Skip to main content

 

การเจรจาสันติภาพสามจังหวัดแดนใต้: ปล้นรถ?

 

ดอน ปาทาน
ยะลา 
170905-thai-620.jpg
เจ้าหน้าที่ทหารตรวจพื้นที่เกิดเหตุระเบิดบนถนน ที่คร่าชีวิตทหารหกนาย ขณะลาดตระเวนในจังหวัดปัตตานี วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560
เอเอฟพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเดือนมิถุนายน ช่วงใกล้สิ้นสุดเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม นายอาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ชาวมาเลเซีย ผู้ทำหน้าที่ตัวกลางไกล่เกลี่ยในกระบวนการสันติภาพ ได้ออกคำเชิญถึงขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ให้เข้าร่วมในกระบวนการการเจรจาสันติสุข

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเชิญกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีอำนาจมากที่สุดในภาคใต้ของไทย ให้เข้าร่วมในการเจรจา แต่ครั้งนี้ นายซัมซามินมีเหตุผลให้เชื่อว่าอาจทำให้มีผลในทางที่ดี

เดิมพันก็คือ การยุติของความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีมานาน 13 ปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 7,000 คน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสุลต่านของชาวมุสลิมมลายู ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยในปี 2452

มาเลเซียเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างไทยและกลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้

ก่อนตอบรับคำเชิญของนายซัมซามิน นายดุนเลาะ แวมานอ (หรืออีกชื่อว่า อับดุลลาห์ วัน มัต นัวร์) ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภาปกครองของกลุ่มบีอาร์เอ็น กล่าวว่า เขาและคนของเขา “จะขอคิดดูก่อน”

นายซัมซามินยังได้รับคำมั่นจากกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยว่า ทางกลุ่มจะไม่จงใจทำลายแผนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งคือการกำหนดพื้นที่หยุดยิงส่วนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นนี้ได้รับการหารือกันในการประชุมระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี และเจ้าหน้าที่เจรจาของไทย เมื่อวันที่ 8-10 สิงหาคม ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

แต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ไม่ถึงสัปดาห์หลังสิ้นสุดการประชุมครั้งนั้น ผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นชายฉกรรจ์เจ็ดคน ได้เข้าปล้นรถกะบะจำนวนหลายคัน และจับพนักงานของศูนย์รถยนต์มือสองในจังหวัดสงขลา เป็นตัวประกัน

แผนของกลุ่มคนเหล่านั้นในการใช้รถกะบะ ประกอบเป็นคาร์บอมบ์ล้มเหลวลง หลังจากที่ตัวประกันสี่คนพยายามหลบหนี ตัวประกันสองคนถูกยิง หนึ่งคนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และคนที่รอดชีวิตได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณนั้นอย่างเข้มงวด

สุดท้าย รถกะบะเพียงสองคันจากทั้งหมดเจ็ดคัน ถูกใช้เป็นคาร์บอมบ์ และหนึ่งในผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบถูกยิงตาย หลังจากยิงต่อสู้กับตำรวจ

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า นายแวมานอ เป็นผู้สั่งการผู้ก่อความไม่สงบทั้งเจ็ดคนนั้น เป็นผู้ที่เจ้าหน้าที่ของไทยหลายคนเชื่อว่า เป็คนสำคัญที่สุดที่ทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพ

เหตุปล้นรถดังกล่าวทำให้ความหวังที่เกิดขึ้น หลังจากที่กลุ่มบีอาร์เอ็นตกลงที่จะร่วมแผนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ต้องริบหรี่ลง และเป็นสิ่งเตือนใจว่า ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

การเจรจารอบต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนนี้ แต่กลุ่มมาราปาตานี ได้ขอเวลาในการเตรียมตัวสำหรับการเจรจา ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งของไทยกล่าว

ความเป็นอริ

ในส่วนของกลุ่มบีอาร์เอ็น แหล่งข่าวของกลุ่มกล่าวว่า สายการบังคับบัญชาของกลุ่มมีความไม่แน่นอน นี่หมายความว่าการตกลงกันของผู้นำกำลุมอาจไม่ได้แปลงเป็นการกระทำในภาคพื้นดินอย่างที่เจ้าหน้าที่ของไทยหรือมาเลเซียต้องการให้เป็น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มบีอาร์เอ็นและกลุ่มมาราปาตานี ยังเป็นอริกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการบรรเทาความรู้สึกดังกล่าว

“เมื่อโปห์ชู โลห์ [แว-มาโน] พูดว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่โจมตีพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เขาใช้ความสุภาพและชั้นเชิงทางการทูต กลุ่มบีอาร์เอ็นมีเซลล์อยู่ในเกือบทุกตำบล คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นไปตามคำสัญญาหรือคำรับรองที่ให้ไว้กับนายอาหมัด ซัมซามิน หรือไม่” แหล่งข่าวคนหนึ่งของกลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าว บุคคลผู้นี้กล่าวเสริมว่า หน่วยของเขายังไม่ได้รับแจ้งถึงข้อตกลงพิเศษนั้น

เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวว่า การยืนกรานของรัฐบาลไทยที่ว่า การเจรจาต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าจะแบ่งแยกราชอาณาจักรไม่ได้ เป็นประเด็นที่จะทำให้การเจรจาเริ่มขึ้นไม่ได้มาโดยตลอด

พวกเขากล่าวว่า ทางกลุ่มเต็มใจที่จะเจรจากับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่หยิบยกข้อกำหนดดังกล่าวขึ้นมา และเพื่อเป็นการตอบแทน ทางกลุ่มจะไม่พูดถึงประเด็นเรื่องการแยกดินแดน

เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบีอาร์เอ็นยังกล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา ก็ต่อเมื่อผู้เจรจาของกลุ่มได้รับการฝึกฝนมาอย่างถูกต้องแล้ว และประชาคมนานาชาติเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เหมือนกับกระบวนการสันติภาพในทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย

เจ้าหน้าที่การข่าวทหารคนหนึ่งของไทย ผู้จับตามองความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมการเจรจาด้วย จะเป็นโอกาสในการเจรจากับผู้ที่มีอำนาจบัญชาการและควบคุมบรรดาผู้ก่อความไม่สงบ

เมื่อเดือนมิถุนายน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เกริ่นออกมาว่า กลุ่มมารา ปาตานี อาจไม่ใช่คู่เจรจาที่เหมาะสม กล่าวอีกอย่างก็คือ เขาไม่เชื่อว่ากลุ่มมารา ปาตานี มีอำนาจการบังคับบัญชาและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบที่ส่วนเกี่ยวข้องในการต่อสู้

แต่กล่าวกันว่า คำพูดของ พลเอกอุดมเดช ได้สร้างความไม่พอใจแก่ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะเจรจาของไทย

พลเอกอักษรา และเจ้าหน้าที่หลายคนในรัฐบาลไทย รวมทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่า หากกลุ่มบีอาร์เอ็น “จริง” ต้องการเข้าร่วมในการเจรจาแล้วล่ะก็ ทางกลุ่มจำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในองค์กรมาราปาตานี แทนที่จะแยกเจรจาเดี่ยว

การแก้แค้น

หากรัฐบาลทหารของไทยจะยินยอมให้มีประชาคมนานาชาติเข้ารับฟังการเจรจา แต่ก็ไม่ได้แสดงว่า จะยอมให้มีการขุดคุ้ยอ้างต้นเหตุประวัติศาสตร์ดั้งเดิม และการไม่ไว้วางใจที่ฝังรากลึก ระหว่างรัฐบาลไทยและชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้

กลุ่มบีอาร์เอ็นยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยปฏิเสธให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้เจรจาสองคนของกลุ่มมาราปาตานี เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจของรัฐบาลที่จะยอมตามคำขอ

สุครี ฮาริ และอาหมัด ชูวัล ผู้ที่หลบหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปี 2550 หลังจากได้รับการประกันตัวภายใต้รัฐบาลทหารในขณะนั้น ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในฐานะสมาชิกของกลุ่มมาราปาตานี เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มนี้เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2558

บุคคลทั้งคู่ได้ขอการคุ้มกัน เพื่ออนุญาตให้ตนกลับสู่ประเทศไทยได้ และเข้าไปสังเกตการณ์โครงการนำร่องเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัย แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว แต่กระทรวงยุติธรรมของไทยปฏิเสธอย่างหนักแน่น เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดการการเลียนแบบเป็นเยี่ยงอย่าง

ยิ่งไปกว่านั้น การกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายเรื่องการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ยังคงทำให้บรรยากาศการเมืองอึมครึมต่อไป และทำให้เกิดการฆ่ากันเพื่อล้างแค้น

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-OP-ED-Pathan-09052017211748.html