แซมซู แยะแยง สื่อสันกาลาคีรี
ลุกมาน มะ สื่อสันกาลาคีรี
มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ บูหงารายานิวส์
ลุกมาน มะ สื่อสันกาลาคีรี
มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ บูหงารายานิวส์
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
อภิสิทธิ์ เปิดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ อิสลามศึกษาหลังยุคโลกาภิวัตน์ ยันรัฐยอมรับความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานี ย้อนอดีตความเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาโลก พร้อมทุ่มงบประมาณพัฒนาวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. ชี้เป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ หัวข้อ "Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies" โดยมีนักวิชาการทางด้านอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ 40 แห่ง ใน 16 ประเทศเข้าร่วม
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงานว่า มหาวิทยาลัยมีความปรารถนาที่จะให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.เป็นศูนย์กลางทางด้านอิสลามศึกษาของภูมิภาค ที่ให้นักศึกษาทั้งประเทศเพื่อนบ้านและจีนเข้ามาเรียนอิสลามศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอก ปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศจีน โซมาเลีย และไนจีเรียมาเรียนแล้ว 20 คน
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน(ซ้าย) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนาอิสลาม ประเทศกาตาร์
จากนั้นรศ.ดร.บุญสม พร้อมด้วย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยศ.ดร.กนก แถลงว่า เหตุที่จัดสัมมนาครั้งนี้ที่ปัตตานี เนื่องจากในอดีตเมื่อ 700 – 800 กว่าปีก่อน ปัตตานีเป็นดินแดนที่มีอารยธรรม มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพมากมาย และมีประวัติศาสตร์ของนักคิดนักวิชาการจำนวนมาก ที่อยู่ในภูมิภาคนี้มากมาย ได้ใช้ปัตตานีในการศึกษา วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อิสลาม และเทคโนโลยีอิสลาม
ศ.ดร.กนก แถลงต่อไปว่า เพราะฉะนั้นปัตตานี จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่จะตอบคำถามเรื่องอิสลามศึกษาในยุคหลังโลกาภิวัฒน์ เพราะฉะนั้นคำตอบที่ปัตตานีวันนี้ จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศไทย แต่เป็นการตอบคำถามสำหรับโลกที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และให้การสนับสนุน แต่นายกรัฐมนตรีมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องทางวิชาการ เป็นเรื่องความคิด น่าจะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความรุ่งเรืองของอิสลามศึกษา ซึ่งปัตตานีเคยเป็นศูนย์กลาง และหวังว่าหลังจากนี้ไป ปัตตานีจะปรากฏอยู่ในแผนที่โลกของอิสลามศึกษา ใครที่ไหนก็ตามที่พูดถึงอิสลามศึกษา จะต้องพูดถึงปัตตานี” ศ.ดร.กนก กล่าว
ศ.ดร.กนก แถลงอีกว่า มั่นใจว่าในอนาคตเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของอิสลามศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์หน้านั้น ก็จะบอกอีกว่า ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง นี่คือความภาคภูมิใจของคนไทย ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้ทำประโยชน์ในทางวิชาการให้กับโลกมุสลิมในอนาคต
ศ.ดร.กนก แถลงด้วยว่า รัฐบาลตั้งใจจะสนับสนุนอิสลามศึกษาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้อาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษามุสลิมทั่วโลก ที่สำคัญคือจะจัดให้มีการสอนภาษาอาหรับที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา และจะมีการทดสอบมาตรฐานทางภาษา นักศึกษาที่สอบผ่านก็ไม่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ สามารถที่จะสมัครเรียนต่อไปเลย เหมือนกับการสอบโทเฟลที่ใช้ในการสอบภาษาอังกฤษ
ศ.ดร.กนก แถลงเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐบาลบาลจะทำต่อหลังจากนี้คือ การสัมมนาลักษณะนี้จะมีต่อไป อาจเป็นทุก 2 ปี และสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ และบุคลากร นอกเหนือจากอาคารสถานที่ เป็นศูนย์กลางของภาษาและเป็นศูนย์ในเรื่องการวิจัย
รศ.ดร.บุญสม กล่าวต่อว่ามีความเป็นไปได้ที่วิทยาลัยอิสลามจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลาม มีความพร้อมสู่ความเป็นเลิศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางที่ดึงเด็กจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในพื้นที่ โดยหวังว่าจะให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็น “sekolah” (โรงเรียน) ของโลกอิสลามศึกษา ปัจจุบันนักวิชาการของวิทยาลัยอิสลามศึกษามีความรู้ระดับโลก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารภาษาอาหรับ จึ้งจำเป็นต้องตั้งศูนย์ภาษาอาหรับ
จากนั้นการสัมมนาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเวลา 15.00 น. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน และกล่าวปาฐกถา โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นหัวใจหลักของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทางด้านศาสนาและทางโลก ซึ่งต้องเข้าใจว่าอิสลามไม่ได้ทำให้แตกต่างกันระหว่างศาสนาการศึกษาหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากมีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“หลักสูตรอิสลามศึกษาจำเป็นต้องมีการออกแบบโดยให้มีมุมมองสำคัญด้านการตลาด เมื่อนักศึกษาด้านอิสลามศึกษาเรียนจบ เขาต้องได้รับการรับรองว่าจะสามารถหางานที่ต้องการได้” นายอภิสิทธิกล่าว
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมนานาชาติว่าด้วยอิสลามศึกษา ซึ่งมีผู้แทนจากต่างประเทศ จากหลายมหาวิทยาลัยในโลกมุสลิมมาร่วม เป็นก้าวสำคัญมากสำหรับเรื่องการศึกษา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะลูกหลานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามที่ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พูดถึงการที่จะให้ปัตตานีปรากฏอยู่ในแผนที่โลกอิสลามศึกษา หมายถึงรัฐบาลไทยได้ยอมรับการมีอยู่จริงของประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้วอย่างเป็นทางการ และสิ่งที่จะตามมาคืออะไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่า เรื่องวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์ ต้องเคารพในความเป็นจริงและความหลากหลาย คิดว่ารัฐบาลไม่ปฏิเสธเรื่องนี้
“เราได้ยอมรับเรื่องความเป็นจริงและความหลากหลายมาโดยตลอด ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนพึงได้รับรู้รับทราบ และจริงๆ แล้ว ในแง่ความหลากหลายที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ควรจะมีความภาคภูมิใจ และส่งเสริมความหลายหลายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภายใต้นโยบายของรัฐบาล และขณะนี้จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานได้สนองนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนาอิสลาม ประเทศกาตาร์ กล่าวในการแถลงข่าวด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ไม่เป็นเพียงการนำเสนอ บทความเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ควรมีการสรุปแล้วนำมาใช้ประโยชน์จริง
นายอูมัร แถลงต่ออีกว่า หลังจากนี้ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมทั้งทางระบบและหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยมีนักวิชาการทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมร่วมกันทำงานเพื่อตอบโจทย์ในข้อของการเข้าถึงความหลากหลายและความเข้าใจร่วมกันระหว่างมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
“รัศมีแห่งอิสลามจะเจิดจ้าขึ้นมาในผืนแผ่นดินปัตตานีอีกครั้งเพราะเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาในภูมิภาคดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตตามที่มีบันทึกตามหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”
นายอุมัร แถลงอีกว่า ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนโดยเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมได้ดำเนินงานศาสนาอย่างเป็นอิสระและเต็มที่นั่นคือจุดเด่นของรัฐบาลไทยในชุดปัจจุบัน
นายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลหวังจะให้ปัตตานีเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษา โดยให้ปรากฏในแผนที่โลกอิสลามศึกษานั้น เป็นเพียงวาทกรรม ต้องดูว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำหลังจากนี้มีอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม