5 ปีการพูดคุยสันติภาพชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 มีการทำข้อตกลงเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถือเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับจากเกิดเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ขอตกลงในครั้งนั้นถูกยกเลิกไป เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ มีการสานต่อการพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่ง 3 ปีมีความคืบหน้าในการทำข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ วันนี้จึงมีการจัดเวทีพูดคุยถึงความต้องการสันติภาพปาตานีจากมุมมองประชาชน ซึ่งสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ แม้จะมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ยังไม่เชื่อมั่นว่าการพูดคุยในบรรยากาศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ขบวนการที่มีอิทธิพลในพื้นที่จริง ซึ่งเลขานุการคณะพูดคุยขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลตั้ใจจริงและทั้งสองฝ่ายพร้อมพิสูจน์ให้เห็นจากการจัดทำพื้นที่ปลอดภัย
เวทีวิชาการสันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน ที่จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอมาส ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีขึ้นเพื่อย้ำถึงจุดเริ่มต้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการ ของรัฐบาลไทยในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ ขบวนการ บีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 แม้ข้อตกลงในครั้งนั้นจะล้มเหลว และมีการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่มีการสานต่อการพูดคุย โดยฝ่ายไทยมีการแต่งตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่มีพลเอกอักษรา เกิดผลเป็นหัวหน้า และวันนี้พลตรี สิทธิ ตระกูลวงษ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข มาร่วมเวทีเสวนา ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจในการพูดคุยที่มีคำสั่งชัดเจนโดยนายกรัฐมนตรี ส่วนกลุ่มมาราปาตานี ที่มีจากกลุ่มผู้คิดต่างขบวการหลักทั้ง บีอาร์เอ็น พูโล จีไอเอ็มพี และ บีไอพีพี ที่แม้จะไม่มีฝ่ายกองกำลังจากบีอาร์เอ็น แต่ 3 ปีที่ผ่านมาคณะพูดคุยเชื่อมั่นว่ากลุ่มมาราปาตานีเป็นตัวจริง จนนำมาสู่ข้อตกลงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safety Zone เพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งจะเริ่มเปิด Safe House หรือศูนย์ประสานงานในเดือนเมษายนนี้
นายฮาฟิส ยะโกะ ประธานกลุ่มเปอมาส ยอมรับว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นว่า มารา ปาตานี คือตัวแทนที่จะมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา เพราะยังไม่มี ขบวนการ บีอาร์เอ็นตัวจริงที่มีอิทธิพลในการคุมกำลังในพื้นที่ จึงไม่เชื่อมั่นว่า การจัดทำ Safety Zone จะเกิดขึ้นได้จริง และข้อตกลงสันติภาพจะมีจริง โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ยังไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย ที่ยังถูกปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมือง ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ที่จะต้องการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
เช่นเดียวกับนายอาเต็ฟ โซะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The Patani ที่เชื่อมั่นด้วยว่าการพูดคุยที่เป็นอยู่ยังไม่ใช่กระบวนการสันติภาพที่ถูกต้อง เพราะหากจะยุติการใช้กำลังต้องให้ผู้ใช้กำลังทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน แต่หากให้หยุดคิดเรื่องเอกราช ก็ต้องหาวิธีการที่ให้ล้มเลิกความคิดนี้ ซึ่งต้องฟังเสียงประชาชนที่แท้จริง
นายมูฮัมหมัดอายุป ปาทาน ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ เห็นว่าแม้ยังมองเห็นต่างกัน แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยให้โอกาสคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยและกลุ่มมารา ปาตานี ได้จัดทำพื้นที่ปลอดภัย Safety Zone เพราะเป็นผลการพูดคุยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดแล้ว และเชื่อมั่นว่าหากแนวทางนี้สำเร็จ ขบวนการบีอาร์เอ็นก็จะเข้าร่วมในที่สุด
เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ขอให้เชื่อมั่นในการพูดคุยกบกลุ่มมารา ปาตานี และการทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ที่วันนี้ดาโต๊ะ สรี ซัมซามิน ได้รับการต่ออายุให้ทำหน้าที่ต่อไป และจะมีการรับรองข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัยกันในเร็วๆนี้ ก่อนจะเริ่มเปิด Safe House ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมสร้างประวัติศาสตร์สันติภาพจากประชาชนที่แท้จริง
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิด Safe House ศูนย์ประสานงานกำหนดพื้นที่ปลอดภัย Safety Zone
ท่าที มารา ปาตานี ต่อการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย