Skip to main content

 

ชาวใต้ร้องรัฐแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
2017-10-31
    171031-TH-rubber-farmers-620.jpg
    นายซำซูดิง อาบู ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา และเพื่อนบ้าน พูดคุยปรับทุกข์เรื่องราคายางพาราราคาตก วันที่ 31 ตุลาคม 2560
    มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันอังคาร (31 ตุลาคม 2560) นี้ ชาวสวนยางพาราในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังจากประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยในจังหวัดยะลา มีการประมูลซื้อขายยางพาราในราคาต่ำกว่าราคากลาง ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย ยะลา ประกาศให้ราคาน้ำยางสดมากกว่าตลาดกลางสงขลาหนึ่งบาท

    พ่อค้ายางพาราและชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ จำนวนมากได้เดินทางไปยังตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลา เพื่อซื้อขายยางพารา ซึ่งมีหน่วยงานภายใต้การยางพาราแห่งประเทศไทย ได้ไปร่วมประมูลซื้อยางพาราเพื่อพยุงราคาที่ตกต่ำด้วย แต่สามารถทำได้เพียงรับซื้อในราคาที่สูงกว่าเอกชนเล็กน้อย โดยราคารับซื้อยังคงต่ำกว่าราคากลางในตลาดหาดใหญ่

    นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะราคายางพาราตกต่ำ ในยะลาว่า เกิดขึ้นเพราะมีการนำยางพาราจากต่างจังหวัดเข้ามาขายในตลาดยางพารา จังหวัดยะลา เป็นจำนวนมาก เพราะเนื่องจากบริษัทร่วมทุน ได้เข้ามาประมูลยางราคาสูงกว่าที่บริษัทเอกชนประมูล

    “ในส่วนของน้ำยางสด ตอนนี้ให้น้ำยางจากสถาบันเกษตรกรขายผ่านตลาดกลางยางสงขลา โดยมี บริษัท ถาวรอุตสาหรรม สะเดา เป็นผู้รับไป และให้ราคาสูงกว่าบริษัททั่วไปไม่ต่ำกว่า กก.ละ 1 บาท ในส่วนของเศษยางตอนนี้ ราคา กก.ละ 19-20 บาท แต่แนวโน้มราคาน่าจะดีขึ้น ซึ่งจะดีต่อเกษตรกร เพราะยังไม่ต้องทำเป็นยางแผ่น” นายสุรชัยกล่าว

    เจ้าหน้าที่การยางพาราแห่งประเทศไทย พ่อค้ายางพารา และชาวสวนยาง กล่าวว่า ราคายางพาราตกต่ำลงโดยทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากยางพาราล้นตลาด โดยมีผลผลิตออกมามากจากทั้งในพื้นที่ รวมทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน

    อย่างไรก็ตาม นายเจะมะแอ ดอเลาะ ผู้รับซื้อยางพาราจากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ราคารับซื้อยางพาราแผ่น อยู่ที่ 38 ถึง 42 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่ราคายางแผ่นตลาดกลางหาดใหญ่ อยู่ที่ 43.10 บาทต่อกิโลกรัม ยังต่ำกว่าราคาต้นทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินไว้ที่ 52-63 บาทต่อกิโลกรัม

    "ตลาดกลางยางจังหวัดยะลากำลังมีปัญหา อยากจะให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ราคาแผ่นในท้องถิ่นวันนี้ 38-42 บาท ต่อกิโลกรัม เศษยางหรือขี้ยาง 15-17 บาท ต่อกิโลกรัม ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคา ยางพาราให้นิ่งอยู่ที่ราคา 40-50 บาท เศษยาง ราคา 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ก็พอใจแล้ว” นายเจะมะแอ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

    “ตอนนี้ ราคายางตลาดกลางต่ำ ก็ต้องซื้อจากชาวสวนยางในราคาต่ำเหมือนกัน ราคายางที่ต่ำช่วงนี้ เพราะบริษัทร่วมทุนกับการยางพาราแห่งประเทศไทย ประมูลต่ำกว่าราคาตลาดกลาง ทางออกที่ดีเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้องให้มีการนำมาใช้ในประเทศให้มากที่สุด อย่าไปหวังพึ่งส่งตลาดต่างประเทศ ให้นำมาทำถนนลาดยาง ทำของใช้” นายเจะมะแอ กล่าวเพิ่มเติม

    นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยาง และสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในเดือนพฤศจิกายน ชาวสวนยางพาราในภาคใต้ จะนำยางออกมาขายมากที่สุด ประกอบกับผลผลิตยางพาราในภาคเหนือและภาคอีสานที่มีมาก ส่งผลให้ราคายางตกต่ำลง

    ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาล

    นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นว่า

    “เมื่อวานได้มีการประชุมร่วมระหว่างสถาบันเกษตรกรของภาคใต้ที่ตลาดกลางยางพารา สงขลา มีมติให้บริษัทร่วมทุนชะลอการประมูล โดยให้ขนยางออกจากตลาดกลางทั้งหมดก่อน และให้หน่วยธุรกิจของการยางแห่งประเทศไทยเข้าประมูล หากผู้ประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคายางรมควันที่ได้กำหนดแต่ละวัน”

    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ว่า การแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้เวลา และต้องสร้างความเข้าใจเรื่องกลไกตลาดที่ถูกต้องให้กับชาวสวนยางพารา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลิตยางพาราจนล้นตลาดอีกในอนาคต

    “ไอ้ที่ราคามันตกมันมีหลายประเด็นด้วยกัน อย่างวันนี้ก็เรื่องยาง มันเป็นเรื่องของกลไกตลาด มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ อันที่สองก็เรื่องประเด็นน้ำมัน เขาลดการใช้ยางทุกประเทศ มันอาจจะเป็นสาเหตุไปใช้น้ำมันในการผลิตยางสังเคราะห์มากขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องสร้างการรับรู้เชิงมหภาคให้ได้ ถ้าเรามองแต่เสี้ยวเดียวมันก็มีปัญหา ก็ต้องมาแก้ปัญหาตรงนี้ ต้นทางว่าจะทำยังไง จะทำยังไงยางเราจะไม่มีปริมาณเกินความจำเป็น ยางไม่ซื้อจากต่างประเทศมากนัก การวิจัยภายในประเทศต้องใช้เวลา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    แต่สำหรับนายซำซูดิง อาบู ชาวสวนยาง ในจังหวัดยะลา นั้น ราคายางตกต่ำเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่หนักอึ้ง

    “ทุกวันนี้ แค่หายใจได้ก็ถือว่าดี ไม่ต้องคิดถึงว่าจะหายใจคล่อง ราคาเศษยาง 7 กิโล 100 บาท ขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้น ทุกอย่างจะหายใจคล่องได้ยังไง ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ราคาเศษยางอยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโล ก็ถือว่าดีหน่อย มาสัปดาห์นี้หลังจากที่บริษัทร่วมทุน กับ กยท. ประมูลต่ำกว่าราคากลาง ทำให้ราคาในพื้นที่ตกลงมาจนตกใจ” นายซำซูดิง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-rubber-price-10312017155210.html