Skip to main content

 

“ความรู้คือทางออกของปัญหา เพราะปัญหาเกิดจากความไม่รู้”

 

ปาฐกถาสุดท้ายของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

 

อิมรอน ซาเหาะ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

ขอบคุณภาพจาก Insani และไฟล์เสียงจาก Wartani

 

 

ในงานเปิดตัวสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (วันที่ 18 มีนาคม 2560) ที่โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี ถือเป็นการปาฐกถาครั้งสุดท้ายของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในพื้นที่ปาตานีหรือชายแดนใต้ โดยท่านได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปาตานีกับการพัฒนามนุษย์” ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่เคยมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระของปาฐกถาดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะมาก่อน จึงใช้โอกาสนี้ได้การเผยแพร่เพื่อรำลึกถึงท่านและเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทุกท่าน ซึ่งมีใจความสำคัญดังเนื้อหาสาระที่จะกล่าวดังต่อไปนี้

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่บารอกะห์ (ความจำเริญต่างๆ ที่มาจากพระองค์อัลลอฮ์) อย่างยิ่งที่ผู้รู้และผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ได้ตระหนักและมีความรับผิดชอบที่ต้องการจะเห็นความเจริญก้าวหน้า ความปรองดอง ความสันติสุข และการพัฒนา ให้เกิดขึ้นมาโดยใช้หลักวิชาการ ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และด้วยกับการให้ความสำคัญที่ให้กับความรู้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมนั้น เกิดขึ้นมาจากความไม่รู้ นำไปสู่ความไม่เข้าใจ และไปสู่ความขัดแย้ง จนอาจนำไปสู่ความรุนแรง เพราะฉะนั้นแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายที่รวมตัวกันเพื่อที่จะจัดตั้งสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ ถือว่ามีความตั้งใจดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และขอชื่นชมในความตั้งใจของทุกๆ ท่าน

ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเหล่านี้ อัลกุรอานเรียกว่า ผู้ซึ่งมีความรับผิดชอบในบรรดาสู่เจ้า รับผิดชอบในที่นี้เพราะว่าพวกเขามีความรู้ มีความห่วงใย ตลอดจนรับผิดชอบเพราะว่าสังคมยกย่องและให้เกียรติ รวมไปถึงให้ความหวังกับพวกเขา เพราะบุคคลที่รวมตัวกันก่อตั้งสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ คือคณะบุคคลที่จะนำความรู้ แสงสว่าง และความเข้าใจมาสู่ประชากรและประชาคมของประเทศ ถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮ์[1] เพราะหากคนเหล่านี้ไม่ทำแล้วใครจะทำ อย่างตัวผู้อำนวยการสถาบันเอง (ผศ.ดร.มะกือตา หะยีแวสอเหาะ) ก็ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เป็นระยะเวลา 13 ปี ได้รับมา 3 ปริญญา และคนอื่นๆ อีกหลายท่าน ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ เพื่อที่จะเตรียมตัวในการที่จะร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ของประเทศชาติ ของสังคม และของประชาคม พูดให้ไกลออกไปอีก ก็คือ เพื่อร่วมสร้างประชาคมอาเซียนหรือประชาคมโลกที่มีความปรองดองและความเข้าใจซึ่งกันและกันที่มีความสุขสันติร่วมกัน นี่คือสิ่งที่มนุษยชาติเจ็ดพันสี่ร้อยกว่าล้านคนต้องการในขณะนี้

มนุษยชาติในปัจจุบันกว่าเจ็ดพันสี่ร้อยล้านคน เป็นมุสลิมประมาณหนึ่งพันห้าร้อยล้านคน และต้องการสร้างประชาคมโลกนี้ให้มีความปรองดอง เข้าอกเข้าใจ ให้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และให้เกิดความร่วมมือกัน ไม่ให้เกิดความแตกแยก แต่จากการที่ตนเองได้มีโอกาสเดินทางไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้ได้เห็นว่าภาพพจน์ของมุสลิมในสายตาชาวโลกไม่ค่อยดีนัก อย่างครั้งหนึ่งที่บินจากประเทศเยอรมันเพื่อเดินทางไปยังประเทศอิตาลี เมื่อตนเองขออาหารฮาลาล สิ่งที่ได้รับพร้อมอาหารคือ ช้อน ส้อม และมีด พลาสติก ส่วนคนอื่นๆ ได้อุปกรณ์ที่ทำจากเหล็กกล้าทั้งหมด และเมื่อถามไปยังแอร์โฮสเตสว่าเหตุใดผมถึงได้ช้อนพลาสติก คำตอบที่ได้ก็คือเพราะคุณเป็นมุสลิม

