7-11 กับบทบาทใหม่ บาร์เบียร์ชุมชน
โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
หลังมีข่าวล่าสุดว่า ห้างสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุด ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย อย่าง 7-11 เอาตู้กดเบียร์สดมาตั้งขายในร้าน ถึงแม้ก่อนหน้านี้คนที่ทำเรื่องนี้รายแรกคือห้าง Family mart ที่เอาเบียร์สดตราช้างเข้าไปขายในร้านเมื่อประมาณ 5 เดือนก่อน(1) แต่กระแสไม่ดังเท่าตอน 7-11 เอาเบียร์ลีโอมาขาย ในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีกับข้อมูลทางวิชาการในประเด็นแอลกอฮอล์บอกเลยว่า 7-11 และตู้กดเบียร์สดนี้จะทำทำให้สังคมไทยได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น เผื่อใครยังไม่รู้ว่า 8 ใน 10 คนของคนไทย เคยได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งเคยถูกคุกคามจนไม่ปลอดภัย (2) แค่นี้ก็ทำให้ประเทศต้องรับภาระจากการดื่มแอลกอฮอล์มากอยู่แล้ว ถ้าปัญหายิ่งเพิ่มก็คงไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนต่อไหน
ว่ากันเรื่องเบียร์สดก่อนนะครับ ว่าทำไมเบียร์ที่ขายตามร้านค้าปลีกทั่วไปจึงอันตรายกว่าเบียร์บรรจุกระขวดหรือกระป๋อง ความจริงเบียร์สดกับเบียร์บรรจุขวดมีที่มาจากโรงงานผลิตเดียวกัน กรรมวิธีในการผลิตเหมือนกัน ใช้วัตถุดิบเดียวกัน แต่ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้เบียร์สดเป็นที่นิมยมในหมู่นักดื่มมากกว่าคือ ความสดนี่แหละครับ บางคนเปรียบเปรยเหมือนกินปลาสดกับปลากระป๋องเลยทีเดียว ความสดที่เบียร์สดมีมากกว่าเบียร์บรรจุขวดมันมาจาก เบียร์สดนั้นไม่ต้องผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อ กระบวนการพาสเจอไรซ์เบียร์นี่ทำอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่มันทำให้รสชาติเบียร์แท้ๆหายไปพอสมควร แถมการเก็บบรรจุที่ต่างกันของเบียร์สดที่ต้องเก็บในถังเหล็กรักษาความเย็นใกล้กับจุดเยือกแข็งตลอดเวลา ปริมาณอากาศในถังที่น้อยกว่าเบียร์บรรจุขวด และถังนั้นทึบแสง ทั้งหมดนี้เป็นผลทำให้เบียร์สดรสชาติดีกว่าครับ(3)
ในประเทศไทย เดิมทีการจำหน่ายเบียร์สดจะขายในสถานบันเทิง หรือลานเบียร์ ไม่ปรากฏการขายใน
ห้างขายปลีกหรือร้านขายของชำมาก่อน ข้อกฎหมายที่กำหนดในเรื่องขายเบียร์ที่เกี่ยวข้อง ก็เลยยังไม่มี มีอยู่มาตรราหนึ่งที่อาจจะเฉียดๆบ้าง แต่ก็ยังไม่โดนเต็มๆนั่นคือมาตรา 30 ของ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 “ว่าด้วย การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัติโนมัติ” ซึ่งที่ 7-11 สุ่มเสี่ยงจะโดนคือการใช้เครื่องอัตโนมัติเติมเบียร์ลงแก้ว แต่ที่หลุดไปเพราะต้องไปจ่ายเงินกับพนักงาน ไม่ใช่หยอดตู้ ส่วนอีกมาตราที่ห้างค้าปลีกซิกแซกจนหลุดข้อควบคุมคือ มาตรา 32 ของพรบ.เดียวกัน “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ข้อนี้ 7-11 เลยเอาผ้ามาคลุมตู้เบียร์เพื่อไม่ให้เห็นชื่อยี่ห้อไปเสียเลย มันก็เลยไม่ผิดกฏหมายซะอย่างนั้นเลย (แต่คนซื้อรู้อยู่แล้ว ถามจากพนักงานก็ได้)
การมาของเบียร์สดในร้านค้าปลีกจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง
ในความพยายามควบคุมผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ได้มีการใช้มาตรการหลายรูปแบบ ทั้งมาตรการภาษี มาตรการลดการเข้าถึง และอื่นๆ การจำหน่ายเบียร์สดในร้านค้าปลีกเป็นช่องทางที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าแอลกอฮอล์ ซึ่งขัดกับมาตรการลดการเข้าถึงแอลกฮอล์ที่ฝ่ายที่ต้องการลดปัญหาของแอลกอฮอล์ต่อคนไทยกำลังทำอยู่ ผลกระทบโดยตรงเท่าที่พยายามรวบรวมมาได้มีดังนี้
-พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ
เพิ่มสารพัดความเสี่ยง เมื่อเบียร์สดขายตามร้านขายปลีก แทนที่จะนั่งกินตามบาร์เบียร์ หรือ สถานบันเทิงที่มีความมิดชิดมากกว่าร้านค้าปลีก ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสสื่อเชิญชวนให้บริโภคเครื่องดื่มในที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก การจำหน่ายเบียร์สดต้องรินใส่แก้ว ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการพกพากลับบ้าน ดังนั้นรูปแบบเดิมของการขายเบียร์สดคือต้องนั่งกินในร้าน การมาขายในร้านขายปลีก ถ้าไม่กินในร้านก็ต้องกินในบริเวณหรือละแวกนั้นๆ ซึ่งเป็นที่รโหฐาน (นึกภาพคนซื้อเบียร์สดมาดื่มกินกันเอิกเริก) ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสสื่อกระตุ้นการบริโภคสูงสุดย่อมหนีไม่พ้นเด็กและเยาวชนที่อาจมีวิจารณญาณไม่เท่าผู้ใหญ่ และกลุ่มเด็กและเยาวชนนี้ถ้าได้รับแอลกอฮอล์จะมีผลกระทบทางสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่หลายประการ และจากงานวิจัยในต่างประเทศ ก็พบว่าการสัมผัสสื่อกระตุ้นการขายแอลกอฮอล์ การมีร้านค้าปลีกแอลกอฮอล์มากขึ้นและการยอมรับพฤติกรรมการดื่มในที่สาธารณะ ทำให้ผลกระทบของแอลกฮอล์ต่อสังคมนั้นๆมากยิ่งขึ้น (4–7)
-ออกไปซื้อเบียร์สดต้องขับขี่ยานพาหนะ
เบียร์สดที่ต้องดื่มทันทีจะได้อรรถรสในการดื่ม แต่ลองคิดดูว่าคนที่จะเข้ามาซื้อเบียร์สดนั้นเดินทางมาร้านสะดวกซื้ออย่างไร ถ้าเดินเท้ามาในละแวกใกล้บ้านอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่หากขับขี่ยานพาหนะเข้ามาซื้อหรือดื่มผลกระทบคงมากขึ้น (เพราะซื้อมาแล้วคงต้องดื่มทันที แล้วขับขี่ยานพาหนะกลับ) งานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจจับผู้ขับขี่ที่เมาสุราคงมากขึ้น หากร้านสะดวกซื้อมั่นใจในความต้องการของตลาดว่ามีแน่ๆ จึงจำหน่ายสินค้าและบริการรูปแบบนี้ออกมา จึงพอคาดเดาได้ว่าคงมีคนดื่มทันทีที่ซื้อมากขึ้น คนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์คงต้องรับผิดชอบชีวิตกันเอาเอง จากความเสี่ยงที่มากขึ้น เรื่องเหล่านี้มีงานวิจัยเยอะแยะมากมายที่พิสูจน์แล้วว่าการปล่อยให้ผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลที่เลวร้ายอย่างไรบ้าง ซึ่งคนไทยทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว และคงชาชินกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับกันมามาก
-เหล้ามือสอง ภัยคุกคามคนไทย
อย่างที่เรียนไปข้างต้นแล้วว่าคนไทยที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ 8 ใน 10 เคยได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ และ 4 ใน 10 เคยได้รับภัยคุกคาม เช่น การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ เหตุทะเลาะวิวาท ถูกทำลายข้าวของ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่คนไทยเห็นจนชินตา และถ้าแอลกอฮอล์ซื้อง่ายเสพง่ายยิ่งขึ้น เดินตามท้องถนนก็เห็นคนถือแก้วเบียร์กินเหมือนชาเขียวแล้วคงสนุก แนวโน้มคงจะมีภาวะคุกคามต่อความปลอดภัยของคนทั่วไปในสังคมมากขึ้น ประเด็นเรื่องเหล้ามือสอง ต้องคิดเหมือนกรณีบุหรี่มือสอง หากได้ลองเดินทางไปในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งพม่า มาเลเซีย หรือ อินโดนีเซีย ที่จิตสำนึกเรื่องการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะยังเท่าในเมืองไทย ไปร้านอาหารหรือที่สาธารณะอื่นๆ ก็มีคนสูบบุหรี่เต็มไปหมด ควันบุหรี่ที่คนไม่สูบแต่อยู่ปะปนกับคนสูบเรียกว่าควันบุหรี่มือสอง ซึ่งพิษภัยไม่น้อยกว่าควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูบเข้าไปเลย ดังนั้นเรื่องภัยจากเหล้ามือสองคล้ายกับบุหรี่ แม้คนในสังคมเดียวกันไม่ใช่นักดื่มทั้งหมด แต่หากการดื่มในที่สาธารณะอย่างเอิกเริกแล้ว ความเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับปัญหาของแอลกอฮอล์คงมากขึ้น
