นายกประยุทธ์กล่าวปกป้องการสลายม็อบค้านโรงงานไฟฟ้าเทพา
สงขลา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าปกป้องเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมผู้คัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเทพา ในวันอังคาร (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560) นี้ โดยให้เหตุผลว่า ทางผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ และไม่ยอมรับในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเวทีที่จัดให้
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดสงขลา ในวันนี้ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเทพา ที่มีกำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ มีมูลค่าโครงการนับแสนล้านบาท ในตอนนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเท่านั้น และยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบ
“เราก็ทราบแล้วว่ามีการชุมนุมมาหลายวันแล้ว จริงแล้วหากว่าไปตามจริง มาว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิ์ประชาชนไม่ได้ เพราะกฎหมายมีอยู่ การจะชุมนุมใดๆ ก็ตาม จะต้องฟังเหตุฟังผล ให้โอกาสตั้งแต่วันแรกแล้ว ไปทำเรื่องขออนุญาตให้คนไปพบก็ไม่พบ จัดสถานที่ให้คุยก็ไม่คุย พยายามดึงดันมาตลอดทาง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
“การที่จะขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอส่งเอกสาร ถามว่าเจตนาเพื่ออะไรถ้าเข้ามาเจอหน้าผมเจอหน้าสื่อ ก็จะทำให้เกิดปัญหาบานปลาย สื่อต้องเข้าใจ สังคมต้องเข้าใจ ต่อต้านใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้านี้ ยังไม่ได้ดำเนินคดีความผิดการชุมนุมเลยนะ” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายอุทัย โต๊ะหลี สมาชิก “เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” กล่าวว่า ทางกลุ่มมีความจำเป็นที่จะต้องการพบนายกรัฐมนตรีโดยตรง
“เราคือชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสวนกง เราเดินเท้ามาจากบ้าน เพื่อมาพบมาอธิบายและยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี เรามีความหวัง เพราะครั้งนี้นายกมาใกล้เรา ไม่ต้องให้พี่น้องลำบากไปถึงกรุงเทพ เรารู้ว่าหากเราไปลงทะเบียนขอพบ เราจะได้พบเพียงตัวแทนหางแถวซึ่งเราพบมาหลายครั้งแล้ว เราจึงยอมเดินเท้าเพื่อขอความเห็นใจจากท่าน” นายอุทัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ล่าสุดในวันนี้ ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 16 ราย ซึ่งมีเยาวชนอายุ 16 ปี รวมอยู่ด้วย ถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ตามคำบอกกล่าวของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าว มีระวางโทษสูงสุดจำคุกสามปี นอกจากนี้ อาจจะมีการแจ้งข้อหาละเมิด พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ด้วย
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แม้ว่าศาลจังหวัดสงขลาได้อนุมัติให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ ด้วยเงินประกันคนละ 90,000 บาท แต่ทั้งหมดไม่สามารถหาหลักทรัพย์ประกันได้ทันในวันนี้ มีเพียงนายฮานาฟี เหมนคร อายุ 16 ปี ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปฝากขังที่ศาลเด็กและเยาวชนสงขลาเท่านั้น ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว และต้องดำเนินประกันตัวผู้ต้องหาส่วนที่เหลือในวันพรุ่งนี้
ด้านพล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 กล่าวว่า จะมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บอีกสามรายเพิ่มเติมอีกด้วย
“นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการเป็นพิเศษ ตำรวจทำตามขั้นตอน ตั้งแต่เชิญตัวแทนกลุ่มคัดค้านมาเจรจา ทำความเข้าใจ ได้ชี้แจงไปแล้วว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะชุมนุมต่อ ส่วนกรณีที่ นายมุสตาซีดีน วาบา ครูโรงเรียนดรุณศาสน์ ที่เข้าร่วมชุมนุมแล้วหายตัวไป ยืนยันว่า แกนนำที่ถูกคุมตัวมีเพียง 16 คน และผู้ชุมนุมอีก 3 คน ที่ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตำรวจจะพิจารณาข้อกล่าวหาอีก” พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ประชาสังคม-เอ็นจีโอ ตำหนิรัฐบาลและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมการชูป้ายคัดค้านรัฐบาล และขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว 16 นักปกป้องสิทธิ ที่หน้าลานพระรูปพระราชบิดา ภายในมหาวิทยาลัยฯ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (เบนาร์นิวส์)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ในตอนบ่ายของวานนี้ ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างได้แสดงการคัดค้านหรือตำหนิการสลายการชุมนุมของผู้คัดค้าน และการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม
นางเตือนใจ ดีเทศ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของ กสม. ว่า ให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมโดยทันที รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่ ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชน พร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น
“เมื่อวานเห็นภาพว่ามีสองกลุ่มที่แสดงกิจกรรม คนที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าจะได้รับการต้อนรับ แต่กลุ่มที่คัดค้านก็จะถูกสั่งให้ยุติการทำกิจกรรม ตรงนี้ประชาชนเองก็กังวลว่ามันจะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า” นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทางกลุ่มผู้คัดค้านโครงการฯ ได้เผยแพร่เอกสารที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เชิญนักข่าวไปทำข่าวการเยือนพื้นที่โครงการที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และยังปรากฏภาพถ่ายที่มีผู้สนับสนุนโครงการฯ ถ่ายรูปกับนายกรัฐมนตรีอย่างอบอุ่น ทางสื่อโซเชียล
“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความเห็นของชาวบ้าน ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ลงไปรับฟังแต่กลุ่มที่สนับสนุนเท่านั้น” นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านและเรียกร้องให้ยุติโครงการ เพราะเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตในการทำประมงดั้งเดิมของชาวบ้านจำนวน 4,000 คน หากมีโครงการขึ้นมาจะมีประชาชน 1,000 คน ถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่
ด้านองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา เครือข่ายองค์กรกิจกรรมนักศึกษา ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ชมรมสังคมศาสตร์ ชมรมศิลปะและวัฒนธรรม ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมอาสาพัฒนาชนบท เครือข่ายเยาวชนอิสระชายแดนใต้ เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคม และพรรคกิจประชา ต่างได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องขอให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำชาวบ้าน ที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
มาราปาตานีเตือนรัฐบาลไทย
ในวันเดียวกันนี้ มาราปาตานี ตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เป็นคู่เจรจาสันติสุขกับรัฐบาลไทย ได้ออกแถลงการณ์ติงรัฐบาลไทยที่ล้มเหลวในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ตกทุกข์ได้ยาก และเตือนให้รัฐบาลระมัดระวังว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น เหตุการณ์กรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบได้
“รัฐบาลล้มเหลวอีกครั้งในการที่จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของตนเองที่กำลังเดือดร้อน ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี ประชาชนมีอิสระ ประชาชนควรสามารถเลือกสิ่งที่ตนพึงพอใจได้ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้...” นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม โฆษกมาราปาตานี กล่าวในแถลงการณ์ทางโซเชียลมีเดีย
“เรายืนเคียงข้างชาวบ้านเทพาอย่างแข็งขัน และขอเตือนรัฐบาลว่า การกระทำใดๆ ที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนและตอบสนองด้วยกำปั้นเหล็ก นอกจากจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายแล้ว ยังอาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนา เฉกเช่น เหตุการณ์กรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ ในปี 2547”
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-protest-coal-11282017164644.html