม่พอใจ !!!

บัณฑิต: สบายตรงไหน ยังไง ขอเหตุผลหน่อย?

ผมนึกในใจ อ้าวไม่จบอีก แถมยังจะมาขอเห็นผลด้วยว่าทำไม

ผม: อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ มีคนเก่ง และมหาเศรษฐี หนำซ้ำ ผู้คนให้ความสำคัญกับการศึกษา

บัณฑิต: เก่งเรื่องอะไร มีใครบ้าง

ผม: เราค่อยมาสนทนากันใหม่ไหมครับ ผมง่วงมาก

ผมจึงตัดความรำคาญอีกครั้งด้วยการปิดประตูเพื่อทำทีจะนอน หนุ่มผู้นี้จึงเดินจากไป เมื่อผมมั่นใจว่าเสียงสอยเท้านั้นหายไป ผมจึงแง้มประตูเพื่อให้แน่ใจ

เสียงเปิดประตูดังขึ้น บัณฑิตผู้นั้นจึงก็เดินกลับมาใหม่

บัณฑิต: สรุปว่าจะไม่สงสารกันหน่อยเหรอ จะใจดำให้กลับไปมือเปล่าเหรอ

สงสัยไม่จบเรื่องแล้วในเช้าวันนี้ ผมเลยบอกว่า ผมจะนอนแล้วนะขอโทษด้วย

บัณฑิต: ใช่สิ !!!มาพร้อมเสียงสูง พลางกล่าวว่า คุณมีบ้านให้ซุกหัวนอนนิ ผมนิไม่มีบ้าน แล้วประเทศไทยคนมีบ้านกันไหม ?

          ดราม่าใส่ แถมยังอยากแลกเปลี่ยนต่ออีก โดยไม่ถามกันสักคำ พลางนึกตอนผมเจอพรรคกระยาจก (ขอทานทั่วไป) มีแต่รอยยิ้มและโชคดี แต่การพบเจอบัณทิตผู้รอบรู้เยี่ยงนี้ บางครั้งก็น่ากลัวและทรมานยิ่ง สรุปว่า กว่าจะได้นอนปาไปเกือบ 20 นาที

            อินเดียมีผู้คนหลายแบบจนบางที เรารับมือไม่ทันและตั้งตัวที่จะแลกเปลี่ยนกระบวนท่าไม่ได้ ทว่าถือเป็นสีสันอีกแบบของชีวิต

            ผมมักมีขอทานที่เป็นขาประจำมากกว่าขาจรไร้สังกัดแบบบัณฑิตหนุ่มเมื่อกี้ เพราะชีวิต 9 ปีของผมในประเทศอินเดีย ก็มากพอที่จะสานสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า มิตรสหายในมหาวิทยาลัย คนขับรถรับจ้าง หรือแม้กระทั่ง “ขอทาน”

            คนเหล่านี้เข้ามาวนเวียนในชีวิตของผม และแน่นอน นอกเหนือจากการใช้ชีวิตแล้ว เราได้สร้างร่องรอยประทับแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้อย่างน่าเหลือเชื่อ

            เพราะแต่ละวันของเรานั้น ผ่านไปโดยไม่เคยขาดคนเหล่านี้เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าเราจะย่างกรายออกไปแห่งหนตำบลใด เราก็จะพบเจอมิตรสหายผู้ทำหน้าที่ขอทานและกลุ่มคนเร่ร่อน เอาเข้าจริงเราแค่เปลี่ยนที่ แต่กลุ่มคนที่เราพบเจอก็ในรูปแบบเดิม

           ทั้งหมดเหล่านี้จึงกลายเป็นความสัมพันธ์ไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

            นึกถึงช่วงเที่ยงของวันหนึ่งผมเดินอยู่บริเวณตลาดถนนคนเดิน ปาฮัรกัญจ์ ณ กรุงนิวเดลี มีชายผู้หนึ่งแต่งตัวมอมแมมสอยเท้าเดินเข้ามาใกล้พลางสงสัญญาณของการขอเงินเล็กน้อยเพื่อซื้ออาหาร ผมเพ่งมองอย่างละเอียดไปยังเรือนร่างของเขา ชายผู้นี้อายุประมาณ 40  ต้น ๆ เป็นนักเดินทางผู้มีประสบการณ์อย่างมากมาย มีเป้าสะพายข้างหลังลักษณะคล้ายย่ามซึ่งทำจากผ้าถุงสีลวดลายฉูดฉาดและแต่งแต้มความเป็นอินเดียสัญลักษณ์โอม

           เขาทิ้งร่องรอยหยาบกร้านของการเดินทางทิ้งไว้บนใบหน้า เนื้อตัวและนิ้วเท้า ผมสังเกตเท้าของเขาอย่างประณีต จึงพบว่า เขาสมรองเท้าแตะสีดำอ่อน ๆ ทว่าเขามีรองเท้าข้างเดียว ไม่ใช่เพราะไม่มีเงินซื้ออีกข้าง แต่ขาอีกข้างหนึ่งของเขาไม่ได้ปรากฏให้เราเห็น เขาอาจทำมันหล่นหายไปนานแล้ว

            ผมได้รับการยืนยันว่า เขาไม่เคยมีขาอีกข้างเลยก็ต่อเมื่อผมสังเกตเห็นร่องรอยความลีบของช่วงปลายอวัยวะข้างนั้น เขาสะพายไม้เท้าเพื่อช่วยในการพยุงตัวและลากสังสารของตนเองย่ำเดินไปในเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวาย

 ใช่แล้ว ผมนึกในใจ เขาไม่เคยมีขามาตั้งแต่เกิด และแน่นอนการหายไปของขาข้างนั้นไม่ใช่อุบัติเหตุแต่อย่างใด

           ผมมองชายผู้นี้พลางนึกถึงเด็ก ๆ ในชนบทของอินเดีย ซึ่งบางส่วนของพวกเขานั้นพิการมาตั้งแต่กำเนิด และอีกบางส่วนเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเลี้ยงเด็ก ๆ แบบน่าใจหาย

           เวลาที่พวกเขาต้องการอุ้มเด็ก พวกเขาไม่ได้ยกเด็ก 2 มือ ทว่า พวกเขาชูเด็กให้ลอยขึ้นด้วยการจับแขนเพียงข้างเดียวเสมอ ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่า การอุ้มเด็กในลักษณะดังกล่าวนั้น อาจส่งผลต่อข้อมือของเด็กและเปราะตั้งแต่ยังเยาว์วัย กอปรกับระบบสาธารณสุขที่ยังเล็ดลอดเข้าไปยังชุมชนไม่ทั่วถึง แน่นอน ผลที่ตามมาคือ ในโรงพยาบาลชนบทส่วนใหญ่ เด็กตัวเล็ก ๆ ที่มาใช้บริการนั้นมีปัญหาเรื่องการเข้าเฝือกแขนและขาจึงเป็นจำนวนมาก

            ชายผู้ที่ผมกำลังยืนข้างกายเขา รอดพ้นการจากการถูกเลี้ยงดูในลักษณะดังกล่าว ทว่า เขาก็มีบาดแผลเหล่านั้นมาตั้งแต่กำเนิด หลังจากเรายืนด้วยกันนานพอสมควร ผมจึงเอ่ยปากถามเขาว่า “สบายดีไหม” เขายิ้มพลางตอบสวนมาอย่างรวดเร็วว่า “ชีวิตในแต่ละวัน เราสบายมาก เรามีความสุขดี”

            ผมจึงถามว่า “เขาจะไปไหน” เขาตอบพลางชี้ไปยังฝั่งสถานีรถไฟนิวเดลีเพื่อเป็นสัญญาณว่า เขาจะเดินทางไปยังเมืองลักเนาว์ ผมถามว่าแล้วจะไปทำไม เขาเงียบไปครู่ใหญ่ เขายิ้มแล้วบอกว่า

         “ไม่รู้ไปทำไม และพอถึงไปลักเนาว์ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ แต่เท่าที่รู้ หากไม่ออกเดินทาง ก็จะไม่มีกิน”

          ขอทานผู้นี้ทำเอาผมน้ำตาตกระหว่างการเดินทาง ผมจำภาพเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แม้มันจะผ่านมา 7 ปีแล้วก็ตาม

          ก็จริงอย่างที่แกว่า “ไม่รู้จะไปทำไม แต่เท่าที่รู้ หากไม่ออกเดินทางก็จะไม่มีกิน”

         ผมได้ครูเพิ่มอีกหนึ่งคนในชีวิต คำพูดของเขาเพียงเล็กน้อยทำให้ผมได้แง่คิดบางอย่าง เขาบอกผมว่าเขาสบายมาก ในขณะที่อะไหล่ส่วนล่างของเขาชำรุดตั้งแต่เกิด

 เขาบอกว่าเขามีความสุข ในขณะที่เขาไม่มีรกรากและหลักแหล่งให้ซุกหัวนอน เขามีเพียงถุงผ้าสะพายที่บรรจุข้าวของที่จำเป็น แต่ชายขอทานอย่างเขามีความสุขตามสภาพที่เขาครอบครอง

        แล้ววันนี้ตัวเราเอง มีหลายอย่างเกินความจำเป็น ครอบครองผืนดินอย่างมากมาย มีบ้านให้พักพิง แล้วอุปสรรคข้อไหนที่เราต้องกังวลและโศกเศร้าด้วยเล่า ?

ชีวิตของคนเรา ช่างต่างกันอย่างมากมาย แต่ส่วนที่เหมือนนั่นก็คือ เรามีชีวิตและจิตใจไม่ต่างกัน เราจึงถักทอความสัมพันธ์กันโดยไม่รู้ตัว

        บางคนเข้ามาเพื่อสอนเราให้รู้จักตัวเอง

        บางคนเข้ามาเพื่อสอนให้เรารู้จักคนอื่น

        ไม่ว่าจะข้อไหน ทว่าคนเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวพันธ์กับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      จริงหรือไม่ว่า

       “การรู้จักคนอื่นถือ เป็นผู้ฉลาด แต่การรู้จักตนเองถือเป็นผู้รู้แจ้ง”

        เอาเข้าจริงเราถูกสอนให้รู้จักคนอื่นตลอดเวลา และน้อยคนนักที่พยายามให้เวลาเพื่อทบทวนและรู้จักตนเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ เราทุกคนต่างหวังให้บรรลุถึงตำแหน่งแห่งที่ของการเป็น “ผู้รู้แจ้ง” ทั้งสิ้น

 เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะเข้าถึงตำแหน่งเหล่านั้นได้อย่างไร เมื่อถนนที่เราย่ำเดินเพื่อเรียนรู้มันกลับเป็นถนนอีกเส้นที่จุดหมายคนละแบบกัน 

ไม่รู้ว่าผมได้อะไรจากอินเดียบ้าง ทว่า การเดินทางสอยเท้าของผม แม้ไม่ทำให้ผมกลายเป็นคนมองโลกละเอียดกว่าเดิม แต่อย่างน้อยทำให้ผมรู้จักตัวเองขึ้นเยอะเลย 

อ่านต่อฉบับหน้า ตอน 2

 

***หมายเหตุ***

"ขอทาน: ครูข้างถนน" เป็นหนึ่งใน "ข้อเขียน" จากหลาย ๆ เรื่องที่ผมตั้งใจเขียนเพื่อสรุปบทเรียน 10 ปี ของผมที่ได้วางรกราก ณ เมืองอาลิการ์ (ِAligarh) ประเทศอินเดีย ในฐานะ "นักเรียน" ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะรวบรวมประสบการณ์ตรงของตนเองไม่ว่าจะเป็น ด้านสังคม เศรษฐกิจ ชนชั้น ระบบทุน วัฒนธรม ประเพณี การศึกษา การเมือง การใช้ชีวิต การเดินทางและอื่น ๆ เพื่อเป็นเรื่องเล่าว่า "ผมได้อะไรบ้าง" จากประเทศนี้ 

อยากเขียนรวมเป็น "หนังสือ" สักเล่ม เพื่อบอกเล่าการเดินทางของตนเองในดินแดนถารตะ