ใครเป็นใครในสงครามซีเรีย
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณภาพจาก คม-ชัด-ลึก
คำถามหนึ่งที่คนมักสงสัยเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่งคือ ใครเป็นใครในตัวแสดงที่หลากหลายและประเทศใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ? ผมเองก็มักจะถูกถามคำถามนี้อยู่บ่อย ๆ ในสงครามกลางเมืองซีเรีย อันเป็นความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากการลุกฮือของประชาชนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างสันติเมื่อปี 2011 จนลุกลามบานปลายกลางเป็นสงครามกลางเมือง พัฒนาต่อเนื่องเป็นความขัดแย้งเรื่องนิกายศาสนา และกลายเป็นสงครามตัวแทนที่มีมหาอำนาจข้างนอกเข้ามาแทรกแซงในที่สุด
ตามผลการศึกษาแล้ว ถ้านับเฉพาะกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลซีเรียหลัก ๆ ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ 13 กลุ่ม แต่ถ้านับกลุ่มย่อย กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เขาให้ตัวเลขเอาไว้ว่ามีมากกว่า 1,200 กลุ่มเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในระดับที่แตกต่างกันออกไป ก็มีอยู่มากมายหลายประเทศครับ แต่เอาเฉพาะประเทศที่เข้าไปทิ้งระเบิดในซีเรียโดยอ้างเป้าหมายโจมตี ‘ไอเอส’ นั้น มีอยู่ 9 ประเทศคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนรัสเซียมีปฏิบัติการทางทหารแยกจากประเทศอื่น ๆ เป้าหมายคือ เพื่อโจมตีกลุ่มไอเอสและกลุ่มกบฏอื่น ๆ ทั้งหมดที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย โดยร่วมมือกับปฏิบัติการภาคพื้นดินของกองกำลังอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ก่อกำเนิดเป็นพันธมิตรร่วมที่ค้ำจุ่นรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียให้อยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงทุกวันนี้
อีกฝ่ายคือเหล่านักรบที่เรียกตนเองว่า ‘นักรบญิฮาด’ หลายหมื่นคนจากประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศที่เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับไอเอสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ อีกหลายกลุ่มทั้งในซีเรียและอิรัก แต่ถ้าเราจะแบ่งให้เห็นชัด ๆ ว่าใครเป็นใคร ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน ก็อาจแยกกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ออกได้เป็น 4 กลุ่มครับคือ
1. กลุ่มกองกำลังกบฏต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีอยู่หลากหลายมากมาย จัดประเภทได้ตั้งแต่พวกมีแนวคิดโลกวิสัยนิยมไปจนถึงพวกสุดโต่งทางศาสนา
2. กลุ่มกองกำลังที่จงรักภักดีต่อรัฐบาล ทั้งที่เป็นกองทัพของอัสซาดและกองกำลังที่สนับสนุนเขาทั้งหมด
3. กลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งปัจจุบันมิได้มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลอีกต่อไป แต่ต้องการแยกดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมาปกครองเอง และได้เป็นกำลังหลักต่อสู้กับไอเอสเพื่อปกป้องพื้นที่ของตน
4. สุดท้ายคือกองกำลังของมหาอำนาจชาติต่าง ๆ ทั้งในตะวันออกกลางและมหาอำนาจโลก
ระยะหลังพวกมหาอำนาจเหล่านี้เข้ามาถล่มโจมตีซีเรีย โดยอ้างว่ามาจัดการปราบปรามกลุ่มไอเอส แต่เอาเข้าจริงต่างฝ่ายต่างก็มีวาระซ้อนเร้น โดยเฉพาะประเด็นจุดยืนของแต่ละฝ่ายที่มีต่อรัฐบาลซีเรียชุดปัจจุบัน
ฝ่ายรัสเซีย อิหร่าน และฮิซบุลลอฮ์ ต่างยืนกรานปกป้องประธานาธิบดีอัสซาดมาตลอดตั้งแต่ต้น ส่วนอีกฝ่ายก็คอยจ้องจะล้มรัฐบาลโดยสนับสนุนฝ่ายกบฏ ฝ่ายหลังนี้ก็คือสหรัฐฯและชาติพันธมิตร
แต่ถึงอย่างนั้น ในทางเปิดเผยสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธ “ไม่เอา” กลุ่มไอเอสและเครือข่ายอัล-กออิดะฮ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุดในบรรดากลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งหลาย แม้ว่าบางกระแสข่าวจะเชื่อว่าสหรัฐฯสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้อย่างลับๆมาตั้งแต่ต้นก็ตาม
แตกต่างกับรัสเซียที่เหมารวมกลุ่มต่อต้านทั้งหมดว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ อย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียซึ่งเคยแสดงจุดยืนกลางเวทีสหประชาชาติเมื่อ 2 ปีก่อนว่า “หากพวกมันประพฤติตัวเหมือนผู้ก่อการร้าย กระทำการเหมือนผู้ก่อการร้าย และต่อสู้โดยใช้วิธีแบบผู้ก่อการร้าย มันก็คือผู้ก่อการร้ายทั้งหมดมิใช่หรือ?”
รัสเซียอาจนิยามการก่อการร้ายในแบบของตัวเองได้ แต่โลกมุสลิมจะรู้สึกอย่างไรต่อจุดยืนของรัสเซียอย่างนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คงต้องอธิบายขยายความกันอีกทีครับ