Skip to main content

 

การเจรจาสันติสุขชายแดนใต้สะดุด เพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบ

 

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน 
ยะลา
180329-TH-children-1000.jpg
ทหารไทยยืนมองเด็กชาวมุสลิมเล่นฮูลาฮูป ในระหว่างการปฏิบัติการที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2554
 เอพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การเจรจาสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้สะดุดลง เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบขู่ว่าจะไม่เดินหน้าต่อไปเรื่องแผนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวสมาชิกกลุ่มสามคนที่อยู่ในเรือนจำ

เจ้าหน้าที่ไทยยืนยันว่า ข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษสามคนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งคือการหยุดยิงเฉพาะพื้นที่ แต่เป็น “คำขอ” จากกลุ่มมาราปาตานี กลุ่มที่เป็นตัวแทนของผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ ในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ไทยบอกผมว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่

แหล่งข่าวที่ขอไม่เปิดเผยนามกล่าวว่า หากอนุญาตตามคำขอ จะไม่ถือเป็นการอภัยโทษ แต่จะเป็นการปล่อยตัวก่อนกำหนด

หากไม่อนุญาตตามคำขอ จะทำให้เรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหยุดชะงักลง เรื่องนี้เป็นโครงการที่พูดถึงกันมาก ว่าจะเป็นผลงานเชิดหน้าชูตาของไทยแก่ประชาคมนานาชาติ โครงการนี้เป็นการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

กลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มที่ประกอบด้วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนหกกลุ่ม ที่มีมานานแล้ว และได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสามปีที่แล้ว

เช่นเดียวกับการเจรจาสันติภาพครั้งก่อน ๆ ทั้งหมด การเจรจาของรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี อยู่บนฐานที่คลอนแคลน เนื่องจากองค์กรร่มนี้ไม่มีอำนาจควบคุมกลุ่มปฏิบัติการของตนที่อยู่ในพื้นที่

เจ้าหน้าที่การข่าวทหารคนหนึ่งอธิบายความเจรจาของรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ว่าเป็น “เพียงการซื้อเวลา” จนกว่าผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมที่ควบคุมกำลังการต่อสู้แทบจะทั้งหมดในพื้นที่ จะตัดสินใจเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพนี้

ถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่า บีอาร์เอ็นจะเปลี่ยนจุดยืน ไม่ใช่เพราะกลุ่มมาราปาตานี หรือทางมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในการเจรจา ไม่ได้พยายาม

ความหวังริบหรี่

ความหวัง แม้เพียงน้อยนิดก็ตาม เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วในการประชุมระหว่าง นายอาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ตัวกลางไกล่เกลี่ยการเจรจาชาวมาเลเซีย หัวหน้าสายลับที่เกษียณแล้ว และสมาชิกอาวุโสสองคนของสภาการปกครองของกลุ่มบีอาร์เอ็น

นายซัมซามินได้รับคำรับรองจากผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า กลุ่มแนวร่วมรบในพื้นที่จะไม่จงใจทำลายโครงการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นในอำเภอหนึ่งที่ยังไม่ได้ระบุ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ความคิดเรื่องนี้เกิดขึ้นมาโดยกลุ่มมาราปาตานี และคณะเจรจาของไทย

แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า กลุ่มยังมุ่งมั่นต้องการให้ปาตานี ภูมิลำเนาดั้งเดิมของชาวมลายูที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นอิสรภาพ และทางกลุ่มไม่ได้คิดที่จะเข้าสู่การเจรจากับไทย แหล่งข่าวกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมที่กำหนดไว้ระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะเจรจาของไทย และนายดูนเลาะห์ แวมะนอ (อีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีกว่า อับดุลลาห์ วัน มัต นัวร์) ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ควรถูกมองว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญแต่อย่างใด

กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นตกลงที่จะไม่จงใจทำลายข้อตกลงกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และยอมให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป สร้างความยินดีให้แก่รัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่า ผู้เข้าร่วมเจรจาทั้งสองฝ่ายคือ กลุ่มมาราปาตานี และรัฐบาลไทย ต่างก็ไม่ใช่ผู้ควบคุมกองกำลังต่อสู้ในพื้นที่

สงครามปาก

รัฐบาลไทยต้องการให้โครงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนี้ เป็นผลงานที่สามารถอวดประชาชนและชาวโลกได้ว่า กำลังมี “ความคืบหน้า” ในความพยายามยุติความขัดแย้งกับกลุ่มแนวร่วมแบ่งแยกดินแดน ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 7,000 คน นับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

