Skip to main content

 

บิตคอยน์ฮาลาลไหม

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 
 

วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “บิตคอยน์” (Bitcoin) ซึ่งเป็นเงินดิจิตัลที่ไม่มีตัวตนแต่มีมูลค่านำมาใช้แทนเงินทั่วไปได้ บิตคอยน์เป็นหนึ่งในเงินดิจิตัลซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 900 สกุล บิตคอยน์โด่งดังที่สุด เกิดก่อนใครอื่นทั้งหมด เป็นเงินตราที่เรียกว่ากระแสเงินคริปโตหรือ Cryptocurrency การนำเอาออกมาใช้ต้องถอดรหัสหรือ encrypt ทางคณิตศาสตร์

ความที่เป็นเงินดิจิตัลน่าห่วงที่สุดคือการถูกแฮ็คหรือเจาะรหัส การใช้บิตบอยน์จึงต้องได้รับการปกป้องอย่างดี นักประดิษฐ์บิตคอยน์ใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยที่ให้ลูกค้าจำนวนมากช่วยกันป้องกัน เมื่อบิตคอยน์สร้างกันเอง สมาชิกดูแลกันเอง รัฐบาลกลางไม่เข้ามาวุ่นวาย สะดวกและประหยัดกว่าการเก็บเงินจริงไว้กับธนาคาร บิตคอยน์จึงเป็นเงินตราดิจิตัลที่ได้รับความนิยมสูง

คำถามมีว่าบิตคอยน์ “ฮาลาล” ไหม คำถามนี้นักวิชาการศาสนาอิสลามบางสำนักให้คำตอบกันมาบ้างแล้ว บางสำนักระบุว่าบิตคอยน์อาจฮาลาลมากกว่าระบบเงินตราปกติเสียด้วยซ้ำ โดยยกตัวอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (USD) ที่เป็นเงินกระดาษไม่มีทองคำหนุนหลังเหมือนเงินตราชาติอื่น ใช้วิธีพิมพ์ธนบัตรเพิ่มตามที่ตนเองต้องการ อย่างเช่นการกำหนดมาตรการ QE หรือ Quantitative Easing การผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐอเมริกาทำโดยพิมพ์เงินเข้าตลาด ไม่มีทองคำหนุน ทำเอาระบบการเงินโลกปั่นป่วนมาหลายครั้ง ระบบเงินตราเช่นนี้ไม่เป็นไปตามคำจำกัดความของคำว่าเงินตราในระบบอิสลาม ว่ากันอย่างนั้น

กรณีของบิตคอยน์นอกจากเทียบกับเงินตราแล้วยังมีการนำไปเทียบเคียงกับผลผลิตทางการเกษตรหรือ commodities คล้ายมีตัวตนจริง มีการผลิตจริง ในส่วนของบิตคอยน์ผลิตจากกระบวนการทำเหมือง (Mining) ด้วยกลไกทางไฟฟ้า ไม่มีเงินออกมาจริงมีแต่มูลค่าที่ปรากฏ และเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ จึงมีการจำกัดการผลิตไว้ที่ 21 ล้านหน่วย

จะดูกันว่าฮาลาลหรือไม่คงต้องแยกการพิจารณาเงินดิจิตัลแต่ละสกุล หากคริปโตเคอร์เรนซีใดได้รับการควบคุมให้เป็นไปตามกลไกเงินที่เป็นเพียงสื่อกลางแลกเปลี่ยน ก็ควรพิจารณาสภาพฮาลาลไปอย่างหนึ่ง หากมีการนำมาเก็งกำไรทำให้เงินตรากลายเป็นสินค้าไม่ใช่เงินอีกต่อไปก็ต้องพิจารณาสภาพฮาลาลอีกอย่างหนึ่ง ส่วนบล็อกเชนเป็นระบบป้องกันซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเงินตรา จึงไม่น่าเป็นปัญหา

เมื่อเริ่มต้นครั้งแรกต้น ค.ศ.2009 บิตคอยน์ 10,000 หน่วยมีมูลค่า 50 ดอลล่าร์สหรัฐหรือ 1 BTC เท่ากับ 0.005 USD ทว่าบิทคอยน์เพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วจากความนิยมและการเก็งกำไร เปลี่ยนสภาพจากกระแสเงินกลายเป็นสินค้าโดยวันที่ 17 ธันวาคม 2017 บิทคอยน์สร้างสถิติสูงสุดคือทะลุไปถึง 19,850 USD ต่อ 1 BTC หรือเพิ่มขึ้น 3.97 ล้านเท่า ถึงวันที่ 20 มกราคม 2018 ค่าบิตคอยน์ลดเหลือ 12,651 USD หรือลดค่าลง 37% http://www.viagrabelgiquefr.com/ ภายในเวลาเดือนเดียว แปรปรวนมากเช่นนี้ บิตคอยน์จึงไม่สามารถใช้เป็นเงินตราที่เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่เดิม

ระบบการเงินอิสลามแม้ไม่ขัดแย้งกับเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทค (fintech) แต่หากเทคโนโลยีใดสร้างความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ นักวิชาการศาสนาอิสลามจากสถาบันหลักที่มีความเข้าใจระบบเงินตราดิจิตัลและระบบการเงินอิสลามจำเป็นต้องนำเรื่องบิตคอยน์ไปพิจารณาสภาพฮาลาล และจากเคยที่พิจารณากันมาก่อนแล้ว ในสถานการณ์วันนี้น่าจะพิจารณากันใหม่