14 ปี ไฟใต้ ใช้งบไปแล้ว 290,901.6 ล้านบาท
นับตั้งแต่วันปล้นปืนเมื่อปี 2547 ถึงตอนนี้เวลาล้วนมาถถึง 14 ปีแล้ว หากย้อนไปดู ไปดูสถิติความรุนแรงตลอด 14 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นทั้งสิ้น 15,164 เหตุการณ์ แยกเป็น การก่อความไม่สงบ หรือคดีความมั่นคง จำนวน 9,823 เหตุการณ์ (เรียกว่ามีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของเหตุรุนแรงในภาพรวม) อาชญากรรมทั่วไป หรือความขัดแย้งส่วนตัว จำนวน 3,982 เหตุการณ์ และเหตุการณ์ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดอีก 1,359 เหตุการณ์
เราตีกรอบพิจารณาเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบ ที่เรียกว่า "คดีความมั่นคง" จะพบว่ามีรูปแบบความรุนแรงที่หลากหลาย และมีสถิติตัวเลขที่น่าใจ แยกเป็น
- โจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ 41 เหตุการณ์
- ซุ่มโจมตี 191 เหตุการณ์
- ยิงด้วยอาวุธปืน 4,235 เหตุการณ์ (ยิงผู้บริสุทธิ์ ยิงเด็ก ผู้หญิง ครู ชาวสวนยาง)
- ระเบิด 3,439 เหตุการณ์
- วางเพลิง (เผาโรงเรียน / ส่วนราชการ / บ้านเรือน / ตู้โทรศัพท์ ฯลฯ) 1,505 เหตุการณ์
- ฆ่าด้วยวิธีทารุณ (ตัดคอ / เผา) 92 เหตุการณ์
- ประสงค์ต่ออาวุธ 176 เหตุการณ์
- ชุมนุมประท้วง 65 เหตุการณ์
- ทำร้าย 48 เหตุการณ์
- อื่นๆ 31 เหตุการณ์
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม "เหตุก่อกวน" เช่น ยิงรบกวน, ขว้างระเบิดเพลิง, เผายางรถยนต์, โปรยตะปูเรือใบ, ตัดต้นไม้ขวางถนน หรือถอดน็อตรางรถไฟ ซึ่งการก่อกวนเหล่านี้เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นกัน นับรวมได้ 3,542 เหตุการณ์
แน่นอนว่าเมื่อเกิดความรุนแรง ก็ต้องมีความสูญเสียตามมา ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โดยความสูญเสียรวมจากทุกเหตุการณ์ ทั้งก่อความไม่สงบ อาชญากรรมทั่วไป และความขัดแย้งส่วนตัว รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 7,666 คน บาดเจ็บ 13,115 คน
ในจำนวนนี้แยกตามสถานะบุคคลหรืออาชีพได้ดังนี้
- ตำรวจ เสียชีวิต 384 นาย บาดเจ็บ 1,574 นาย
- ทหาร เสียชีวิต 570 นาย บาดเจ็บ 2,701 นาย
- ครู เสียชีวิต 109 คน บาดเจ็บ 130 คน
- พนักงานการรถไฟ เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 42 คน
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 239 คน บาดเจ็บ 167 คน
- ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 24 คน
- ประชาชน เสียชีวิต 2,557 คน บาดเจ็บ 5,856 คน
- คนร้าย เสียชีวิต 64 คน บาดเจ็บ 7 คน
จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด คือ ประชาชนทั่วไป รองลงมาคือทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และครู
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา พบว่านับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2561 รวม 15 ปีงบประมาณ ใช้จ่ายงบดับไฟใต้ไปแล้วราวๆ 3 แสนล้านบาท แยกแยะเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 290,901.6 ล้านบาท
ข้อมูลจาก สำนักข่าว nation
รูปภาพจาก เพจคืนคุณแผ่นดิน
#PATANISOCIETY