Skip to main content

 

 

บันทึกช่วยจำครั้งหนึ่งในอาเจะห์

#ตอนที่1 ภาพรวมของการเดินทางที่ยาวไกลของอาเจะห์สู่สันติภาพ

 

การเดินทางมายังจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นครั้งแรกของฉัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฝันอยากเดินทางมาราวราว2 ปี

ฉันรู้จักพื้นที่อาเจะห์ มานานพอควรจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 แต่เรื่องประเด็นความขัดแย้งเพิ่งเข้าหูประมาณสอง-สามปีที่ย้ายมาทำงานชายแดนใต้ ประเทศไทย

หากมองย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ระลอกหลังสุดในอาเจะห์ พบว่ามีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประมาณช่วง ค.ศ. 1970 ซึ่งการต่อสู้รอบสุดท้ายนี้กินเวลายาวนานกว่า 30 ปี ที่มีผู้สูญเสียนับแสนคน

ในช่วงความขัดแย้งหลายฝ่ายพยายามใช้กระบวนแก้ปัญหาด้วยการเจราจาสันติภาพ มีความพยายามหาทางสายกลางที่ทุกฝ่ายร่วมรับประโยชน์ และประชาชนสูญเสียน้อยที่สุด

กระบวนการสันติภาพที่เริ่มเป็นรูปธรรมก็ชัดขึ้นในปี 1998-1999 ช่วงนั้นความคึกคักของกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์มีความเชื่อมโยงกับการดำเนินสันติภาพในติมอร์ และทางผู้นำกองกำลังฝ่าย (GAM- กัมเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ให้เป็นอิสระจากอินโดนีเซีย) เริ่มมีการประชุมและพูดคุยที่เป็นทางการกับรัฐบาลอินโดนีเซีย

ประเด็นที่เริ่มเป็นกรอบในการทำงานสันติภาพในพื้นที่อาเจะห์ให้ช่วงเวลานั้น มี 3 ประเด็นใหญ่คือ 1) ประเด็นสิทธิมนุษยชน 2) ประเด็นประชาธิปไตย และ 3) ประเด็นมนุษยธรรม ซึ่งกลายเป็นฐานหลักของการขับเคลื่อนงานสันติภาพในพื้นที่

ในปี 2000 มีความเคลื่อนไหวสำคัญของภาพสันติภาพผ่านประเด็นมนุษยธรรม (Humanity issue)โดยทาง HDC (Henry Dunant Center) ที่ได้เข้ามาเชื่อมกลางระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับกลุ่ม GAM และใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนสันติภาพ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับทั้งในหลักการและหลักปฏิบัติ

ช่วงเวลานี้ ฝ่ายรัฐบาลส่วนหนึ่งตอบรับนโยบายดังกล่าว และฝ่าย GAM ก็เช่นกัน มีการทำข้อตกลงและลงนามในการพูดคุย และการ(พยายาม)ลดการปฏิบัติการทางการทหารของทั้งสองฝ่าย แต่แน่นอนส่าความเป็นเอกภาพอาจยังไม่สูงนัก ผลที่เกิดขึ้นจึงยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

การเดินทางของสันติภาพใน ปี 2001-2002 ยังพยายามอย่างต่อเนื่อง นานาชาติเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สหรัอเมริกา ญี่ปุ่น และ EU เข้ามาหนุนการทำงานของ HDC ชัดขึ้น แต่ในมุมรัฐบาลอินโดนีเซียสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อาจไม่หนุนนำให้เกิดสันติภาพมากนัก ผู้นำที่อาจไม่เห็นร่วมกับการสร้างสันติภาพด้วยการพูดคุยเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีอำนาจ

ในปี 2003 ก็กลับมามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภาวะสงครามกลับมาอีกครั้งในพื้นที่อาเจะห์ เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินภายใต้กฎอัยการศึกของรัฐบาล ที่กระตุ้นให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธอีกครั้ง

ความหวังของสันติภาพเหมือนจะหมดลงในช่วงปี 2004 แต่แล้ววันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญท่ีสุดของความขัดแย้งในพื้นที่อาเจะห์ "สึนามิ" นับเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดก่อนสิ้นปี ที่นำพาความสูญเสียนับแสนมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พื้นที่เสียหายนับหลายร้อยตารางกิโลเมตร

สึนามิ กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญของกระบวนการสันติภาพในปี 2005 เนื่องจากความสูญเสียที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่ม GAM ยอมรับว่าต้องหยุดสู้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ก่อน นอกจากนี้มีการพิจารณาร่วมกับเหตุผลอื่นๆ ได้แก่ การต่อสู้ที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อพลเรือนในพื้นที่อาเจะห์มีผู้เสียชีวิตกว่า 25,000 ราย บาดเจ็บและเสียหายอื่นๆนับแสน และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่

ท้ายสุดการเดินทางของกระบวนการสันติภาพของพื้นที่อาเจะห์ ก็ถึงฝันในปี 2005 จากการเป็นคนกลางของ CMI ซึ่งฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียอละกลุ่มผู้นำ GAM ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ณ เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ แต่นั่นก็หาใช่การสิ้นสุดของการแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงปฐมบทเริ่มต้นที่จะพาเราไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดในอาเจะห์ต่อไป

แล้วเราจะเดินทางต่อไปในตอนที่ 2 โปรดติดตาม

 

สุวรา แก้วนุ้ย

11-01-2561