มุสลิมถูกมองว่าชอบทะเลาะเบาะแว้งและนิยมการใช้ความรุนแรง ทว่าคุณค่าของอิสลามที่มุสลิมควรที่จะตระหนัก และจะต้องช่วยกันทอแสงรัศมีออกไป นั้นก็คือ อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ค่านิยมของความปรองดอง ค่านิยมของมนุษยธรรม ค่านิยมของความยุติธรรม ค่านิยมของความร่วมมือซึ่งกันและกัน และควรเป็นค่านิยมพื้นฐานของมนุษยธรรมของเพื่อนร่วมโลก เหล่านี้คือสิ่งที่สถาบันทางวิชาการควรให้ความสำคัญว่าอะไรคือพื้นฐานที่แท้จริงในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม พระเจ้าบอกในอัลกุรอาน บทที่ 3 โองการที่ 110 ความว่า “สูเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติ ที่ประเสริฐที่สุด ที่ถูกอุบัติขึ้นเพื่อมนุษยชาติ ด้วยการที่พวกเจ้าสั่งเสียในความดีและหักห้ามจากความชั่ว และที่พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ” ดังนั้น จึงเป็นภารกิจของเราทุกคนที่จะต้องทำให้เป็นประชาคมและสังคมที่ประเสริฐสุด โดยการร่วมมือกับมวลมนุษยชาติ

การที่ผู้อำนวยสถาบันอินซานี่ฯ บอกในตอนต้นของงานวันนี้ว่าวัตถุประสงค์หนึ่งของการก่อตั้งสถาบันก็เพื่อต้องการที่จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง เข้าใจวัฒนธรรมของตัวเอง เข้าใจอัตลักษณ์ของตัวเอง และเข้าใจค่านิยมทางวัฒนธรรมในสังคมของตังเองที่หล่อหลอมประชาคมในพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็นประชาคมที่มีความพิเศษแตกต่างจากประชาคมในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการมี ศอ.บต. ถือเป็นสิ่งที่ได้รับการยืนยันและยอมรับแล้วว่าพื้นที่แห่งนี้มีความพิเศษ เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ที่นี่พูดกันด้วยอีกภาษาหนึ่ง นั่นก็คือภาษามลายู เป็นภาษาที่มีการใช้มากกว่าสามร้อยล้านคนทั่วโลก ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงมีความพิเศษแตกต่าง มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สิ่งที่สถาบันวิชาการควรศึกษา ก็คือ ศึกษาความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้ เพราะนี่คือความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง  และใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะประคองตัวเองในประชาคมที่มีความแตกต่างหลากหลายไปจากเรา

การที่เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักเอกลักษณ์ของตัวเอง รวมไปถึงไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นก็มักจะเกิดปัญหา เพราะโลกเรียกร้องให้เราเข้าใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน และปรองดองกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวเหล่านี้ก็คือสิ่งที่อัลกุรอานสอนเราเช่นกัน นั่นก็คือ โองการที่พระเจ้าบอกกับเราในอัลกุรอาน ความว่า “และเราได้ให้พวกเจ้ามีหลายชาติพันธุ์ เพื่อจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน” ตามมาด้วย “ผู้ซึ่งประเสริฐที่สุดในหมู่สูเจ้าก็คือผู้ที่ศรัทธา” เพราะฉะนั้นแล้ว จงรู้จักตัวเอง แม้แต่นโยบายของรัฐในช่วงหลังมานี้ ก็มีการระบุในเชิงว่าให้เป็นเสมือนดอกไม้หลากสีที่อยู่ในแจกันเดียวกันที่สวยงาม ซึ่งแต่ก่อนนั้นลังเลไม่แน่ใจว่าควรจะมีดอกไม้หลากสีดีหรือไม่ในแจกันเดียวกัน

เมื่อเรามีลักษณะความมีตัวตนที่ชัดเจน มันก็จะนำไปสู่ความเข้าใจว่าในตัวตนของเรามีศักยภาพ ความพร้อม และคุณสมบัติที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไรและส่วนใดบ้าง เพราะมนุษย์แต่ละคนจะมีศักยภาพอยู่ในตัวเองที่พระเจ้าประทานให้ มนุษย์แต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน แม้แต่ฝาแฝดก็ยังมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเรารู้จักศักยภาพภายในของตัวเอง ก็จะสามารถนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ เมื่อพัฒนามนุษย์ก็จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมต่อไปได้