ก่อนจะจบคงต้องขอพูดถึงทั้งห้างปลีกและบริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่คิดค้นวลีเลี่ยงบาลีกฎหมาย เอาเบียร์สดมาวางขายว่า ช่วยมารับผิดชอบผลกระทบจากแอลกอฮอล์ให้คนไทยหน่อยได้ไหม พวกท่านก็หาช่องว่างของกฎหมาย หาเจอก็ใช้โอกาสทันที เน้นโกยกระตังเข้ากระเป๋าลูกเดียว ไม่สนจริยธรรมอะไรเลย รู้ทั้งรู้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งยังใส่ใจกับขนบธรรมเนียมและจริยธรรมอยู่ และคนไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากมายแล้ว ยังหวังจะเพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ของตัวเองอย่างเดียว รวยล้นฟ้าแล้ว ถ้าเป็นไปได้ มาจ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิต ผู้รับเคราะห์ จากแอลกอฮอล์ทั้งหมดได้ก็ดีนะครับ
อีกเรื่องคือ ท่าน ผอ.สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอแสดงความเห็นถึงท่านหน่อยที่ชี้แจงเรื่องการขายเบียร์สดในร้านค้าปลีก ด้วยประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น ถึงแม้ท่านจะข้อกฎหมายรองรับ แต่ถ้าจะดีกว่านี้ขอให้ท่านพิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นๆด้วย กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามทางสุขภาพ ท่านรับผิดชอบในองค์กรที่ต้องดูแลภัยคุกคามจากแอลกอฮอล์ แต่ดันเอออให้เขาขายกันง่ายๆ แบบนี้ประชาชนจะไปหวังพึ่งใครครับท่าน
1. Tangsiri. เบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ กับโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หรือแค่ Gimmick เล็กๆ ในการสร้างกระแส [Internet]. Brand Inside. 2017 [cited 2017 Oct 6]. Available from: https://brandinside.asia/draft-beer-in-convinient-store/
2. May. WHO หนุนทั่วโลกจัดการปัญหาภัยเหล้ามือสอง คนไม่ดื่มกระทบพบคนไทย 80% โดนคุกคาม [Internet]. ข่าวสด. 2560 [cited 2017 Oct 6]. Available from: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_236406
3. (8) “เบียร์สด” สดกว่า “เบียร์ขวด” จริงเหรอวะ ??? [Internet]. [cited 2017 Oct 6]. Available from: https://www.facebook.com/notes/beercyclopedia-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A...
4. Flynn A, Wells S. Community indicators. Alcohol Res Curr Rev. 2014;35(2):135–49.
5. Richardson EA, Hill SE, Mitchell R, Pearce J, Shortt NK. Is local alcohol outlet density related to alcohol-related morbidity and mortality in Scottish cities? Health Place. 2015 May;33:172–80.
6. Anderson, P., A. de Bruijn, Angus, K., R. Gordon, G. Hastings. Impact of alcohol advertising and media exposure on adolescent alcohol use: a systematic review of longitudinal studies. Alcohol Alcohol. 2009;(44):229–243.
7. Reboussin BA, Song E-Y, Wolfson M. The Impact of Alcohol Outlet Density on the Geographic Clustering of Underage Drinking Behaviors within Census Tracts. Alcohol Clin Exp Res. 2011 Aug;35(8):1541–9.