หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทความที่ตีพิมพ์ใน นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 7 พ.ย.53 และเซ็กชั่นคติชนใน นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ย.53
ก่อนพายุจะซัดกระหน่ำภาคใต้จนหลายเมืองจมน้ำเพียงข้ามคืน มีความเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้นใน ‘พื้นที่สีแดง’ โดยมีแรงขับเคลื่อนผ่าน ‘เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ รวมไปถึงคนทำงานภาคประชาสังคม และนักวิชาการในพื้นที่ที่นิยมชมชอบในงานถ่ายภาพ
ผลของการระดมความคิดก่อให้เกิดนิทรรศการ ‘ภาพข่าวจังหวัดชายแดนใต้’ ที่สวนสาธารณะภายในสนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคม ก่อนจะย้ายไปจัดแสดงต่อที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา TK-PARK และได้รับการตอบรับจนทางสถานที่ขอขยายเวลาจัดแสดงต่อไปจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของนิทรรศการครั้งนี้ คือ ใช้ภาพถ่ายที่หลากหลาย ทั้งภาพเหตุการณ์ความไม่สงบ ภาพวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมชาติอันงดงาม รวมถึงภาพวิถีชีวิตที่ดูชินตาราวกับเป็นเรื่องธรรมดา แต่ล้วนมี ‘ความหมาย’ ที่สามารถสะท้อน ‘สภาพความเป็นจริง’ ให้เห็นการดำรงอยู่ของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างตรงไปตรงมา ผ่านมุมมองของผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘คนใน’
‘ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงความจำเป็นของการจัดนิทรรศการภาพข่าวฯ โดยระบุว่า ช่างภาพซึ่งทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สีแดง คือ ‘คนใน’ ซึ่งจะช่วยให้ภาพถ่ายสะท้อนความเป็นจริงทั้งสองด้านของสังคมได้ ทั้งในส่วนที่เป็นสถานการณ์ความรุนแรง และภาพวิถีชีวิตในเชิงวัฒนธรรม เชิงสังคม และความเป็นมนุษย์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปยังมองไม่เห็น
ด้วยเหตุนี้ การบันทึกภาพข่าวในฐานะที่เป็น ‘ประจักษ์พยาน’ ของสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สีแดง จึงมิอาจนำเสนอแต่แง่มุมที่งดงาม เพราะมี ‘ความรุนแรง’ เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ แต่ภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘เสี้ยวแห่งสัจจะ’ หรือ Moment of truth ตามคำนิยามของการบันทึกภาพข่าวตามหลักสากล สามารถนำเสนอได้ในหลากหลายแง่มุม และภาพบางภาพอาจกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมอีกด้วย
‘ยู่สิน จินตภากร’ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า บรรยากาศและอารมณ์ของผู้คนที่ปรากฏในภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการสะท้อนถึงอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกตัวอย่างภาพที่ตนประทับใจ เช่น ภาพเด็กชายชาวมุสลิมคนหนึ่งกำลังจ้องมองผ่านรูกระสุนบนกระจกมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จากเหตุการณ์กราดยิง ซึ่งทำให้ผู้ที่กำลังละหมาดอยู่ด้านในเสียชีวิต 10 รายและบาดเจ็บอีก 12 ราย
แววตาของเด็กชายในภาพเต็มไปด้วยความสงสัย เช่นเดียวกับที่คนในสังคมก็อาจตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างไม่จบสิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีภาพแห่งความหวังและความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพการเฉลิมฉลองวันฮารีรายอ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม หรือภาพของการสวดฮายัต เพื่อขอให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ต้องการความสงบสุขและมีความพยายามที่จะนำสังคมกลับสู่ภาวะปกติสุขร่วมกัน
เช่นเดียวกับที่ ‘ยาซมี มะ’ นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา ระบุว่า ภาพบางภาพเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่เห็นแล้วรู้สึกประทับใจ โดยยกตัวอย่างภาพ ‘กลับบ้าน’ ซึ่งเป็นภาพชาวบ้านนั่งอยู่เต็มท้ายรถกระบะเพื่อเดินทางกลับบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตในสังคมชายแดนใต้ที่ต้องคอยดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ยังไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ หากใครต้องการไปไหนมาไหนจึงจำเป็นต้องมีการนัดแนะและอาศัยนั่งท้ายรถของเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่ ‘โนรี แสงรายา’ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฎยะลา ผู้เข้าชมนิทรรศการอีกคนหนึ่ง ระบุว่า ภาพหลายภาพทำให้เห็นรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ‘พื้นที่ความรุนแรง’ และเป็นสิ่งที่ ‘คนส่วนกลาง’ น่าจะมีโอกาสได้มาเห็น เพราะเป็นการถ่ายทอดมุมมองที่หลากหลาย แต่ดูแล้วเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจโดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย เพราะจะเห็นได้ว่าทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องเผชิญกับความรุนแรงโดยหน้าที่ รวมถึงชาวบ้านที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่สงบและความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ ทำให้เห็นภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริง
ตัวอย่างภาพของ กูยิ อีแต ช่างภาพกลุ่ม InSouth ที่ใช้ชื่อภาพว่า ‘ผ่านด่าน’ เป็นภาพหญิงสาวชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านช่องทางตรวจค้นของฝ่ายความมั่นคง ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานถืออาวุธสงครามสภาพพร้อมใช้งานยืนคุมเชิงอยู่ด้านหน้าทางเข้า สามารถสะกิดข้อคาใจของใครต่อใครว่า การตั้งด่านเช่นนี้ควรถูกยอมรับให้เป็น ‘ภาวะปกติ’ ของคนในพื้นที่สามจังหวัดหรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องแสดงถึงภาวะฉุกเฉินที่ฝ่ายรัฐใช้ประกาศอ้าง ในเมื่อการสุ่มตรวจค้นผู้คนที่ผ่านไปมาไม่สามารถลดปริมาณการก่อเหตุลงได้ ขณะที่รูปแบบการจัดวางเครื่องกีดขวางก็ยังเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ
ภาพผ่านด่านอาจสะท้อนมุมมองและความนึกคิดของชาวบ้านผู้ต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการบังคับใช้กฎระเบียบของทางการ แต่ภาพในอีกด้านหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ‘ตากแดด’ ของ อมรรัตน์ ตั้งฤกษ์วราสกุล ช่างภาพอิสระ จังหวัดปัตตานี ก็สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์มีเลือดมีเนื้อและมีหนาวมีร้อนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านตรวจ ที่ต้องยืนหน้าดำตากแดดตากลม อยู่ข้างป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ซึ่งมีรูปผู้บังคับบัญชาที่ถูกแดดเผาจนสีซีดจาง แต่เจ้าหน้าที่ ‘ตัวจริง’ ก็ยังส่งสายตายิ้มหวานให้ตากล้องสาวบันทึกภาพได้
การรับรู้ข่าวสารจากสื่อโดยทั่วไป ที่ผู้คนมักเลือกเสพข่าวอย่างฉาบฉวย ทำให้หลงลืมที่จะตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลกับการจัดการภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง และภาพเครื่องตรวจจับ GT200 สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี เพราะในช่วงที่เจ้าหน้าที่ยังใช้งานเครื่องมือแสนแพงนี้อย่างแพร่หลาย ช่างภาพข่าวในพื้นที่ได้พยายามตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของเจ้าเครื่องมือชิ้นนี้ผ่านภาพข่าวหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็นับว่านานกว่าสังคมจะฉุกคิดและเริ่มตั้งคำถามต่อหน่วยงานผู้อนุมัติจัดซื้อ
จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกด้านลบระหว่างรัฐกับประชาชนที่เคยถูกเจ้าเครื่องมือนี้ชี้และตกเป็น ‘เป้าหมาย’ ให้ทางฝ่ายความมั่นคง‘เชิญตัวไปซักถาม’ ที่ค่ายทหาร และกลายเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมยังเป็นข้อกังขาสำหรับคนในสามจังหวัด
ทั้งที่หนทางนี้ นับว่าเป็นวิธีที่จะก่อร่างสันติภาพให้กลับคืนสู่สังคมชายแดนใต้ได้อย่างดีที่สุด
ในสภาวะเช่นนี้ ภาพที่ชื่อว่า ‘แบบฝึกหัดคนสามจังหวัด’ ของ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ช่างภาพจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นภาพชาวบ้านกำลังเข้าร่วมอบรมในกิจกรรม‘ศาลจำลอง’ เพื่อเรียนรู้กระบวนการยุติธรรมและวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องอยู่ในศาล จึงเป็นภาพตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของชาวบ้านในการที่จะรักษาสิทธิโดยชอบธรรมของตัวเองเอาไว้
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอภาพเหตุการณ์และชีวิตผู้คนในพื้นที่สีแดงจะต้องมีการ‘ถ่วงดุลความรู้สึก’ และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับคนในพื้นที่ด้วย ซึ่ง‘นครินทร์ ชินวรโกมล’ ช่างภาพข่าวเครือเนชั่นประจำจังหวัดยะลา ระบุว่า หากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ช่างภาพจะต้องบันทึกเหตุการณ์อย่างไม่มีทางเลี่ยง แต่ก็ต้องเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
ตัวอย่างภาพ ‘สลามัต ฮารีรายอ’ ของ นครินทร์ หรือภาพ ‘Growing’ ของ ฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระกลุ่ม Seed ก็ช่วยฉายให้เห็นภาพรอยยิ้มที่ยังคงมีอยู่มากมายของผู้คนที่นี่ รวมถึงความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนท่าทีของฝ่ายภาครัฐให้ดูเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น ตัวอย่างภาพ ‘ลุยโคลนเพื่อสันติ’ ของ ตูแวดานียา มือรีงิง ช่างภาพสำนักข่าว AFP ประจำจังหวัดปัตตานี และสำนักข่าว Aman News ซึ่งเป็นภาพทหารสังกัดกองทัพอากาศ ลงคลุกดินคลุกโคลนแข่งขันชักเย่อกับชาวบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามสร้างสมดุลทางความรู้สึกในสภาวะความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่เช่นกัน
‘ลิวอิส เอ็ม. ไซมอนส์’ นักเขียนมือรางวัลพูลิตเซอร์ ประจำนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค สื่อชาวต่างชาติที่เข้าร่วมชมนิทรรศการ ระบุว่า ภาพที่จัดแสดงในครั้งนี้มีทั้งความรุนแรงและความสงบสุข ซึ่งน่าจะตรงกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่อยากให้เกิดความสงบสุข แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น และภาพเหล่านี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์ผ่านมุมมองของช่างภาพซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จึงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนในสังคมได้
ทั้งนี้ ไซมอนส์ได้อ้างอิงถึงการทำงานของช่างภาพข่าวทั่วโลกซึ่งเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ในยุคสงครามเวียดนาม และได้บันทึกภาพที่สะท้อนให้เห็นความรุนแรงและโหดร้ายของสงคราม จนส่งผลสะเทือนจิตใจผู้คนทั่วโลก และนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รวมถึงการกดดันให้ยุติสงคราม การใช้ภาพถ่ายสื่อสาร ‘สภาพความเป็นจริง’ ในพื้นที่ จึงมีส่วนช่วยให้ทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ชายแดนใต้ได้ทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป และภาพถ่ายหลายใบเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า ท่ามกลางความรุนแรงยังมี ‘คนใน’ ที่พยายามส่งเสียงสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อป้องกันมิให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นสภาวะปกติ และเพื่อกระตุ้นเตือนมิให้ ‘คนนอก’เสพข่าวคราวความรุนแรงจนมองข้ามความพยายามที่จะสร้างสันติวิถีของคนในชุมชน
หากจะมีกระบวนการใดๆ ในนามของการรักษาความสงบหรือประสานสามัคคีในพื้นที่สีแดง ภาพเหล่านี้จะเป็นการสื่อสารทางตรงจากคนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ โดยมิได้เลือกมองแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง
เพราะในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ไม่ได้มีแค่ ‘เหยื่อ’ หรือ ‘วีรบุรุษ’ แต่ยังมี ‘ความเป็นมนุษย์’ ของคนในพื้นที่ให้ต้องคำนึงถึงอีกด้วย
เรื่อง : คณะทำงานกลุ่ม WeWatch
ภาพ : เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้