ความแปลกหน้าของมุสลิมในสังคมไทยช่วงนี้
อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์ล่าสุดเกี่ยวแปลกหน้าของมุสลิม อ่านเพิ่มเติมใน (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน – 5 ตุลาคม 2560และ6 – 12 ตุลาคม 2560 https://www.matichonweekly.com/featured/article_58920 ) ในขณะเดียวกันยังมีวิถีวัฒนธรรมมากมายของมุสลิมที่ปฏิบัติต่างจากคนไทยทั่วไปจนทำให้คนไทยทั่วไปรู้สึกว่ามุสลิมเป็นคนแปลกหน้าในสังคมไทย ความแปลกหน้าดังกล่าว มุสลิมพยายามยืนหยัดในหลักการศาสนาอิสลามและสามารถปรับปรนกับยุคสมัยแต่ต้องไม่ผิดหลักการศาสนาอิสลาม การดำรงตนวิถีดังกล่าวจะสอดคล้องกับวัจนศาสดาได้เคยทำนายไว้
จากการบันทึกของอิหม่ามอะฮฺหมัด ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด กล่าวว่า
(( بدأ الإسلام غريبا وسيعود غريبا كما بدأ، فطوبي للغرباء ))
ความว่า “ อิสลามนี้เริ่มด้วยลักษณะแปลกหน้า อิสลามเกิดมาในโลกนี้เปรียบเสมือนเป็นคนแปลกหน้าและจะกลับสู่สภาวะแปลกหน้าดังเดิม ดังนั้น ความดีจงประสบแก่คนแปลกหน้าทั้งหลาย”
ความแปลกหน้าของมุสลิมไทยยิ่งชัดขึ้น และถกเถียงมากขึ้นในโลกโซเซียลโดยเฉพาะเรื่องวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และล่าสุดเรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับข้าราชการและประชาชนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560
หากไม่อธิบายอาจทำให้คนไทยเข้าใจผิดว่ามุสลิมไม่จงรักภักดี ยิ่งสร้างความแปลกหน้าให้กับมุสลิมและเพิ่มความขัดแย้ง
จากการประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องนี้น่าจะเป็นทางออกและสร้างความเข้าใจต่อมุสลิมไทยมากขึ้นถึงความแปลกหน้าดังกล่าว (โปรดดูคำประกาศดังกล่าวใน https://www.facebook.com/samnakjula/)
อดีต ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามก็ไม่ต้องปฏิบัติ จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่านก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการกราบ ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า \ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง\" จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้ กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939) เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264) นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571) ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันสำคัญต่างๆ
ในขณะเดียวการปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้นไม่ตรงกับใจ การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการว่า จะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบายและการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นขอบเขตที่มุสลิมจะทำได้และหน่วยงานของรัฐไม่ควรบังคับประชาชนหรือข้าราชการในพื้นที่กระทำการที่เลยขอบเขตนี้"
ไม่เพียงเรื่องนี้แต่ยังมีอีกมากในแนวทางปฏิบัติซึ่งคำตอบอดีตจุฬาราชมนตรี ( ประเสริฐ มะหะหมัด )23 ข้อ เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลาม (โปรดดู sys.dra.go.th/module/attach_media/sheet2320101223041437.pd)
ดังนั้นฝากมุสลิมว่าให้ยืนหยัดบนความแปลกหน้าดังกล่าวและต่างศาสนิกเข้าใจความแปลกหน้ามุสลิมในสังคมไทย