วิทยาศาตร์และนิติศาสตร์ (อิสลาม)
โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
คำเตือน บทความยาวมาก อาจทำให้โควต้าอ่านหนังสือในปีนี้คุณหมดทันที
หลังจากคลุกคลีกับเรื่องของสารเสพติดและแอลกอฮอล์มาสามปี อยู่ในส่วนที่ต้องหาข้อมูลทางวิชาการเพื่อสันบสนุนงานด้านนโยบายหรือกฏหมาย จึงพอเห็นภาพรวมของการบัญญัติกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ซึ่งโดยมาตรฐานสูงสุดของการบัญญัติกฏหมายแล้ว กฏหมายหรือนโยบายที่จะบัญญัติขึ้นมาต้องบัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ไขหรือป้องกันสิ่งที่เป็นปัญหา (นิยามปัญหาในหลายมิติ ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และอื่นๆ) โดยต้องมีหลักการทางวิชาการรองรับนโยบายเหล่านั้น ว่าเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ทำแล้วจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ จากกลไกอะไรบ้าง (ความรู้ทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จะช่วยเป็นพื้นฐานเรื่องพวกนี้) มีการศึกษามาจากที่ไหนบ้างแล้วในโลกในการผลักดันหรือใช้นโยบายเหล่านี้ มันถึงจะออกมาเป็นนโยบายหรือกฏหมาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กฏหมายมักจะตามหลังปัญหาอยู่เสมอ
การร่างกฏหมายเรื่องสารเสพติด มีวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่เยอะมาก เพราะพื้นฐานของสารเสพติด ขององค์ความรู้ที่ทำการศึกษาเรื่องสารเคมี ที่ทำปฏิกริยาต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทของมนุษย์ ดังนั้นพื้นฐานขององค์ความรู้เรื่องนโยบายสารเสพติดนั้น ต้องพึ่งพาอาศัยวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง
เอาง่ายๆ ว่าการจะแบ่งสาร ให้เป็นสิ่งถูกกฏหมายหรือผิดกฏหมาย ก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์นี่แหละอธิบาย
ประเทศไทยแบ่งกลุ่มสารเคมีที่มีหลายหมื่นตัว ก็ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยจัดหมวด แบ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อประสาท
ซึ่งในแต่ละกลุ่มใหญ่ก็แยกเป็นกลุ่มย่อยๆอีก ข้อกำหนดด้านกฏหมาย เช่นเรื่องโทษในการเสพ โทษในการครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อสารเคมีหรือสารเสพติดแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน แต่พื้นฐานการจัดหมวดหมู่สารเคมีเหล่านี้ ล้วนอยู่บนฐานของงานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากที่อธิบายเรื่อง การออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ความแรงของยา อำนาจเสพติดของสารแต่ละตัว ผลกระทบในทางร้าย การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
สารเสพติดบางตัวแม้จะมีผลวิจัยทางการแพทย์ว่ามีผลร้ายอย่างชัดเจนต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ และผลร้ายต่อสังคมรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากสารเสพติดประเภทนั้น แต่เมื่อ (คนที่อยากจะขายอ้างอิงว่า) ใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เข้ามาประเมิน ก็อาจจะเปลี่ยนจากสารเสพติดที่ควรผิดกฏหมายมาถูกกฏหมายได้ เช่นเหล้า หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ฤทธิ์ทางประสาท ทำให้มึนเมา แต่คนเศรษฐศาสตร์บอกว่าจะสร้างการหมุนเวียนของเงิน รัฐศาสตร์บอกว่าจะสร้างรายได้ในการเก็บภาษีให้รัฐ คนค้านกับคนจะขายเลยต้องมาดีเบทกันจนถึงทุกวันนี้
ทุกวันนี้เมื่อประเทศใดก็ตามใช้กฏหมายสั่งห้ามสารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง และเพิ่มความเข้มข้นในการปราบรามสารเสพติดชนิดนั้นๆขึ้นมา กลุ่มผู้เสพติดก็จะพยายามสังเคราะหฺ์หรือหาสารเสพติดชนิดใหม่ๆขึ้นมาทดแทน ดังที่เกิดขึ้นตลอดที่ผ่านมาทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ไทยมีบันทึกการใช้ยาเสพติดครั้งแรกในสมัยอยุธยา ซึ่งเริ่มมีการนำฝิ่นเข้ามาใช้ และในบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีคนใช้กระท่อมทดแทนฝิ่นอยู่ในแถบอาเซียนในช่วงที่ฝิ่นขาดแคลน
สารเสพติดในไทยที่เปลี่ยนแฟชั่นการเสพทุกระยะ จากที่เสพฝิ่น มาเสพเฮโรอีน ยาม้า ยาไอซ์ กัญชา กระท่อม เมื่อกฏหมายควบคุมสารและพืชเหล่านี้ กลุ่มผู้ใช้จึงเริ่มเสาะแสวงหายาที่ใช้ในโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโรค ที่มีฤทธิ์ทางระบบประสาทนี่แหละมาทดแทน และขายกันเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เช่นการใช้ยาแก้ไอในอดีตที่มีส่วนผสมของโคเดอีน ที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน จากที่เคยขายกันทั่วไปตามร้านยา แต่วัยรุ่นมาซื้อทีเป้นสิบๆขวด สุดท้ายก็โดนห้ามจำหน่าย ขึ้นสถานะเป็นสารเสพติดควบคุมไป ซึ่งไม่รู้ว่าวัยรุ่นเหล่านี้ไปเจอได้อย่างไร (สงสัยว่าคงมีคนในวงการแพทย์ช่วยนำเทรนด์ให้)
จากประสบการณ์ที่ไปดูงานที่เนเธอแลนด์มา ที่นั่นเลยตัดปัญหาด้วยการทำให้สารเสพติดบางตัวถูกกฏหมายไปเลย เสพกันให้เปรม เสพกันให้สะอาด เพื่อไม่ต้องพะวงกับการเกิดขึ้นของสารเสพติดใหม่ๆ
ข้างบนนั่นเป็นหลักการการยับยั้งการเข้าถึงสารเสพติดตามกฏหมายสากลทั่วไป
คราวนี้ลองมาดูของกฏหมายอิสลามบ้าง
ด้วยความที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของมุสลิม กฏหมายที่มุสลิมต้องยึดปฏิบัติซ้อนอยู่นอกจากกฏหมายของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว นั่นคือกฏหมายของพระเจ้าหรือ ชารีอะฮ ชารีอะฮเป็นข้อบัญญัติที่ถูกระบุในกุรอ่าน และ วจนะของศาสดา ผ่านการอรรถาธิบายโดยศาสดา อัครสาวก สาวก และบรรดาผู้รู้ทางศาสนาในแต่ละช่วงยุคสมัย
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดมาจากชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ"
ในโองการดังกล่าว ได้ใช้คำว่า ค็อมร ซึ่งถ้าแปลตรงตัวคือ สุรา แต่ในการอธิบายเพิ่มเติมของศาสดาผ่านฮาดิษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอีชะฮนั้นกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่ดื่มแล้วมึนเมา สิ่งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม" (บุคอรี 5586)
ในความเข้าใจของมุสลิมทั่วไป ทุกที่ทั่วโลก สุรานั้นเป็นข้อห้ามอย่างชัดเจน ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์เข้ามาบทบาทในชีวิตมากขึ้น คำอธิบายเรื่อง มึนเมา สุรา แอลกอฮอล์ สารเสพติด มันซับซ้อนขึ้น และความรู้ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้ นักนิติศาสตร์อิสลาม วินิจฉัยเรื่องเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น
เริ่มจากคำแรกก่อน
ค็อมร ที่แปลว่าสุรา นั้นเป็นที่ต้องห้ามอย่างชัดเจน และนบีก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งมึนเมานั้นเป็นที่ต้องห้าม
ข้อค้นพบทางวิทยาศาตร์ในยุคสมัยต่อมา พบว่า สิ่งที่ทำให้ สุรา เป็นสิ่งมึนเมานั้นคือ แอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) ที่เข้าไปในร่างกายและจะมีขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้เกิดสารชื่อว่า แอลดีไฮด์ ซึ่งการมีสารตัวนี้มากๆ จะทำให้มีอาการมึน
ซึ่ง แอลกอฮอล์ที่ว่านี้ เป็นโครงสร้างทางเคมี ที่ประกอบด้วย คาร์บอน และ หมู่เมทิล ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้วในกระบวนการหมักที่มีน้ำตาลและจุลินทรีย์ เพราะการย่อยน้ำตาลของจุลินทรีย์ทำให้เกิด แอลกอฮอล์ขึ้นมา น้ำผลไม้แทบทุกอย่างที่ผ่านการหมัก (บรรจุกล่อง) จึงมีแอลกอฮอล์ อยู่ในนั้นด้วย แต่แอลกฮอล์ในน้ำผลไม้ไม่ได้ทำให้น้ำผลไม้อารอมเนืองจาก แอลกอฮอล์เหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจให้เกิด จุลินทรีย์ที่อยู่ก็เป็นปริมาณน้อยนิดที่กำจัดออกไม่หมด และปฏิกริยาที่เกิดแอลกฮอล์นั้นห้ามไม่ได้ ไม่ได้เหมือนกับการผลิตไวน์ เบียร์ หรือเหล้า ที่ตั้งใจใส่จุลินทรีย์ในน้ำหมักจากพืชต่างๆ เพื่อให้เกิดเอทิลแอลกอฮอล์ ให้ดื่มแล้วมึนเมา
มีข้อคำถามหลายครั้งที่ถามถึงแลอกฮอล์ที่ใช้ในการแพทย์ เช่นเป็นตัวทำละลายในยาน้ำหลายชนิด ซึ่งหมอและอุลามาอ์ก็เห็นตรงกันว่าใช้ได้ ตามเหตุผลที่ผมว่าไว้ข้างบน
โดยเจตนารมณ์ของชารีอะฮ การห้าม ค็อมร จึงน่าจะอยู่บนฐานของการฮารอม (ห้าม) ของสารใดๆก็ตามที่ทำให้สมองมึนเมา ไม่ได้กำจัดที่ชนิดของสาร (ไม่ควรจำกัดแค่เหล้า ไวน์ หรือเบียร์อีกต่อไป) สิ่งใดก็ตามเมื่อนำความมึนเมาแก่ผู้เสพควรจะฮารอมทั้งหมด
แล้วคราวนี้ ยาหลายชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อหวังผลการรักษาทางการแพทย์แต่มีฤทธิ์มึนเมา ก็ควรจะจัดอยู่ในหมวดฮารอมด้วยหรือไม่?
การที่วิทยาศาสตร์มีบทบาทในการศึกษาการทำหน้าที่ของสารเคมีแต่ละชนิด องค์ความรู้เรื่องประสาทวิทยา สรีระวิทยา และกายวิภาคที่เพิ่มมากขึ้น เราจึงสามารถทำความเข้าใจสารเคมีได้มากยิ่งขึ้นจากองค์ความรู้เหล่านี้ แม้ยาหลายตัวจะมีฤทธิ์ทำให้กดประสาทและทำให้มึนได้ เช่น ยากลุ่ม antihistamin, anxiolytic ยาคลายกังวล, muscle relaxant ยาคลายกล้าม, pain reliever ยาแก้ปวด แต่จุดประสงค์ในการผลิตเพื่อการใช้ในทางการแพทย์นั้นเป็นจุดประสงค์ที่มีประโยชน์ ฟัตวาจากอุลามาอ์จึงเห็นควรให้ใช้ยาเหล่านี้ได้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ส่วนการเอามาใช้เพื่อความบันเทิง เช่นกรณีที่ผู้ใช้สารเสพติดเอายากลุ่มนี้มาผสมกับน้ำกระท่อมกิน น่าจะเข้าไปหมวดของสิ่งต้องห้าม
คราวนี้จะเล่าอะไรให้ฟังเพิ่มเติม จากข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ พืชกระท่อมออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทแบบอ่อนๆเลย ถ้ากินน้อยๆก็จะเป็นสารกระตุ้นประสาท ถ้ากินมากๆก็จะออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท ความจริงแล้วกระท่อมไม่เคยอยู่ในสถานะพืชต้องห้ามมาตลอดหลายร้อยปีหลายพันปีที่มันจุติมาบนโลก ทั้งในทางกฏหมายสากล และกฏหมายของศาสนา
จนเมื่อวัยรุ่นเริ่มเอามาใช้ในทางที่ผิด คนเฒ่าคนแก่ที่เคี้ยวใบกระท่อมใช้เพิ่มแรงทำงานหรือใช้เป็นยาแก้ปวดแก้ท้องผูก อารมณ์เหมือนเคี้ยวใบหมากพลู ก็ต้องเดือดร้อนไม่มีใบอะไรให้เคี้ยวด้วยเพราะกฏหมายห้ามเสพ ห้ามขาย แถมโตะครูก็บอกว่าฮารอม และแน่นอนว่าเมื่อศึกษาฤทธิ์ทางประสาทแล้ว ยังไงก็ต้องเจอ (ไม่งั้นคงไม่เคี้ยวกันมาหลายร้อยปี) หากไม่มีใครไปใช้ในทางที่ผิด พืชเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ในสถานะถูกต้องต่อไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันถ้าวัยรุ่นเอาหมากเอาพลูไปเคี้ยวกันแล้วไม่ทำงานทำการ หมากพลูก็จะเข้าหมวดผิดกฏหมายทั้งแบบสากลและแบบศาสนาแน่นอน (เพราะหมากเป็นสารกระตุ้นประสาท)
ที่เล่ามาทั้งหมด จะบอกว่าหลักการศาสนาต้องพึ่งพาอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในเมื่อประชาชนศรัทธาในศาสนา กรอบที่ศาสนาวาง ประชาชนเชื่อและตาม หากนักวิชาการศาสนาไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ อาจจะทำให้ประชาชนได้รับโทษหรือเสียประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเช่นเรื่องที่ผมว่า
อ้างอิง
การแบ่งหมมวดยาเสพติดให้โทษในไทย
http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=1681
http://narcotic.fda.moph.go.th/…/NARCO-list-update-26.08.20…
http://narcotic.fda.moph.go.th/…/table-PHYCHO-list-update-2…
สุราและอิสลาม
http://www.islammore.com/view/2212
กระท่อม
http://www.emcdda.europa.eu/publicatio…/drug-profiles/kratom