ทริปลืมวันลืมคืน ป่าเขานาเลและเมืองเก่า เกิดขึ้นในช่วงที่มีการวางแผนการทำงาน วางแต่ละแผนในแต่ละเดือนให้เข้าที่เข้าทาง แล้วมาสะดุดที่เดือนตุลาคม “เฮ้ย ตุลานี้ เด็กๆ ปิดเทอมนิหว่า” เอาล่ะ ถ้าเด็กๆปิดเทอม เราก็พอมีเวลาพอสมควรที่จะปลีกตัวเองจากการสอนเพื่อมาเสพสุขจากการเดินทาง จึงได้ทำเรื่องลาพักร้อน แล้วหาสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายสถานที่ที่สามารถผ่อนคลายได้ แต่ช่วงที่เราหยุด ดันไม่มีเพื่อนหยุดเหมือนเราซะด้วยสิ ก็ไม่เป็นไร เดี่ยวลองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่เรารู้จักคนในพื้นที่ดีกว่า ผุดหนึ่งจังหวัดคือ ตรัง เป็นจังหวัดที่คุ้นเคยจากการที่เคยไปทำงานในพื้นที่มาแล้ว เอาล่ะ จังหวัดนี้เป็นจังหวัดแรกที่เราจะไปพักผ่อน ส่วนภารกิจในการเที่ยวในจังหวัดตรังนี้ ให้อารมณ์ เวลา และ อากาศเป็นคนนำพาแล้วกันไม่มีการวางแผนอะไรมากมาย
ฉันใช้เวลาในจังหวัดตรังสามวัน ตั้งแต่วันที่ 13-15 ตุลาคม 2560 วันที่ 13 ตุลาคม เพิ่งถึงในพื้นที่ เกือบเย็นแล้วล่ะสิ แต่บรรยากาศฝนเพิ่งหยุดตก ไอหมอกออกจากภูเขาที่อยู่สองข้างทางในหมู่บ้าน มันคงจะดีถ้าได้นั่งดิ่มน้ำชา สักแก้ว ติ่มซำสักจาน และโชคก็เข้าข้าง เมื่อพี่สาวในพื้นที่ชวนไปหาของทานให้คลายหนาว
ร้านบังติ่มซำ เป็นร้านที่ตั้งอยู่ริมถนน บนฟุตบาต ใกล้กับธนาคารกสิกรไทย ในเมืองกันตัง อาหารถูกปาก แถมราคาสบายกระเป๋า ยิ่งได้มานั่งตอนช่วงค่ำๆ บรรยากาศก็จะเย็นหน่อยๆ เข้ากับน้ำชา และติ่มซำร้อนๆที่เสริฟ์บนโต๊ะ
เมื่ออิ่มหนำสำราญก็ได้เวลากลับเข้าหมู่บ้าน และเข้าบ้าน ป้ากวาง (ครูพี่เลี้ยงในพื้นที่สมัยทำงานในชุมชน) ทริปนี้ ได้รับคำเชิญชวนจากเธอ ให้ซุกหัวนอนตลอดทั้งทริปที่ตรัง โดยมีน้ำหวาน(หลานสาวของป้ากวาง)เป็นเพื่อนคุยในค่ำคืนนี้
บรรยากาศที่นี่ยามค่ำคืนจะเงียบ เพราะชาวบ้านที่นี่จะนอนตั้งแต่หัวค่ำเพราะต้องเตรียมตัวไปกรีดยางหากวันใดที่ฝนตกชาวบ้านก็จะไม่สามารถกรีดยางได้ แต่สามารถลอกจากอยู่กับบ้าน ซึ่งอาชีพหลักของคนที่กันตัง คือ กรีดยาง และ ประมง ส่วนอาชีพรอง ลอกจาก เพื่อทำใบจาก ส่งขาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านมักจะพูดว่า รายได้จากการทำจาก จะแซงรายได้จากการกรีดยางเสียอีก อีกอย่างที่สามารถสัมผัสในช่วงค่ำคืนคือ เสียงจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เนื่องจากพื้นที่ที่มาอยู่เป็นพื้นที่ที่มีทั้งหุบเขา ล้อมรอบเลยก็ว่าได้ จึงมักจะได้ยินเสียง สัตว์เล็กๆในป่าหลังบ้านที่คอยส่งเสียงร้องบรรเลงให้คลายความเงียบสงัดในหมู่บ้านได้
