Skip to main content

 

ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (1)

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
 

หลังการเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ กลุ่มสมาชิกบางประเทศของ “คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ” (Gulf Cooperation Council: GCC) รวมถึงอียิปต์ ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคงกับกาตาร์

ประเทศที่ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์มิได้มีเฉพาะซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศมุสลิมอีกบางประเทศที่ทำตามในตอนหลัง อย่าง มัลดีฟส์ มอริตาเนีย เยเมน ลิเบีย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคงต้องเรียกรวม ๆ ว่าเป็นการดำเนินการของ “ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร”

วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่มีสัญญาณบอกเหตุมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เมื่อซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ได้ปิดสถานทูตของตนเองในกรุงโดฮาเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายต่างประเทศของกาตาร์

แต่มาตรการต่อกาตาร์ของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในครั้งนี้ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับครั้งก่อน เพราะในครั้งนี้ซาอุดิอาระเบียไม่เพียงแต่ตัดความสัมพันธ์ในทุกด้านดังกล่าว แต่ยังปิดชายแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยห้ามกาตาร์รุกล้ำดินแดน น่านน้ำ และน่านฟ้า นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในกลุ่ม GCC ยังประกาศให้ประชาชนชาวกาตาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศตนต้องเดินทางออกภายใน 2 สัปดาห์ และให้ประชาชนของตนเดินทางออกจากกาตาร์ทันที

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นวิกฤตความแตกแยกครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกลุ่มองค์กรคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ GCC ซึ่งถือเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญยิ่งในโลกอาหรับ เป็นศูนย์กลางการก่อเกิดศาสนาอิสลาม และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก

ย้อนมองรากฐานที่มา

หากพิจารณาจากแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรอ้างเหตุผลในการตัดความสัมพันธ์ว่า กาตาร์เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสงครามกลางเมืองซีเรีย

ในมุมมองของซาอุดิอาระเบีย นโยบายต่างประเทศของกาตาร์ดังกล่าวได้สร้างความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคทั้งหมด และถือเป็นภัยคุกคามต่อทุกประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน

แม้กระนั้นก็ตาม สาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ในอ่าวอาหรับครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน ข้ออ้างของซาอุดิอาระเบียเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมเพื่อดำเนินการปิดล้อมกาตาร์เท่านั้น และเหตุผลในการ “ลงโทษ” กาตาร์ของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน

สำหรับซาอุดิอาระเบีย เหตุผลสำคัญสุดที่ต้องลงโทษกาตาร์ก็เนื่องจากความหวาดระแวงต่อคู่ขัดแย้งของตนเองอย่างประเทศอิหร่านที่นับวันยิ่งแสดงบทบาทขยายอิทธิพลออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ

ตะวันออกกลางหลังยุคซัดดัม ฮุสเซน (หลัง ค.ศ. 2003)

ด้วยเหตุนี้หนึ่งในนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียที่สำคัญยิ่งในช่วงที่ผ่านมาคือ การโดดเดี่ยวอิหร่าน พร้อมกันนั้น กลุ่มประเทศสมาชิก GCC ทั้งหมดก็มีฉันทามติร่วมกันที่จะขัดขว้างการขยายอิทธิพลและพยายามโดดเดี่ยวอิหร่าน ยกเว้นกาตาร์ที่ต้องดำเนินนโยบายต่ออิหร่านอย่างระมัดระวัง เพราะกาตาร์ต้องร่วมมือกับอิหร่านในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงานและก๊าซธรรมชาติ อิหร่านในสายตาของกาตาร์จึงถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ประเทศหนึ่ง

ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น การที่กาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood: MB) ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดจนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์และดำเนินการแซงชั่นต่อกาตาร์ เพราะการที่สมาชิกของบวนการ MB จำนวนมากเข้าไปมีบทบาททางการเมืองและเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในรัฐสภาของทั้งประเทศกาตาร์และคูเวตนับเป็นสัญญาณเตือนที่รูปแบบการเมืองที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศอาหรับเพื่อนบ้านดังกล่าว อาจคืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองเดิมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้

กรณีของอียิปต์อาจมีส่วนคล้ายคลึงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะเป้าหมายเบื้องหลังที่ผลักดันให้อียิปต์ดำเนินมาตรการปิดล้อมกาตาร์คือการกดดันให้กาตาร์หยุดการสนับสนุนขบวนการ MB และกลุ่มฮามาส (HAMAS) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของอียิปต์ขึ้นมาสู่อำนาจจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การนำของบวนการการ MB

ด้วยเหตุนี้ การที่กาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการ MB มาตลอดอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาลทหารอียิปต์ที่ขึ้นมาสู่อำนาจอย่างไม่มีความชอบธรรม

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์ (Al-Jazeera) ถือเป็นสื่อสำคัญที่มีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกอาหรับในช่วงที่เกิดกระแสอาหรับสปริง (Arab Spring) และเป็นสื่อที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอียิปต์อย่างต่อเนื่องตรงไปตรงมา โดยรัฐบาลทหารอียิปต์เองก็มองว่าสำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์คือตัวแทนของรัฐบาลกาตาร์

ปัจจัยเรื่องสำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์ถือเป็นความท้าทายร่วมของกลุ่มประเทศพันธมิตรอาหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะสำหรับประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียและอียิปต์ซึ่งมีความไผ่ฝันต้องการเป็นประเทศผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างถ้วนทั่ว การทำงานของสื่ออย่างอัล-ญาซีเราะฮ์ถือเป็นอุปสรรคขัดขว้างที่สำคัญยิ่ง เพราะอัล-ญาซีเราะฮ์คือสื่อที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับหรือแม้แต่ในหมู่ชาวอาหรับโพ้นทะเล

อัล-ญาซีเราะห์ได้รายงานสถานการณ์การปราปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสมาชิกขบวนการภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์หลังรัฐประหาร รายงานแง่มุมด้านมนุษยธรรมอันเป็นผลกระทบจากการปิดล้อมดินแดนชนวนกาซ่าของอิสราเอล และรายงานความสูญเสียอันเกิดจากการถล่มโจมตีทางอากาศของซาอุดิอาระเบียในสงครามเยเมน

ด้วยเหตุนี้ อัล-ญาซีเราะฮ์จึงถือเป็นขวากหนามสำคัญที่ขัดขว้างไม่ให้ผู้นำอาหรับชาติใหญ่ ๆ ได้รับความนิยมจากประชาชนคนอาหรับส่วนใหญ่ แม้ว่าประเทศซาอุดิอาระเบียและอียิปต์จะมีอำนาจทางการทหารเพียงใดในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จากบทบาทของสำนักข่าวอัลญาซีเราะฮ์ ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ไม่สามารถแผ่อำนาจครอบงำทางการเมืองที่ตนเองต้องการได้

นี่จึงเป็นที่มาส่วนหนึ่งที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรตั้งเป็นเงื่อนไขลำดับแรก ๆ ให้กาตาร์ปิดสำนักข่าวอัลญาซีเราะฮ์เพื่อแลกกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน

 

ปล. เป็นบทความที่เขียนขึ้นนานแล้วครับ แต่ยังไม่ได้แชร์ให้เพื่อน ๆ อ่าน เห็นว่ามีข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ เลยขออนุญาติแบ่งปัน หวังว่าจะได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากเพื่อน ๆ ครับ