ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้
ในระหว่างที่ยุทธการ บุก ค้น คุมตัว ยังดำเนินอยู่ในพื้นที่ อันเป็นความรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ การคัดแยกบุคคลที่ถูกควบคุมตัวใน ‘ศูนย์ซักถาม' ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาการควบคุมตัวเหยียดเต็มเพดานเวลาตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางการโดย กอ.รมน.ภาค 4 ได้คัดแยกกลุ่มคนที่ถือว่ามีส่วนร่วมต่อการก่อเหตุน้อยที่สุดเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพ โดยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับช่วงต่อไป
คำชี้แจงของ พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ที่ถูกควบคุมตัวที่ต้องการฝึกอาชีพพื้นฐาน โดยมี กอ.รมน.ภาค 4 เป็นตัวประสานหลัก ผู้สมัครใจจะอยู่ในฐานะนักเรียนไม่ใช่นักโทษ และทั้งหมดเป็นผู้ที่ผ่านกรรมวิธีในการซักถามและคัดแยกแล้วว่าไม่ได้มีส่วนในการก่อเหตุหรือไม่มีหลักฐานชี้ชัดพอที่จะส่งดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมที่มีฐานะที่เรียกว่า "ตูลงแง" หรือ พลผู้ช่วยหน่วยติดอาวุธอีกที
เขาย้ำว่า โครงการดังกล่าวเป็นกุศโลบายเพื่อสร้างโอกาสให้มีทางเลือก และเป็นประโยชน์ทั้งของผู้ให้และผู้รับ และยังเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานที่เกิดจากที่เยาวชนในพื้นที่เกิดจากความว่างงาน
"ต่อจากนี้คงไม่ใช่งานของทหารแล้ว แต่เป็นงานของพลเรือนที่จะต้องทำกันเอง" เขากล่าวและระบุว่า ขณะนี้กำลังทยอยผู้ที่ครบกำหนดควบคุมตัวที่สมัครใจเข้าสู่โครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
โครงการฝึกอาชีพดังกล่าว จะรองรับผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้ถูกดำเนินคดีและประสงค์จะฝึกอาชีพในวิชาช่างต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาเป็นวิทยากรให้ตลอดหลักสูตรเวลา 4 เดือน โดยใช้สถานที่ใน 3 ค่ายทหาร ได้แก่ ค่ายวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ค่ายกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และค่ายรัตนรังสรรค์ จ.ระนอง
ทั้งนี้ ตัวกลางที่เป็นผู้ประสานงานหลักได้แก่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยธรรมในกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรสาธารณกุศลในพื้นที่ที่ชื่อว่ามูลนิธิฮิลาลอาห์มัร
แนวคิดเบื้องต้นของโครงการฝึกอาชีพ เริ่มต้นจากโจทย์สำคัญที่ทางกองทัพต้องการหาทางออกในการจัดการกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากพื้นที่ต่างๆ แต่เชื่อว่าบางส่วนไม่ได้มีความผิดหนักหนาสาหัส และอยู่ในฐานะ "แนวร่วม" ทั้งโดยตั้งใจและถูกบังคับ โดยส่วนมากมีพฤติกรรม 7 ลักษณะ คือ 1.โปรยตะปูเรือใบ 2.เก็บเงินเข้ากองทุนของขบวนการฯ 3.ตัดต้นไม้ขวางทาง 4.เรียกผู้ประชุมหรือจดรายงานการประชุม 5.ฉีดหรือพ่นสีข้อความ 6.พูดจาชักจูงเพื่อขยายเครือข่าย และ 7.นำพิธีการสาบานตน (ซุมเปาะห์)
ซึ่งหากจะว่ากันตามกฎหมายแล้วก็มีความผิดเล็กน้อย เว้นแต่จะถูกตั้งข้อหากบฎ ซึ่งท้ายที่สุดอาจมีผู้ต้องหาและจำเลยจำนวนหลายร้อยคน และปัญหาก็จะไปสุมยังขั้นตอนในการพิจารณาคดีในชั้นศาล
แนวร่วมปีกการเมืองเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะกลับคืนสู่ชุมชนเพราะต้องเผชิญกับการ "ซักซ้อน" ของเครือข่ายของขบวนการใต้ดิน นั่นนำมาสู่การคิดหาทางเลือกนอกกระบวนการยุติธรรมเพื่อหาหนทางในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกควบคุมตัวผ่านการซักถามแล้ว เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่มีส่วนจะถูกปล่อยตัวกลับภายใน 7 วัน ตามขอบเขตอำนาจของกฎอัยการศึก ส่วนคนที่มีหมายจับตาม ป.วิอาญา ก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามระบบ
พงศ์จรัส เป็นทนายความที่เข้ามามีบทบาทในการทำคดีความมั่นคงหลายคดีก่อนหน้านี้และได้ข้อสรุปว่า กระบวนการยุติธรรมอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ในในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
เมื่อสู้กันในศาล คดีความมั่นคงที่ผ่านมา ศาลมักไม่ให้มีการประกันตัว ระยะเวลาในการพิจารณาคดีล้าช้าเนิ่นนาน การเข้าถึงข้อมูลของฝั่งจำเลยและฝ่ายโจทย์มักไม่เท่าทัน ประกอบกับทนายความที่ทำคดีเหล่านี้ก็มีอยู่จำนวนน้อยและมีศักยภาพไม่เพียงพอ สำคัญกว่านั้นคือข้อจำกัดด้านเวลาและฐานะการเงินของญาติพี่น้องในการสู้คดีที่ใช้เวลาล้าช้าเนิ่นนาน
นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า ยังไม่มีนักวิชาการคนไหนสามารถให้ข้อมูลหักล้างข้อมูลจากเครื่องตรวจสอบมวลสารวัตถุระเบิดของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในชั้นศาลได้ ซึ่งที่ผ่านมา ศาลจะให้น้ำหนักกับข้อมูลด้านนี้เป็นอย่างมาก
ด้วยพื้นฐานของข้อจำกัดในกระบวนการยุติธรรมและโจทย์ใหญ่ที่จะต้อง "จัดการ" กับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเป็น "แนวร่วม" ที่จะต้องไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายขบวนการใต้ดินเข้มแข็งขึ้น นั่นหมายถึง การไม่ส่งคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวนเลยทีเดียว
"ปัญหาภาคใต้ไม่สามารถแก้แบบโจทย์คณิตศาสตร์ ไม่ใช่เขามีห้า ฆ่าเสียสี่ เหลือหนึ่ง แต่นี่คือฆ่าหนึ่งเกิดสิบ เกิดร้อย เกิดพัน การให้เขาเดินเข้าสู่เรือนจำ อาจทำให้เขาเป็นวีรบุรุษในสายตาชาวบ้านก็ได้ แต่ควรตั้งต้นในเขามีส่วนเข้ามาแก้ปัญหาในทุกวันนี้ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเองก็ตกกลายเป็นเหยื่อของทั้งเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ก่อการ"
โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือนจึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการยินยอมพร้อมใจของพวกเขาเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีเงินเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 100 บาท ตลอดจนที่พักและอาหารการกินพร้อม และสามารถให้ญาติมาเยี่ยมได้โดยตลอด
พงศ์จรัส ระบุว่า ในส่วนที่อนุกรรมการฯ เป็นตัวกลาง ได้จัดส่งตัวผู้ประสงค์ไปฝึกอาชีพไปยังค่ายวิภาวดีแล้วจำนวน 2 ชุด คือ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. จำนวน 12 คน และเมื่อวันที่ 29 ก.ค. จำนวน 11 คน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดผ่านการหารือกับฝ่ายความมั่นคง ผู้นำศาสนา รวมทั้งญาติของผู้เสียหายโดยตลอด
"เมื่อพวกเขาออกจากพื้นที่ไปได้ 4 เดือน สถานการณ์ในหมู่บ้านอาจเปลี่ยนไป และเมื่อเดินทางกลับมาที่หมู่บ้าน เขาอาจปลอดภัยกว่าที่ส่งกลับไปตอนนี้"
ขณะที่ สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากการที่กองทัพต้องการแก้ปัญหาการอยู่ดีกินดีของประชาชนในพื้นที่ จึงประสานมายังกระทรวงแรงงานให้มีการฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งก็ส่งผ่านมายังกรมซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ การฝึกอบรมใน 3 จังหวัดจะเน้นวิชาชีพช่างเทคนิคต่างๆ อาทิเช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมแอร์ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เข้าฝึก โดยใช้หลักสูตรกินนอน 4 เดือนตามปกติ แต่ละหลักสูตรจะมีผู้เข้าฝึกประมาณ 20 - 25 คน ขณะที่กรมสนับสนุนวิทยากรและวัสดุอุปกรณ์เป็นหลัก ส่วนทางกองทัพสนับสนุนด้านสถานที่ เนื่องจากศูนย์ฝึกอบรมในแต่ละจังหวัดเต็มหมดแล้ว
นอกจากนี้ ผู้เข้าฝึกอบรมจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานจึงจะได้ประกาศนียบัตร หลังจากนั้นทางกรมจัดหางานจะรับไปหางานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนในชายแดนใต้
"โครงการนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ส่วนเรื่องกฎระเบียบต่างๆ คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายทหารที่เข้าไปใช้สถานที่นั้นๆ"