ป้ากวางบอกว่า เช้าๆ กินกล้วยสักลูก สอง ลูก จะดีต่อสุขภาพ จึงให้น้ำหวาน หลานสาวผู้น่ารักเดินไปหยิบกล้วยบนโต๊ะ และป้าบอกว่ากลัวย หวีนี้ มาจากต้นกล้วยหน้าบ้าน เลยจัดการให้สาวน้อยนำกล้วยมาถ่ายกับต้นกล้วยด้วยซะเลย
เกือบจะเก้าโมงเช้าแหละ เลยขับมอไซค์เข้าไปทักทาย ลุงล่ำ (ครูพี่เลี้ยงอีกท่านที่ดูแลสมัยทำงานในชุมชน ) เมือถึงบ้านลุงล่ำ เหมือนโชคจะเข้าข้าง เพราะลุงกำลังจัดเตรียมรถพ่วงหรือ โชเล่ เพื่อออกทะเลไปหาหอย และพาหลานของลุงอีกสามคนไปเล่นน้ำ
ทะเลที่เราจะไปเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ของปะเหลียนซึ่งชาวบ้านในตำบลวังวน และ ตำบลใกล้เคียงมักจะประมงในแม่น้ำแห่งนี้ในการหา ปลา และ หอยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่หอยที่มักจะพบ คือ หอยแมงภู่ หอยปะ และ หอยนางรม ส่วนปลา ก็จะมีหลากหลายชนิดตามแต่ละช่วง
พวกเราออกทะเลตั้งแต่เช้า จนถึง บ่ายแก่ แล้วขึ้นฝั่ง พร้อมกับหอยปะ เกือบครึ่งถุง ความสนุกในการหาหอยปะคือ การที่ต้องลุ้นว่า สิ่งที่เหยียบบนทรายใต้น้ำนั้นใช่หอยหรือเปล่า เมื่อรู้สึกว่าใช่หอยแน่ๆ ต้องรีบดำน้ำเพื่อขุดมันขึ้นมาทัน แต่ถ้าเจอหอยปะที่เล็กก็จะปล่อยไปก่อน เพื่อให้หอยปะเหล่านั้นได้เจริญเติบโตให้เต็มที่เสียก่อน ความสนุกที่มีมากกว่าการ งมหาหอยคือ การสำลักน้ำขณะที่ดำน้ำเพื่อหาหอยนี่แหละ
ตกเย็นได้ยืมรถมอไซค์ของลุงล่ำเพื่อไปเยี่ยม ปะ กับ มะ อีกหมู่บ้านหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านที่พัก คือ บ้านแหลม เป็นหมู่บ้านที่มีมุสลิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับทะเลปะเหลียน หรือทะเลที่เราไปหาหอยนั่นแหละ ซึ่งภาพแรกที่เข้ามาในความทรงจำก่อนที่จะเข้าไปบ้านแหลม คือ ภาพของชาวบ้านที่ลอกจาก หรือ บรรจุใบจากใส่ถุง กลายเป็นภาพที่ชินตาไปเสียแล้ว เพราะอาชีพการทำใบจากสามารถสร้างรายได้มากกว่าการอาชีพกรีดยางเสียอีก จนทำให้ หมู่บ้านบางหมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอกันตัง ได้ฉายาว่า "ชุมชน ปากกัดตีนถีบ"