สังคมใดก็ตาม ที่สมาชิกแต่ละคนในสังคมไปไม่ถึงจุดสูงสุดของตัวเอง หรือมีสิ่งที่คอยสกัดกั้นโอกาสในการแสดงศักยภาพสูงสุดที่มนุษย์คนนั้นมี แสดงว่าสังคมนั้นๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากเลือกจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด จะเป็นครูปอเนาะก็เป็นให้ดีที่สุด หากเลือกที่จะเป็นหมอก็ต้องเป็นหมอที่ดีเยี่ยมที่สุด ไม่ควรจะมีสิ่งใดมากีดกันความสามารถ เป็นนักการเมืองที่ดีที่สุด เป็นนักปราชญ์ที่ดีที่สุด นี่คือสังคมที่ประสบความสำเร็จในการที่เอื้อและเกื้อให้สมาชิกทุกคนพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศของตัวเอง พระเจ้าบอกในอัลกุรอานว่า เราได้สร้างมนุษย์มาในรูปแบบที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งที่พระเจ้าได้สร้างมา อย่างมาลาอีกัต (เทวทูต) เลือกที่จะทำชั่วไม่ได้ แต่มนุษย์เลือกได้ พระเจ้าได้สอนมนุษย์และให้มนุษย์เลือกเอง เลือกได้ดีก็ดีไป เลือกไม่ดีก็รับผิดชอบกันเอาเอง จนมีคำพูดที่ว่ามุสลิมในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยดีกว่ามุสลิมที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเลือกที่จะทำความดีด้วยตัวเองไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำความดี และนี่คือค่านิยมของศาสนาอิสลาม

การที่สถาบันวิชาการต้องการจะพัฒนามนุษย์จะต้องเริ่มต้นจากสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์เป็นของดีอยู่แล้ว หรือมนุษย์ทุกคนมีของดีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือสังคมจะเอื้อให้ของดีนั้น สามารถพัฒนาออกมาได้หรือไม่ เพื่อมาช่วยกันพัฒนาสังคม ประเทศชาติ มนุษยชาติ และโลก นี่คือสิ่งที่โลกรออยู่ หรือโลกกำลังจ้องมองว่าจะให้ช้อนส้อมและมีดเหล็กแก่มุสลิมได้เมื่อไหร่ ซึ่งจะได้ก็ต่อเมื่อมุสลิมพัฒนาไปสู่รูปแบบของการเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด และเป็นผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นกับประชาคมบนโลกใบนี้ นี่คือภารกิจที่สถาบันอินซานี่ฯ และสถาบันทางปัญญาจะต้องช่วยกันสร้าง

จากคำพูดที่เราเคยได้ยินว่าเมื่อไปเยือนยุโรปแล้วจะเห็นอิสลามแต่ไม่เห็นมุสลิม เราเองจึงจะต้องตระหนักให้มากว่าเหตุใดคนอื่นถึงได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ดีที่ศาสนาเราได้ระบุไว้เช่นกัน ดังนั้น เราควรตระหนักถึงหลักคำสอนต่างๆ เพื่อนำไปประกอบสร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจ ในการที่จะช่วยสร้างประชาชาติที่ดีเลิศให้ได้ เมื่อสร้างได้แล้วก็จะสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ จะภูมิใจในตัวเอง รวมไปถึงจะเข้าอกเข้าใจคนอื่น เพราะแน่นอนว่าชีวิตบนโลกใบนี้เราจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม ดังนั้น พันธกิจที่สำคัญของอัลกุรอานคือการให้เราจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้และอยู่ให้ดี รวมไปถึงอยู่อย่างสันติ ปรองดอง และสร้างสรรค์

สิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ก็คือ จะต้องตระหนักว่า ทุกอย่างมีบริบทของมัน ทุกอย่างมีกรอบของมัน และเราจะต้องพยายามในสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราวิจัย หรือสิ่งที่เราวิพากษ์ ให้ไปอยู่ในกรอบนั้นๆ เพื่อให้ไปด้วยกันได้ เพราะในอดีตนักปราชญ์มุสลิมใหญ่ๆ อย่าง อิบนูซีนา อิบนูรุช อัลฟารอดี อิบนูคอลดูน อิบนูตูฟัยยา เป็นต้น พวกเขาประสบพบเจอกับปัญหา นั่นก็คือ ทำอย่างไรให้อัลกุรอานและฮาดิษเข้ากันได้กับความรู้ของมนุษยชาติที่มีมาก่อนแล้ว หรือทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำนั้นไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะต่างก็มีกรอบของศาสตร์แต่ละด้าน

