บทสะท้อนจากสภาพรถติดหลังชาวจังหวัดชายแดนใต้เดินทางกลับจากการสอบท้องถิ่น
โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
วันนี้เห็นภาพรถติดอย่างหนักตลอดเส้นทางหลายร้อยกิโล ระหว่างทางหลวงของสามจังหวัดชายแดนใต้ กับจังหวัดสงขลา พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่สอบบรรจุตำแหน่งข้าราชการท้องถิ่น คงพอมองเห็นถึงความอ่อนแอของภาคเอกชน ที่ไม่สามารถจ้างงานที่มั่นคงแก่บัณฑิตได้ ทำให้ตำแหน่งงานของรัฐมีอัตราแข่งขันสูงมากและสะท้อนต่อเนื่องอะไรหลายอย่าง
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของไทย เมื่อสินค้าพื้นฐานในพื้นที่หลายอย่างขายได้น้อยลง ขายถูกลง เศรษฐกิจทั้งระบบก็ทรุด การซื้อขายน้อยลง แรงจูงใจจะทำให้เกิดกิจการใหม่ก็น้อยลง ต่อให้บัณฑิตพอมีทักษะผู้ประกอบการ ก็คงคิดหนักที่จะเริ่มอะไรใหม่ แต่ที่สำคัญกว่าคือทักษะผู้ประกอบนั่นมีกันมากน้อยอย่างไร
คุณค่าที่ลดลงของปริญญาจากมหาวิทยาลัย ที่จะตอบลำบาก จากที่เคยการันตี ป.ตรี มีงานทำ ตอนนี้ ป.ตรี หรือ ป.โทไม่มีหลักประกันความมั่นคงแล้ว ซึ่งมันสะท้อนถึงศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกของบัณฑิตไทยด้วยว่าทิศทางและแนวโน้มความต้องการบัณฑิตนั้นเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพคนเหมือนสมัยก่อนแล้ว ยุคอินเตอร์เน็ตที่ความรู้กลาดเกลื่อน วุฒิบัตรจากมหาวิทยาลัยจะลดความสำคัญไปเรื่อยๆ วิชาชีพต่างๆ ต้องเพิ่มความเข้มแข็งของวิชาชีพกันเองและสภาวิชาชีพจะจัดการคุณภาพได้ดีกว่าปริญญา
ตลาดแรงงานของบัณฑิตจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ควรมุ่งเน้นไปยังตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะขั้นสูง และมีอัตราจ้างสูงกว่าไทย มีแรงจูงใจในการให้ผลตอบแทนดีกว่าในพื้นที่ ป.ตรีในมาเลย์เซียได้เงินเดือนเริ่มต้น 3000 ถึง 4000 ริงกิต มากกว่าไทยสองเท่า และงานหลายๆ อย่างที่ต้องการทักษะบวกการบริการ คิดว่าคนจากฝั่งไทยน่าจะดีกว่า ในกรณีนี้รวมถึงชาติอื่นๆด้วยเช่นกัน เราต้องคิดว่าจะใช้ต้นทุนทางภาษาที่บัณฑิตคุณภาพจากบ้านเราควรพูดได้ 3 ภาษาเป็นอย่างดี (ควรต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ใช้งานทั้ง 3. ภาษาได้ดีด้วย) ทำอย่างไรให้ไม่เสียเปล่า