กลับมารอบนี้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็น รอยยิ้ม มิตรภาพ สายสัมพันธ์ จากคนในหมู่บ้าน แต่ที่เปลี่ยนไปเยอะคือ เด็กๆในหมู่บ้านต่างโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว บางคนที่ขนาดจำไม่ได้ เด็กสมัยนี้ โตเร็วจริงๆ 555 เมื่อทักทายกันเสร็จแล้ว ท้องฟ้าก็ใกล้จะมืดเลยขอตัวกลับไปบ้านป้ากวาง ขณะที่บิดมอเตอร์ไซค์อยู่นั้น หมอกที่อยู่เบื้องหน้าก็ได้ออกมาโชว์จังหวะเต้นรำอย่า่งสวยงามให้ผู้คนได้ชื่นชมมันอย่างอิ่มสุข ตำบลวังวน อำเภอกันตัง ถือเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีทุนศักยภาพของชุมชน ทุนทรัพยากรของหมู่บ้านค่อนข้างมาก อีกทั้งความเป็นกันเองของชาวบ้านทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสงบ เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย นับเป็นชุมชนที่สโลไลฟ์กันเลยทีเดียว
วันรุ่งขึ้นได้นัดกับเพื่อนที่อยู่ในบ้านแหลม เป็นเพื่อนที่รู้จักสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องบังเอิญขณะที่ทำงานในชุมชนได้รู้จักกับนางจนสนิท วันนี้จึงได้ชวนนางไปถ่ายรูปเมืองเก่าในเมืองทับเที่ยง เราประเดิมด้วย ต้นยางต้นแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เมืองกันตัง ตรงข้ามกับ ปั้มน้ำมัน ปตท. อยู่ริมถนน หาได้ไม่ยาก
สถานีรถไฟกันตัง
สถานีรักเป็นร้านกาแฟที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟกันตัง เป็นร้านกาแฟที่ตกแต่งได้อย่างน่ารัก และ คลาสิคในเวลาเดียวกัน มาร้านนี้ทีไรจะพลาดไม่ได้เลยกับมะม่วงเบาปั่น ถ้ามีพริกเกลือโรยเข้าไปด้วยนิห ฮื้ม ใช่เลยอะ 555 และสถานีรัก ยังบริการจักรยานให้เช่าปั่นในเมืองกันตังได้อีกด้วย
ร้านเตอรัง ถือว่าเป็นร้านติ่มซำมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ในเมืองทับเที่ยง มีอาหารหลากหลาย แถมรสชาติใช้ได้เลยทีเดียว
หลังจากฝากท้องไว้ที่นี่ ไปสองมื้อในเวลาเดียวกัน จึงเดินทางต่อตามหาเมืองเก่าในทับเที่ยง เราตัดสินใจจอดรถที่ศาลากลางแล้วเดินเข้าซอย เข้าตลาด เกือบทุกซอย ความรู้สึกตอนนั้นไม่เหนื่อย เพราะตึกเก่า รายล้อมเต็มไปหมด ฉันมองว่าตึกเหล่านี้ มันมีเสน่ห์ และ มีความคลาสสิคอย่างลงตัว ชวนให้เดินตามหาจนไม่รู้สึกเหนื่อยเลย
เราตะลอนกันเกือบมืด แต่ความโชคดีของทริปมืดๆแบบนี้ กลับได้ลิ้มลอง หอยปะ หอยนางรม ปู กับน้ำจิ้มเผ็ดๆ เปรี้ยวๆ กลมกล่อมถึงใจ จากฝีมือ มะยะห์ (แม่อุปถัมภ์สมัยทำงานในพื้นที่)ที่ได้เตรียมไว้ก่อนเดินทางพรุ่งนี้ เห็นน้ำจิ้มแล้วแอบภาวนาในใจว่า พรุ่งนี้ขออย่าท้องเสียระหว่างเดินทางเถิด 555 หอยปะ หอยนางรม ปู ไม่จำเป็นต้องหาจากที่อื่น เพราะหัวสะพานถัดจากบ้านมะยะห์ เพียงไม่กี่หลังก็เจอแหล่งที่ชาวบ้านนำวตถุดิบทางทะเลสดๆ มาขาย สำหรับคืนนี้ ก็ซดน้ำจิ้ม เคี้ยวหอยกันไป ให้อิ้มหนำสำราญ