ในอดีตเกิดความสับสนเกี่ยวกับศาสตร์ปรัชญา เพราะผู้รู้อย่างท่านอัลฆอซาลีเขียนตำราว่าอย่าไปเรียนปรัชญาเพราะมันจะทำให้เกิดความสันสบ มาในช่วงยุคของอิบนูรุชดฺที่ห่างกันร้อยกว่าปี เขาจะต้องทำอย่างไรกับปัญหานี้ เพราะศาสตร์ของปรัชญามีมาก่อนเขาเป็นพันปีแล้ว อิบนูรุชดฺจึงใช้วิธีการเขียนหนังสือปฏิเสธตำราที่ระบุว่าปรัชญาจะทำให้สับสน สมัยนั้นเขาเขียนหนังสือโต้กันเป็นเวลาร้อยปีให้หลัง ไม่เหมือนในสมัยนี้ที่โต้กันไปมาทางโทรทัศน์ ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์เลยเพราะไม่สร้างสรรค์และไม่สร้างความเข้าใจให้สังคม ต่างจากสิ่งที่อิบนูรุชดฺทำคือเขียนหนังสืออธิบายว่าการเรียนปรัชญาไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่เป็นคำสั่งให้เรียนด้วยซ้ำตามหลักชารีอะห์ โดยการยกอัลกุรอานหลายโองการมาอ้างอิง เช่น จงไตร่ตรองซิ คนที่มีสายตาแห่งปัญญา เป็นต้น อิบนูรุชดฺอธิบายว่า อยากรู้จักอัลลอฮฺใช่ไหม ถ้าคำตอบคือใช่ คำถามก็คือ แล้วจะรู้จักอัลลอฮฺได้อย่างไร หากไม่ศึกษาในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง อย่างบรรดาดาวเดือนหรือดาราศาสตร์ทั้งหลายคือสิ่งที่อัลลอฮฺสร้าง ดังนั้น เราจะต้องเรียนรู้จึงจะรู้จักผู้สร้าง คำตอบของอิบนูรุชดฺก็คือ ให้ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย

ประเด็นก็คือ ในยุคกรีกมีกรอบแบบหนึ่ง มาในยุคของอิสลามก็มีกรอบอีกแบบ นั่นก็คือชารีอะห์ ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้มันขัดกัน ความรู้เหล่านี้ หนังสือเหล่านี้ คือสิ่งที่พวกเราจะต้องอ่าน จะต้องหามาให้นักศึกษาอ่าน หนังสือเหล่านี้จะต้องค้นหาหรือแปลมา ไม่ใช่ไปกำหนดกรอบว่าเราจะต้องเรียนรู้เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างที่ตนเองเคยเจอ ก็คือ ครั้งหนึ่งในการสนทนากับ ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด อดีตผู้นำประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้รู้ว่าบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งของมาเลย์ได้แนวคิดมาจากอัลกุรอาน เมื่อทุกคนที่ฟังต่างก็งงไปตามๆ กัน ดร.มหาธีร์ อธิบายว่าโองการแรกของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาแก่ศาสนทูต คือ “จงอ่าน” คำถามก็คือ จะอ่านอะไร เมื่อตอนนั้นท่านศาสนฑูตอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และยังไม่มีอัลกุรอานให้อ่าน คำตอบก็คือ อ่านศาสตร์ก่อนๆ ของหลายๆ ประชาชาติที่ผ่านๆ มา  

การยอมรับว่ามีกรอบ และการที่แต่ละยุคสมัยเคยคิดในกรอบร่วมกัน ทำให้เกิดนวัตกรรม ก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ กลายเป็นการค้นพบใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่ดี อย่าง เซอร์ไอแซก นิวตัน ที่เห็นแอปเปิ้ล หล่นจากต้น ทำให้เขาคิดว่าโลกนี้อาจมีแรงดึงดูด จนกลายเป็นทฤษฎีที่สามารถทำให้มนุษยชาติในปัจจุบันได้เดินทางไปถึงดวงจันทร์ คำถามที่ผู้คนมีต่อเขาก็คือ เพราะเหตุใดเขาถึงมองเห็นไปไกลแสนไกล ทั้งที่คนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวเราเองเวลาเห็นมะพร้าวหล่นไม่ได้คิดอะไรมาก คำตอบของเขาก็คือ เพราะเขายืนอยู่บนไหล่ของยักษ์หลายๆ ตัว หมายถึงเขาอ่านความรู้เก่าๆ จึงทำให้เขาคิดไปได้ไกล

