ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้มีเหตุความรุนแรงถี่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดที่ส่งผลให้มีบริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บ หรือการใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐอันส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุย กล่าวคือเป็นสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐที่มุ่งหวังสร้างสภาวะแวดล้อมดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พวกเราจึงได้ยื่นหนังสือให้แก่คณะพูดคุย พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI)
โดยมีข้อความดังนี้ ….
ด้วยคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Peace Agenda of Women - PAOW) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกกลุ่ม/องค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคมทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 23 กลุ่ม/องค์กร ได้ให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์การพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และกลุ่มมารา ปาตานีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางสำคัญที่เป็นสันติวิธี ที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ และได้ทราบว่าการพูดคุยมีความก้าวหน้ามากพอสมควร โดยคู่พูดคุยได้มีการเลือกอำเภอนำร่องพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และกำลังเตรียมการเพื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามแผนที่ได้ตกลงร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เห็นว่ากระบวนการพูดคุยและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประสบความสำเร็จ และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ในขณะนี้ เรากลับพบว่า สภาวะแวดล้อมในหลาย ๆ ด้านในพื้นที่ มีความน่าห่วงใย และไม่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพเท่าที่ควรจะเป็น อาทิ การใช้ปฏิบัติการทางทหารด้วยการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านและกลุ่มคนเป็นจำนวนมากแบบเหวี่ยงแห การใช้กฎอัยการศึกตรวจค้นบ้านพักของผู้หญิงที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน ที่รายงานหรือพูดถึงเรื่องการซ้อมทรมาน การใช้พฤติกรรมและท่าทีที่แข็งกร้าวในการแก้ปัญหาที่สุ่มเสี่ยง ต่อการหันเหไปจากแนวทางสันติวิธีที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล การไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างได้แสดงออกอย่างเสรีและปลอดภัย การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะต่างๆที่สร้างผลกระทบต่อผู้หญิง เด็กและพลเรือน เช่น กรณีเหตุระเบิดในตลาด เส้นทางใกล้สถานศึกษา กราดยิงโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้ง ดูเหมือนว่าจะมีการพุ่งเป้าท าร้ายโจมตีประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะที่เป็นชาวพุทธ
หากปล่อยให้มีการใช้ปฏิบัติการทางทหารและความรุนแรงตอบโต้กันไปมาเช่นนี้ในระหว่าง คู่ขัดแย้ง หรืออาจจะเป็นการผสมโรงใช้ความรุนแรงจากบุคคล/กลุ่มอื่นใดอีกก็แล้วแต่ ก็รังแต่จะทำให้เกิดความรุนแรงที่กลายเป็นวงจรไม่มีวันสิ้นสุด และส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้หญิง และพลเรือนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องแบกรับผลกระทบจากทุกกรณี นอกจากนั้น ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะฉุดรั้งการพูดคุยและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไม่ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาสังคม ชุมชน และสังคม
ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาข้อกังวล และห่วงใยของพวกเราไปปรึกษาหารือในระหว่างการพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกัน ที่จะช่วยกันทำให้สภาวะแวดล้อมในพื้นที่เอื้อ ส่งเสริม และสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพได้อย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เคยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิง ชาวพุทธและมุสลิม ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 380 คน จาก 5 เวที (ในช่วงเดือนพ.ย. 2559 - ส.ค. 2560) เพื่อรับฟังข้อห่วงใย และข้อเสนอของผู้หญิงต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพ พบว่ามี 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัย 2.ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 3.เศรษฐกิจ และ 4.การอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรม รายละเอียดปรากฏอยู่ในข้อเสนอเชิงนโยบายการสร้างสภาวะแวดล้อมที่หนุนเสริมสันติภาพ ตามที่ส่งมาให้ท่านได้พิจารณาพร้อมกันด้วยนี้
จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านได้โปรดพิจารณา ข้อห่วงใย และข้อเสนอตามที่เรียนมาข้างต้น
ดาวน์โหลดเอกสาร ข้อเสนอเขิงนโยบายที่หนุนเสริมสันติภาพ