ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (3)
ตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พัฒนาการความคืบหน้าจากวิกฤตกาตาร์ล่าสุดคือการที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรได้ยื่นเงื่อนไข 13 ข้อเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตรต่อกาตาร์ อันประกอบไปด้วย การตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ปฏิเสธการโอนสัญชาติพลเรือนจากทั้ง 4 ประเทศ เนรเทศพลเรือนของพวกเขาที่อยู่ในกาตาร์ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้กาตาร์เข้าแทรกแซงกิจการภายใน ให้กาตาร์ส่งมอบตัวผู้ที่พวกเขากำลังต้องการตัวในฐานะผู้ก่อการร้าย มอบข้อมูลฝ่ายค้านที่กาตาร์ให้การสนับสนุนในซาอุดิอาระเบีย และชาติอื่นๆ ปรับนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางเดียวกันกับกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) หยุดให้เงินทุนสนับสนุนสำนักข่าว อัล-ญาซีเราะฮ์ (รวมถึง อาราบี 21 และ มิดเดิลอีสต์ อาย) จ่ายเงินชดเชยที่ไม่มีการเปิดเผยจำนวน ตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้าย เช่น ไอเอส อัล-กออิดะฮ์ และฮิซบุลลอฮ์ รวมทั้งตัดการติดต่อทางการทูตกับอิหร่าน ขับสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านออกจากประเทศ และค้าขายกับอิหร่านตามกรอบการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกาตาร์ ออกมาแสดงความไม่ยอมรับในเงื่อนไขทั้ง 13 ข้อ โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไขทั้ง 13 ข้อ ไม่สมเหตุสมผล และไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ นั่นหมายความว่า กาตาร์จะไม่เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนเอง และพร้อมที่จะรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร
หากเป็นเช่นนี้กาตาร์ก็คงต้องเพิ่งพาอิหร่านมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องข้อเสนอของอิหร่านที่ให้กาตาร์ใช้ท่าเรือ และการนำเข้าสินค้าและอาหาร ตลอดจนการใช้น่านฟ้าสำหรับสายการบินแห่งชาติกาตาร์
ขณะเดียวกัน กาตาร์ก็คงต้องเพิ่งพาตุรกีมากขึ้นในด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นประเทศที่กาตาร์มีความใกล้ชิดสนิทสนมและมีความร่วมมือกันในหลาย ๆ ด้านมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเดียวกันกาตาร์ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อไปกับสหรัฐฯ และแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ กับรัสเซียและจีน
ความจริงยุทธศาสตร์ของกาตาร์นับจากนี้ต่อไปคือ (หากไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร) หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและมองหาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เป็นประเทศใหม่ ๆ เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตบนดินแดนคาบสมุทรอาหรับครั้งนี้ดูเหมือนสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสค่อนข้างระมัดระวัง โดยไม่ยอมแสดงตนยืนอยู่ข้างกาตาร์มากนัก ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้กลับเลือกที่จะวางเฉยอันอาจแปลความหมายได้อีกอย่างว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร
แต่ประเทศที่แสดงท่าทีชัดเจนในการยืนเคียงข้างกาตาร์คือมหาอำนาจในตะวันออกกลางทั้งตุรกีและอิหร่าน โดยเฉพาะตุรกีที่แสดงตนชัดเจนในการปกป้องกาตาร์
สิ่งที่เกิดตามมาคือการเสริมพลังความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างตุรกีกับกาตาร์ ซึ่งจะทำให้ผลที่เกิดจากวิกฤติกาตาร์ครั้งนี้เป็นไปอีกแบบอย่างที่เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรที่ต้องการบีบให้กาตาร์ยอมจำนน
นั่นหมายความว่า จากเป้าหมายที่จะโดดเดี่ยวและบีบให้กาตาร์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ แต่ผลจากเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นในตะวันออกกลางที่เป็นการรวมพลังระหว่างมหาอำนาจขนาดกลางอย่างตุรกีกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างกาตาร์
เป็นขั้วอำนาจที่ผงาดขึ้นมาท้าทายนโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในอนาคตอันใกล้นี้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (1)
ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์ (2) ผลกระทบทางตรงจากมาตรการปิดล้อมกาตาร์