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การนำตัวชาวบ้านเข้าสู่ขั้นตอนก่อนกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ ได้รับการท้วงติงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ตั้งคำถามว่า การดำเนินการเอาคนไปในโครงการดังกล่าวได้รับการยินยอมพร้อมใจจากผู้ถูกควบคุมตัวแค่ไหน แลกกับการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีหรือไม่? เพราะเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่ก้องหนาหูในทำนองดังกล่าว
หากเป็นไปในลักษณะการข่มขู่ดังกล่าว ก็ต้องถือว่าเป็นการควบคุมตัว ซึ่งเธอเห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งการฝึกอาชีพดังกล่าวก็เพื่อรองรับกับการทำงานนอกหมู่บ้านที่อาจเท่ากับเป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชนที่เน้นการพออยู่พอกินตามวิถีเกษตรกรรม
"ตอนนี้ในบางหมู่บ้านมีแต่ผู้หญิงกับเด็ก เมื่อผู้ชายถูกนำตัวไปเป็นเวลาสี่เดือนอย่างนี้ คนที่บ้านเขาจะอยู่อย่างไร"
และหากโครงการนี้คาดหวังจะเปลี่ยนความคิดของคนที่ทางการเชื่อว่าเป็น "แนวร่วม" เธอตั้งคำถามต่อว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะทำได้ เพราะคนเหล่านี้มักจะไม่ฟังความคิดที่แตกต่างจากใครเลย ถ้าหากเลยกรอบเวลา 4 เดือนแล้ว ทางการยังเห็นว่าพวกเขายังไม่เปลี่ยนแปลงความคิด ก็จะต้องขยายกรอบเวลาไปอีกหรือไม่
"โครงการที่ว่านี้จะเปลี่ยนเป็นค่ายกักกันเลยหรือเปล่า เพื่อเป้าในการยุติเหตุรุนแรงรัฐจึงต้องถึงกับละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเลยหรือ"
เธอยังเชื่อมั่นว่า กระบวนการยุติธรรมจะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในพื้นที่ได้ ที่สำคัญแนวทางนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเอาชนะใจประชาชนได้ หากเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดก็ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน ซึ่งเธอเห็นว่าการเอาชนะใจต่างหากที่รัฐต้องเน้นหนัก ไม่ใช่ด้วยวิธีการนำคนออกไปจากชุมชนเช่นโครงการดังกล่าว ซึ่งท้ายสุดอาจสร้างเงื่อนไขความไม่พอใจให้กับคนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านต่อไป
นักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ ยังตั้งคำถามทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อประวิงเวลาในการออกกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ..... ที่เปิดช่องให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 6 เดือนหรือไม่ ซึ่งหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็เป็นกฎหมายเพื่อรองรับการใช้อำนาจในการควบคุมประชาชน
แม้โครงการฝึกอาชีพที่ต่อเนื่องจาก "แผนพิทักษ์แดนใต้" กำลังเดินหน้าอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ จะเป็นความหวังของภารกิจ "ถอนแกน" ของทางการ แต่โจทย์เหล่านี้อาจหันกลับมาทิ่มแทงยุทธวิธีการต่อสู้ทางการเมืองในภายหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐและผู้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวต้องสร้างความกระจ่างโดยเร็ว โดยเฉพาะญาติพี่น้องของ "ผู้ฝึกอาชีพ" เหล่านี้
เพราะท้ายที่สุด ชัยชนะที่ยั่งยืนในสงครามเช่นนี้ คือ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมมิใช่หรือ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- รายงานพิเศษ : แกะรอย "เส้นทางสีแดง" หลังแผนพิทักษ์แดนใต้
- ผ่าแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้"
"พวกทื่เป็นผู้ก่อการรัฐก็ควรต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมายส่วนใหญ่พวกเขาอยู่ในระดับแนวร่วมที่รัฐน่าจะแยกออกมา สำหรับคนที่เป็นแนวร่วมเราควรต้องใช้วิธีการทำความเข้าใจถึงจะดีที่สุด" พงศ์จรัส รวยร่ำ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม กสม. หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการดังกล่าวสรุปความ