Skip to main content

 

การเมืองตะวันออกกลาง

 

โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

 

ใครตามข่าวการเมืองตะวันออกกลางแบบไม่มีอารมณ์ร่วม คงจะสนุกและมองเรื่อง "การเมือง" ในตะวันออกกลางเป็นเรื่องการเมืองจริงๆ

แต่กลับกันถ้าติดตามข่าวพวกนี้แบบมีอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะการเลือกมีแนวคิดหรืออุดมการณ์ศาสนา (อิสลาม) แล้วคงปวดศีรษะน่าดู เพราะไม่รู้ค่ายไหนยังรักษาอุดมการณ์ของตัวเองที่เคยป่าวประกาศไว้ได้บ้าง

หากมองในฝั่งซุนนีย์ ซึ่งเป็นความเชื่อกระแสหลักของมุสลิมทั่วโลก กลุ่มก้อนที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองตะวันออกกลางแบ่งแบบหยาบๆ ตอนนี้คือกลุ่มแนวคิดอิควาน อันได้แก่ ฮามาส อิควานในหลายประเทศ กาตาร์ และ ตุรกี ส่วนอีกลุ่มคือกลุ่มแนวร่วมสาอุดี ที่นำโดยสาอุดีเอง เอมิเรต อิยิปต์ และอื่นๆ เดิมทีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตามในสายซุนนีย์ จุดตั้งต้นร่วมกันของทุกแนวคิดการเมืองของซุนนีต้องเริ่มจากการเป็นศัตรูแบบสุดขั้วกับ อิสราเอล และ ชีอะฮ (นำโดยอิหร่าน) ซึ่งเป็นจุดร่วมสำคัญของกลุ่มการเมืองแนวคิดซุนนีย์ ความเป็นขั้วตรงข้ามกันของ ซุนนีย์ กับ ชีอะฮ และ อิสราเอล นั้นมีความต่อเนื่องมายาวนานเป็นพันปี ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นประวัติศาสตร์อิสลามเสียด้วยซ้ำ

แต่กลับกลายเป็นว่า ตอนนี้ คงจะเห็นการสลายแนวคิดทางศาสนาในการบริหารจัดการดุลอำนาจในตะวันออกกลางและใช้แนวคิดการรักษาผลประโยชน์ของรัฐชาตินำมาใช้เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากทรัมป์ แสดงบทลูกพี่ใหญ่ของอิสราเอลอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี แถมยังกำหนดมาเยือนประเทศสาอุดีเป็นประเทศแรกๆหลังจากได้รับตำแหน่ง หลังการมาเยือนของทรัมป์ บทบาทของมกุฏราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน ก็เพิ่มขึ้นทัน พร้อมด้วยการสั่งซื้ออาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติสาอุจากสหรัฐ และท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อ อิสราเอล จากเดิมที่ไม่เจริญความสัมพันธ์ทางการทูต กลายเป็นว่ามีการเริ่มต้นเจรจาทางลับ และมีท่าทีทางการทูตที่นิ่มนวลมากขึ้นต่ออิสราเอล หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มเชิญชวนชาติพันธมิตรบอยคอตกาตาร์ ในฐานะที่ให้การสนับสนุนพรรคอิควาน ไม้เบื่อไม้เมาในการสร้างเสถียรภาพแบบที่มีสาอุดีเป็นใหญ่ในภูมิภาค

นอกจากนี้ อิยิปต์ที่มีผู้นำทหารเผด็จการซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคงจากสาอุดี กล่าวยกย่องอิสราเอลว่าเป็นชาติที่จะสร้างสันติภาพ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างการประชุมใหญ่ที่สหประชาชาติ แม้จะไม่มีท่าทีจากสาอุดีโดยตรง แต่แหล่งข่าวหลายแหล่งวิเคราะห์ตรงกันว่า การทูตของสาอุดี กับ อเมริกา (อันนี้ชัดเจนมาก) และ อิสราเอล ดีที่สุดในช่วงเวลานี้

มองไปยังฝั่งอิควาน ซุนนีย์กลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม ที่แต่ไหนแต่ไรก็ไม่ร่วมชายคาเดียวกับ ชีอะฮ ที่นำโดยอิหร่านแน่นอน ตอนนี้ก็เริ่มต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากยิ่ง เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีเออร์โดอาน ของตุรกี หนึ่งในเจ้าภาพใหญ่ของฝั่งอิควานเดินทางไปพบกับผู้นำอิหร่านที่เตหะราน

https://www.rferl.org/a/turkey-iran-iraq-kurd…/28772561.html

และช่วงเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านก็มาเยือนกาตาร์ ประเทศสปอนเซอร์ใหญ่ของอิควานในโลกมุสลิม

http://www.aljazeera.com/…/iran-javad-zarif-sheikh-tamim-ho…

ถ้ามองผ่านมุมมองของชีอะฮ ก็คงจะงงๆเหมือนกัน ว่าทำไมเป็นพันธมิตรกับซุนนีขึ้นมาได้ ทั้งๆที่ฆ่ากันจะเป็นจะตายในซีเรีย อิรัก และอื่นๆ แถมยังมีประวัติศาสตร์ที่เจ็บแค้นกันมาร่วมพันกว่าปี แต่ตอนนี้กลับมาจูบปากกันดังจ๊วบแล้ว

ป่านนี้แฟนการเมืองตะวันออกกลางในไทยแทบทุกแนวคิดคงเบรคแตกกันเป็นแถวๆ เอานะ มองเป็นเรื่องการเมือง ใครจะดีกับใคร ใครจะตีกับใคร ผลคงมาถึงไทยได้ไม่มาก ถ้าเอากรอบแนวคิดของศาสนาแบบซุนนีย์มาฟัตวา ป่านนี้ผู้นำทั้งหมดคงทำบาปมหันต์กันไปหมดแล้ว เพราะเล่นจับมือกับคนที่ถูกสอนให้เชื่อว่าเป็นศัตรูตลอดกาลทั้งนั้นเลย แต่นั่นแหละครับ การเมืองคือเกมส์แห่งอำนาจ ไม่รู้จะคิดเรื่องบาปบุญยังไงเหมือนกันครับ