ดังนั้น การที่สถาบันทางปัญญาที่เพิ่งก่อตัวใหม่จะบอกว่า เมื่อเราจะเริ่มต้นใหม่ เราจะไม่เอาความรู้เก่าๆ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เพราะเราจะต้องศึกษาตัวบทและบริบทต่างๆ อย่างคนที่ต้องการจะศึกษาพื้นที่แห่งนี้ แน่นอนเลยประการแรกเขาจะต้องศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา อัตลักษณ์ ที่มีความต่างของที่นี่เสียก่อน ประการที่สอง คือ จะต้องยอมรับกรอบทางด้านการเมือง กฎหมาย ระบบราชการ และเศรษฐศาสตร์ ของที่นี่ด้วย ประการที่สาม คือ จะต้องรู้เรื่องราวของอาเซียน เพราะประชากรจำนวนมากของอาเซียนเป็นมุสลิมและเกินครึ่งเป็นคนมลายูเหมือนกับคนที่นี่ ประการสุดท้าย คือ วาระของโลก เพราะขณะนี้มนุษยชาติกำลังรวมตัวกันและบอกว่าโลกของเรากำลังถูกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์เสียเอง

ดร.สุรินทร์ ทิ้งท้าย ด้วยประโยคของ ญะลาลุดดีน อัลรูมี นักปราชญ์ที่ประเทศในตะวันออกกลางต่างก็อ้างว่าเป็นสมาชิกของประเทศตัวเอง แต่สุสานของท่านอยู่ในประเทศตุรกี โดยในอดีตช่วงสมัยของท่านเป็นช่วงที่สังคมตะวันออกกลางวุ่นวายพอๆ กับปัจจุบัน ญะลาลุดดีน อัลรูมี บอกว่า เราจะต้องเข้าใจบริบทของเราตรงนี้ เพื่อที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เราจะต้องเข้าใจของเก่าว่าอันไหนที่มีค่า เราจำเป็นต้องเอามาและใช้สร้างอนาคต เราจะต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นไปได้และอะไรเป็นไปไม่ได้ เราจะต้องเข้าใจว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนี้

ญะลาลุดดิน อัลรูมี บอกอีกว่า เขาเกลียดช่วงเวลานั้นของตะวันออกกลางเพราะช่วงนั้นตะวันออกกลางเปรียบเสมือนกับตลาด ที่ผู้คนต่างมาจับจ่ายใช้สอยหรือมาซื้อของ ทว่าพ่อค้าในอดีตเขากลับไปสู่พระเจ้า (เสียชีวิต) กันหมดแล้ว เหลือแต่สินค้าเก่าๆ ที่เราจะต้องเลือกซื้อ ที่เราจะต้องรู้คุณค่า ยุคนี้พวกเราคือคนที่จะต้องลุกขึ้นมาค้นคว้า วิจัย ศึกษา สร้างความเข้าใจในตัวเอง และสร้างนวัตกรรมเรื่องความรู้ และสร้างมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

ประโยคสุดท้ายของ ดร.สุรินทร์ ก็คือ โลกนี้คือตลาดของเรา กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของสถาบันทางปัญญาที่จะต้องลุกขึ้นมารับหน้าที่นี้ เพราะคนอื่นหรือสถาบันอื่นๆ ไม่ได้มีความรู้เพียบพร้อมเท่าสถาบันนี้ เมื่อสถาบันอินซานี่บอกว่าจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้ พวกเราทุกคนควรขอบคุณพวกเขา เพราะผมรอสถาบันเช่นนี้เป็นเวลานานมากแล้ว ตั้งแต่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมเขียนหนังสือวิชาการเป็นเล่มแรกที่เรียกท่านว่ามาเลย์มุสลิม และเป็นที่ยอมรับหลังจากนั้นว่าพื้นที่แห่งนี้มีความพิเศษแตกต่างกว่าพื้นที่อื่นๆ และหลังจากนี้พวกท่านก็ควรที่จะต้องศึกษาด้วยตัวเองต่อไป

 



[1] ฟัรฎูกิฟายะฮ์ คือ สิ่งที่ใช้บังคับให้มีการปฏิบัติโดยภาพรวม ไม่ได้มีการเจาะจงเป็นรายบุคคล หมายความว่า เมื่อมีคนหนึ่งคนใดได้ถือปฏิบัติถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว