Skip to main content

 

"เรียนความรู้ เรียนความดี เรียนทำงาน" หัวใจการศึกษาจากในหลวงรัชกาลที่ 9

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 
ในภาพอาจจะมี 4 คน, ผู้คนกำลังนั่ง
 

วันที่ 4 เมษายน 2558 โรงเรียนประทีปศาสน์ (ปอเนาะบ้านตาล) นครศรีธรรมราช จัดงานฉลองครบรอบ 75 ปี มีศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานร่วมเปิดงานพร้อมท่านจุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าภาพ ผมไปร่วมงานด้วย ส่วนที่ประทับใจมีหลายเรื่อง มากที่สุดเห็นจะเป็นการบรรยายพิเศษขององคมนตรีอ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่าด้วยการศึกษาของประเทศไทย

หลังเสด็จสวรรคต ข้อมูลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพรั่งพรูออกมามากมายทำให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อการศึกษาไทยที่ถดถอยลงอย่างน่าเป็นห่วง สิ่งที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำอยู่เสมอคือหน้าที่ของโรงเรียนต้องสร้างคนดีให้กับสังคม ในวันนั้นที่โรงเรียนประทีปศาสน์ องคมนตรีเล่าให้ฟังน่าประทับใจเกี่ยวกับในหลวงกับการศึกษา ผมนำความนี้ไปเล่าต่อหลายครั้ง

ท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย เล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงกล่าวถึงการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยสิ่งที่ครูต้องสอนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนนั้นอย่างน้อยต้องพร้อมในสามประการ นั่นคือ "เรียนความรู้ เรียนความดี และเรียนทำงาน" ง่ายต่อความเข้าใจอย่างยิ่ง

สิ่งที่โรงเรียนต้องดำเนินการให้นักเรียนได้เรียนคือการเรียนความรู้เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้เพื่อประโยชน์สำหรับอนาคตตนเองและสังคม การเรียนความดีเพื่อให้นักเรียนประพฤติตนในคุณธรรมเป็นคนดีก่อนคนเก่ง ไม่เพียงช่วยให้นักเรียนรอดเท่านั้นยังทำให้สังคมประเทศชาติรอดพ้นจากความชั่วทั้งปวงพร้อมกันไปด้วย การเรียนทำงานเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ กระทั่งทำงานเป็น เจียรนัยตนเองกระทั่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า

สิ่งที่ทรงสอนพสกนิกรนั้นง่ายต่อความเข้าใจเสมอ หัวใจการพัฒนาที่ทรงสอนข้าราชการเพื่อใช้ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่ว่า " เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ง่ายเพียงใด หัวใจการเรียนที่ทรงสอนครูและนักเรียนที่ว่า "เรียนความรู้ เรียนความดี และเรียนทำงาน" จึงง่ายต่อความเข้าใจและต่อการนำไปปฏิบัติไม่ต่างกัน