สำหรับขณะนี้ ดูเหมือนว่าสิ่งต่าง ๆ จะเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ผู้คนต่างก็ตั้งตาคอยดูการเริ่มพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.2561 แต่ปรากฏว่า กลุ่มมาราปาตานี กลับเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษคดีก่อความไม่สงบสามคนจากเรือนจำ แหล่งข่าวของทั้งสองฝ่ายบอกผม

นอกจากการเจรจาดังกล่าว และความท้าทายทางการเมืองและกฎหมายที่มาพร้อมกับการเจรจานั้นด้วยแล้ว การพูดคุยเพื่อสันติภาพของไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังกำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญบางอย่าง ที่มาจากคนในประเทศตนเองด้วย

สงครามปากอย่างต่อเนื่องระหว่าง พล.อ.อักษรา และ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ที่ควบคุมดูแลการรักษาความปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนใต้ อาจส่งผลเสียต่อกลยุทธ์ของรัฐบาลในพื้นที่นั้น

แหล่งข่าวของรัฐบาลกล่าวว่า ความไม่ลงรอยกันระหว่างบุคคลทั้งสอง เป็นส่วนหนึ่งของสงครามชิงพื้นที่ระหว่างผู้นำทหารระดับสูงสองคนที่ถากถางซึ่งกันและกันผ่านทางสื่อ

ในแถลงการณ์แก่สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวว่าโครงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยของ พล.อ.อักษรา ไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด และเสริมด้วยว่า ตัวเขาเองได้กำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยลักษณะนั้นด้วยตัวเอง จำนวน 14 พื้นที่ โดยที่ไม่อยากโอ้อวดใคร

พล.ท.ปิยวัฒน์ ยังกล่าวถึงโครงการของเขาที่มีชื่อว่า โครงการพาคนกลับบ้าน โครงการนิรโทษกรรมที่มีจุดบกพร่อง ซึ่งตามความคาดคะเนแล้ว น่าจะเป็นการช่วยเหลือให้อดีตผู้ก่อความไม่สงบ มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตพลเรือนตามปกติได้ เขากล่าวว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้ขวัญกำลังใจและจุดยืนการสู้รบของกลุ่มบีอาร์เอ็นสั่นคลอนได้บ้าง

แหล่งข่าวจากรัฐบาลไทยที่ควบคุมดูแลความขัดแย้งในภาคใต้กล่าวว่า การโต้ฝีปากระหว่างบุคคลทั้งสองนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งว่า ใครควรเป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการใด

สมาชิกในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ชื่ออย่างเป็นทางการของคณะเจรจา เชื่อว่าตนควรเป็นผู้จัดการดูแลโครงการดังกล่าว เพราะตนเป็นผู้ที่พูดคุยโดยตรงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ดังนั้น ตนจึงอยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่จะบริหารโครงการนั้น

ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.อักษรา และ พล.ท.ปิยวัฒน์ ทำให้สมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของกลุ่มมาราปาตานี ต้องออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า พล.ท. ปิยวัฒน์ ก่อให้เกิดความสับสน

สุกรี ฮารี กล่าวว่า โครงการนิรโทษกรรม ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ และเขต“พื้นที่ปลอดภัย” 14 แห่งของเขานั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากข้อกำหนดที่หารือกันอยู่ที่โต๊ะเจรจา ระหว่างองค์กรมาราปาตานีและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้

แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นปฏิเสธคำอ้างของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ที่ว่าโครงการนั้นประสบความสำเร็จ โดยกล่าวว่า ผู้ที่ยอมจำนนผ่านโครงการนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับกลุ่มแนวร่วม และอาจมีความผิดเพียงเพราะการสมาคมกันเท่านั้น นี่เป็นข้อกล่าวหาทั่วไปที่ทางการไทยใช้ แต่ไม่มีน้ำหนักในศาล

ยิ่งกว่านั้น กลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ถึงขั้นเป็นกองทัพเต็มตัว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีทหารจำนวนมากในตำแหน่งต่างๆ

กลยุทธ์ที่ใช้ ณ จุดนี้ คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล อันจะทำให้พื้นที่แถบนั้นปกครองได้ยากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การวางระเบิดตามถนน ตามด้วยการยิงต่อสู้กันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่แทบจะไม่เคยเกินห้านาที เป็นสภาพการต่อสู้ปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่แถบนี้

ผู้ก่อความไม่สงบกล่าวว่า พวกตนสนใจที่จะเอาชนะใจคนในท้องที่มากกว่า ไม่ได้สนใจที่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังอยู่อีกไกล ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องมีกองกำลังเป็นรูปแบบขึ้นมา

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-pathan-03292018193230.html