พลเอกอักษรา: การพูดคุยสันติสุขจะมีต่อไป จนกว่ากลุ่มผู้เห็นต่าง พร้อมจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ
ในวันเสาร์ (16 กันยายน 2560) นี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงผลการพูดคุยของคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคของฝ่ายไทย และมาราปาตานีครั้งล่าสุดว่า ทางมาราปาตานี พร้อมในการร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังมีรายละเอียดการเตรียมความ ในการรับหลักการพื้นที่ปลอดภัย ที่จะนำสู่การพิจารณาในคณะพูดคุยฯ ชุดใหญ่ต่อไป
“เขา (มาราปาตานี) พร้อมร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังมีรายละเอียดขั้นตอนในการรับหลักการพื้นที่ปลอดภัย” พลเอกอักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ พลเอกอักษรากล่าวว่า เมื่อวันที่ 11-12 กันยายนนี้ ตนได้ให้คณะทำงานเทคนิคร่วม เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อพูดคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่มที่รวมตัวเป็นองค์กรมาราปาตานี ในเรื่องการเลือกพื้นที่ในหนึ่งอำเภอขึ้นมา เพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย หลังจากที่ทางมาราปาตานีได้เสนอรายชื่ออำเภอที่มีความเป็นไปได้มาให้ทางฝ่ายไทยในก่อนหน้านี้
พลเอกอักษรา กล่าวอธิบายว่า ในพื้นที่ปลอดภัยนั้น จะมีฝ่ายปาร์ตี้เอ ตัวแทนปาร์ตี้บี แนวร่วมของทั้งสองฝ่าย ภาคประชาสังคม ร่วมดูแลและติดตามสถานการณ์ โดยมีผู้นำศาสนาเป็นสักขีพยาน จะมีการจัดการด้านระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ทีวีวงจรปิด ระบบไฟฟ้า การทำเส้นทางเดินรถ โดยภาคประชาสังคมจะมีส่วนให้ข้อมูลแนะนำอีกด้วย
“ภาคประชาสังคมจะช่วยพิจารณาระบบความปลอดภัย เช่น จะเพิ่มกล้องวงจรปิดหรือไม่ ระบบไฟส่องสว่าง ถนน ส่วนผู้นำศาสนา จะเป็นสักขีพยานว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ถ้าเกิดเหตุ” พลเอกอักษรากล่าว
พลเอกอักษรา กล่าวว่า จะมีการพูดคุยเพื่อการกำหนดอำเภอที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยในระดับคณะพูดคุยฯ ต่อไป โดยยังไม่ได้กำหนดวันเวลา
“... การพูดคุยฯ จะยังดำเนินการต่อไปจนกว่าขบวนการผู้เห็นต่างฯ ทุกกลุ่ม จะมีความพร้อมและยินยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคประชาชน ในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจที่ทุกฝ่ายมีความตั้งใจ ที่จะทำเพื่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน” กล่าวในแถลงการณ์ที่แจกจ่ายแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้
บีอาร์เอ็น'ตัวจริง'รวมอยู่ด้วย
พลเอกอักษรา หักล้างการวิจารณ์ที่ว่าสมาชิกบีอาร์เอ็นสามราย ที่ประกอบด้วยนายอาวัง ยะบะ นายสุกรี ฮารี และนายอาหมัด ชูโว นั้น ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการจริงนั้น
“ที่ว่าไม่ใช่ตัวจริงนั้น ไม่ถูกต้อง ที่พูดคุยอยู่ ก็คือ บีอาร์เอ็นหลัก... ส่วนที่ว่า คุยผิดคน แล้วยังมีเหตุรุนแรงนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เกี่ยวเนื่องกัน”
ส่วนการที่นายอับดุลการิม คาลิด ที่อ้างตนเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ว่า มาราปาตานีไม่ได้เป็นผู้รับฉันทานุมัติโดยชอบธรรมจากขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานีนั้น พลเอกอักษรา กล่าวว่า พื้นฐานเดิมของ นายอับดุลการิม คาลิด คือ ผู้ช่วยของนายฮัซซัน ตอยิบ ที่เป็นหัวหน้าชุดเจรจาสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีการแถลงเช่นนั้น แต่ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา เพียงแต่ต้องการให้มีนานาชาติร่วมเป็นพยาน
พลเอกอักษรา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น เป็นมาตรการหนึ่งที่เป็นความหวังในการสร้างความสงบสุขในพื้นที่ที่มีปัญหามานานปี ทั้งนี้ ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ สามารถร่วมมือในการช่วยกันสร้างความสงบได้ โดยการสนับสนุนกระบวนการสันติวิธีสามประการ คือ หนึ่ง การไม่ยอมรับความรุนแรง สอง การไม่ยอมรับการก่อการร้าย ไม่ว่ากลุ่มใดๆก็ตาม และ สาม ไม่ยอมรับพฤติกรรมโจร เช่น การค้ายาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และกลุ่มผิดกฎหมายที่ฉกฉวยสถานการณ์ ไม่สามารถแอบแฝงอยู่ในหมู่บ้านได้
นับตั้งแต่มีความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยเชื้อสายมลายู ครั้งล่าสุด ที่มีต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 7,000 ราย
ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม ผู้ก่อความไม่สงบถูกยิงเสียชีวิตหนึ่งราย ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยผู้ก่อความไม่สงบได้จับพนักงานเต๊นท์รถยนต์สี่รายเป็นตัวประกัน และยิงเสียชีวิตไปหนึ่งราย หลังคนร้ายทั้ง 7 คน เข้าปล้นรถยนต์จากเต๊นท์รถมือสอง ในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์
และในเดือนพฤษภาคม มีเหตุการณ์วางระเบิดสองลูกซ้อน หน้าห้างบิ๊กซี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 80 ราย
รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะ แต่สะดุดลงหลังถูกรัฐประหารในปี 2557 จากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เปิดการเจรจาอีกครั้ง โดยมีพลเอก อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข
ในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาราปาตานี ได้มีความเห็นชอบร่วมกันในหลักการว่า จะจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอใดอำเภอหนึ่ง ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบความไว้วางใจระหว่างกัน อันเป็นหนึ่งขั้นตอนการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงและการก่อความไม่สงบ
เผยบแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-talks-Aksara-09162017201313.html