บทเรียน ‘โตซิลลี่ฟูลส์’ อารยะการสื่อสารความท้าทาย ของมุสลิมในสังคมไทย :
โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 จากกรณี นายวีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ “โต” อดีตนักร้องนำวง “ซิลลี่ฟูลส์” ได้จัดรายการ โต-ตาล กับพิธีกรคู่หูตาล และมีการตอบคำถามจากทางบ้าน “ทำไมอิสลามไม่มีรูปปั้นของพระเจ้า เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ” โดย “โต” ได้ตอบคำถามตอนหนึ่งว่า “การเป็นพระเจ้า หนึ่งข้อแม้คือต้องไม่เหมือนสิ่งใดที่พระองค์สร้าง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่ท่านปั้นไม่มีทางเหมือนพระองค์ พระองค์ยิ่งใหญ่เกินจินตนาการของมนุษย์ที่จะสามารถจับพระองค์ได้ นี่คือพระเจ้า ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นผลักก็ตกแตกแล้ว มันต่ำกว่าผมและมันไม่มีชีวิต” (โปรดดู https://www.isanbanthung.com/18282)
หลังจากนั้นก็มีกระแสวิจารณ์มากมายในโลกโซเชียลถึงความไม่เหมาะสมของโต “ซิลลี่ฟูลส์” ในการให้ทรรศนะครั้งนี้ และทำถ้าจะบานปลายเมื่อมีการโต้ในสื่อเช่นทรรศนะของ เสก โลโซ (โปรดดู https://www.posttoday.com/ent/news/546671) หรือทรรศนะของ อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ที่ชี้ว่า “โต” ไม่เข้าใจโลกจากมุมมองคนอื่น เผยรูปเคารพเป็น “สัญลักษณ์” สื่อสิ่งที่เคารพ (โปรดดู https://www.matichon.co.th/news/903934) รวมทั้งมีการแจ้งความจะให้ดำเนินคดีโตฐานหมิ่นศาสนาพุทธจากหนุ่มเชียงใหม่ (โปรดดู http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/689794)
จนต้องทำให้จุฬาราชมนตรีเเละนักวิชาการอิสลามได้ออกมาเตือนและแนะนำโตเช่นกันในกรณีนี้ (โปรดดู 1.https://www.okmuslim.com/%e0%b8%88%e0%b8%b8%e0%b8%ac%e0%b8…/ 2.https://www.deepsouthwatch.org/node/11808)
ท้ายสุด วันที่ 4 เมษายน โตได้ออกมาขอโทษต่อพุทธศาสนิกชนและทุกท่าน (โปรดดู http://www.partiharn.com/contents/bf/914)
ผู้เขียนก็ต้องชื่นชมโตในการรีบขอโทษสังคมไทยเเละทุกท่านที่ช่วยชี้เเนะในการเเก้ปัญหาครั้งนี้
หวังว่าบทเรียนครั้งนี้จะทำให้มุสลิมฝ่าความท้าทายในสังคมพหุวัฒนธรรมในยุคสื่อไร้พรมเเดน โดยเฉพาะการสื่อสารต่อสังคมของนักการศาสนาหรือคนทำรายการศาสนาในสื่อมุสลิมเองไม่ว่าโทรทัศน์หรือสื่ออื่นๆ เพราะผู้ฟังในยุคนี้มีหลากหลายในสังคมไทยและแพร่กระจายไปเร็วมาก
อับดุลกอเดร์ มันแสละ นักกิจกรรมมุสลิมคนหนึ่งในสังคมไทยเสนอว่า คนที่จะพูดเรื่องศาสนาอิสลามในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความเชื่อหลายศาสนา ต้องคำนึงในสิ่งต่อไปนี้ 1.สำนักคิด (มัสฮับ/นิกายไหน) 2.ต้องเข้าใจหลายวิชา 3.รู้เขารู้เรา (เรียนรู้กติกาของทุกศาสนา) 4.ต้องสำรวม (มีนิสัยไม่ก้าวร้าว) 5.ต้องเข้าใจศาสนาต่างๆ ด้วย ไม่ใช่รู้ศาสนาอย่างเดียว อิสลามดีอย่างเดียว ศาสนาอื่นผิดหมด ถ้าคิดแบบนี้ในมุมกลับ คนในศาสนาอื่นๆ ก็ต้องคิดว่าศาสนาตัวเองดี ศาสนาอื่นๆ ไม่ดี หลายๆ ประเด็นที่เกิดความขัดแย้งกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสื่อปัจจุบันเผยแพร่เร็วมาก ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกคนเป็นสื่อกันหมดแล้ว ใครจะคิดใครจะสอนใครจะวิพากษ์อะไรก็ได้ในเรื่องศาสนา ก็เลยทำให้มีผลกระทบกับสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมแบบสังคมไทยการอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเราจะไม่เชื่อในอีกความเชื่อหนึ่ง แต่เราก็ไม่ควรไปวิพากษ์อีกความเชื่อหนึ่ง…
นอกจากนี้ การจะฝ่าความท้าทายนี้ของมุสลิมเองมีหลายส่วน หนึ่งมุสลิมจะต้องศึกษาหลักการอิสลามกับพหุวัฒนธรรม สองการยอมรับเรื่องพหุวัฒนธรรม สามการสานเสวนาหรืออารยสนทนาหรือสุนทรียะสนทนาระหว่างคนต่างศาสนิกต่างวัฒนธรรมในทุกระดับไม่ว่าประชาชน นักวิชาการ ผู้นำศาสนา สี่การหนุนเสริมการเเก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
ในขณะที่องค์กรศาสนาอิสลามเองโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีจะสร้างนักสื่อสารมุสลิมรวมทั้งผู้เผยแผ่ศาสนาตามทีวีมุสลิมและสื่ออื่นๆ ให้มีอารยะในการเผยแผ่ได้อย่างไรเพราะนับวันกระแสชาวบ้านทั้งมุสลิมเองหรือต่างศาสนิกมองว่าคนที่บรรยายศาสนาอิสลามยังมีอีกหลายคนขาดทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสื่อสารอันนำไปสู่ความขัดแย้งไม่เฉพาะกับต่างศาสนิกเท่านั้น (อย่างเหตุการณ์นี้) แต่ในสังคมมุสลิมกันเองด้วย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.matichon.co.th/news/906205
วันที่ 7 เมษายน 2561 เวลา 12:00 น.