Skip to main content

 

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

 

สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ กำลังทำเรื่องน่าที่ตื่นเต้นและน่าตกใจหลายอย่าง ในขณะที่เขากำลังสั่งกองทัพอากาศของอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสกระหน่ำโจมตีทางอากาศซีเรียเมื่อกลางเดือนเมษายนนี้ ทรัมป์กำลังจะทำสงครามใหญ่ในโลกอีกสงครามหนึ่งคือสงครามการค้า แต่คราวนี้กับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นที่สองของโลกเป็นรองจากอเมริกา คู่ต่อผู้นี้ก็คือจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง การต่อสู้ระหว่างทรัมป์และสีจิ้นผิงสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองและเศรษฐกิจของโลกหลายอย่างที่ซับซ้อนมาก อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอันตรายของสงครามการค้าโลกและผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการครอบครองระบบทางเทคโนโลยี ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

 

รายงานวิเคราะห์ต่อไปนี้มาจากการวิเคราะห์ของ The Foreign Affairs นิตยสาร Time และ The Economist ฉบับเดือนเมษายนนี้ การวิเคราะห์ดังกล่าวมีประเด็นและสาระสำคัญที่น่าสนใจมากซึ่งจะมีผลต่อการมองยุทธศาสตร์ของประเทศไทยหลังจากยักษ์ใหญ่ธุรกิจจีนอย่างแจ็ค หม่ามาลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเมื่อไม่กี่วันมานี้

 

(ที่มาภาพ: รอยเตอร์)

ooo

 

ในที่สุดประธานาธิบดีทรัมป์ก็ทำอย่างที่ประกาศในนโยบายที่ประกาศว่าจีนต้องรับผิดชอบต่อการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทรัมป์อ้างเครดิตว่าตัวเองสามารถจะทำได้มากกว่าประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ที่กล้ากล่าวหาว่าจีนมีพฤติกรรมไม่ดีในการค้า แต่วิธีการของเขาทำให้เกิดความขัดแย้งในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้า ทำให้เกิดผลเสียต่อบริษัทอเมริกันและผู้บริโภคในประเทศ กลายเป็นการลงโทษต่อพันธมิตรของอเมริกา และบ่อนทำลายระบบการค้าของโลก ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ในการปกป้องนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของอเมริกา ปกป้องความเจริญมั่งคั่งและภาวะผู้นำของอเมริกาในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

 

แน่นอน ไม่มีใครโต้แย้งว่าจีนทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าของโลกและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา หลายปีที่ผ่านมา ปักกิ่งส่งออกสินค้าไปท่วมตลาดโลกด้วยสินค้าที่รัฐให้เงินอุดหนุน ซึ่งบีบให้บริษัทของสหรัฐอเมริกาต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังบริษัทของจีน จำกัดการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่มากในประเทศจีนของบริษัทต่างชาติและปฏิบัติการขโมยสินทรัพย์ทางปัญญาอย่างโจ่งแจ้ง สหรัฐอเมริกาต้องเสียหายอย่างหนักหน่วงด้วยความสูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสในการจ้างงาน บัดนี้จีนก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบใหม่ทำให้ปฏิบัติการอย่างเดียวกันนี้เป็นภัยคุกคามต่อฐานแห่งนวัตกรรมอันมีมูลค่าสูงของอเมริกาเพราะจีนมุ่งมั่นที่จะครอบครองเทคโนโลยีแห่งอนาคตซึ่งรวมถึงโรบอติคส์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

 

ขณะที่ทรัมป์มีคำขวัญว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (American First) แต่เขากำลังทำให้อเมริกาโดดเดี่ยว เป็นที่รู้กันในทุกปีกทางการเมืองรวมทั้งภาคธุรกิจในอเมริกาว่าทรัมป์ปรารถนาจะสู้รบกับลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ของจีน แต่แนวทางนี้กลายเป็นข้อโต้แย้งถกเถียงกันมากยิ่งขึ้น รัฐบาลทรัมป์ใช้วิธีการทางกฎหมายแบบเก่าที่ไม่ค่อยได้ใช้กัน แต่กฎหมายนี้มีมาก่อนเกิดกลไกการแก้ข้อพิพาทแบบพหุภาคีในองค์กรการค้าโลกหรือ WTO โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายการขยายการค้าในปี 1962 และกฎหมายการค้าปี 1974 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ ตอบโต้ต่อภัยอันตรายต่อสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของชาติ รวมทั้งการทุ่มนำเข้าสินค้าจำนวนมาก การพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากเกินขอบเขตอันคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและการกีดกันต่อบริษัทของอเมริกัน ทรัมป์ตัดสินใจใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อบังคับใช้กำแพงภาษีศุลกากรขาเข้าแบบกวาดอย่างไม่เลือกหน้าต่อสินค้า เช่น เครื่องซักผ้าและแผงกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์ ต่อมาก็ใช้กับสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมต่างชาติ 

 

แต่ปฏิกิริยาตอบโต้จากภายในประเทศทำให้ทรัมป์ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น การตอบโต้จากจีนก็ส่อให้เห็นว่ากำลังจะเกิดสงครามการค้ายุคใหม่ นิตยสาร Time ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2018 รายงานว่าหลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีขาเข้าต่อสินค้าเข้าประเภทเหล็กและอลูมิเนียม ทรัมป์ก็ถูกรุมทันทีจากธุรกิจในอเมริกาที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับเหล็กและต้องการเหล็กราคาถูกรวมทั้งพันธมิตรการเมืองซึ่งส่งออกเหล็ก พวกผู้ว่าการรัฐจากพรรคริพับลิกันและสมาชิกสภาหลายคน รัฐบาลจึงประกาศยกเว้นมาตรการขึ้นภาษีขาเข้ากับยุโรป และประเทศอื่น เช่น แคนาดา เม็กซิโก บราซิล และเกาหลีใต้ แต่ไม่ยกเว้นให้ประเทศจีนซึ่งเป็นตัวเหตุสำคัญทำให้นักธุรกิจอเมริกันไม่พอใจด้วยการจำกัดการเข้าถึงตลาดในประเทศตัวเองและขโมยสินทรัพย์ทางปัญญา

 

ในวันที่ 22 มีนาคม ทรัมป์ประกาศว่าเขาตั้งใจจะขึ้นภาษีขาเข้าอีก 50,000 ล้านดอลลาร์คราวนี้พุ่งเป้าไปที่จีน และยังขู่ว่าจะมีมาตรการมากกว่านี้ถ้าปักกิ่งไม่มีปฏิบัติการอะไรเลยเพื่อที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของอเมริกากับจีนที่สูงมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์

 

ฝ่ายจีนตอบโต้ในทันที มาตรการที่หนึ่งในวันที่ 2 เมษายน จีนประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้า 128 รายการมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์และขู่ว่าจะมีมากกว่านี้เพื่อตอบกลับการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐอเมริกา ข้อสังเกตก็คือสัดส่วนการขึ้นภาษีตอบโต้ของจีนยังเป็นสัญญาณว่าจีนยังไม่อยากจะสู้ตอนนี้ แต่จีนก็คงไม่ถอยแน่ถ้าทรัมป์เร่งกระแสการต่อสู้ให้ขยายตัว ในวันที่ 3 เมษายนรัฐบาลทรัมป์เปิดเผยรายชื่อของสินค้าจากจีนที่น่าจะเป็นเป้าหมายในข้อเสนอในการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าอีกครั้งซึ่งมีจำนวนมากถึง 1,300 รายการและอาจจะมากกว่านั้น วันที่ 4 เมษายน จีนก็เพิ่มเบี้ยเดิมพันอีกด้วยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้าของอเมริกามีมูลค่าถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ 

 

มีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่การต่อสู้นี้จะขยายตัวลุกลามไปมากยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองฝั่งต่างก็คิดว่าตัวเหนือกว่า ฝ่ายทรัมป์รู้ว่าสภาพจีนยังเปราะบางในเรื่องปฏิบัติการทางการค้า เพราะว่าจีนต้องพึ่งพาการค้าส่งออกมากกว่าฝ่ายสหรัฐฯ จากข้อมูลธนาคารโลก 37% ของจีดีพีจีนคือการค้า ส่วนของสหรัฐอเมริกาพึ่งพาการค้า 27% ซึ่งย่อมทำให้จีนอ่อนแอกว่าสหรัฐอเมริกา

 

แต่อย่าลืมว่าทรัมป์ก็อ่อนแอทางการเมืองมากกว่าสี่จิ้นผิงด้วย จึงไม่เป็นการบังเอิญที่สินค้าที่ถูกเล็งเป้าเพิ่มภาษีจากฝ่ายจีนคือโสมและเนื้อหมู อันเป็นสินค้าหรือผลผลิตที่มีผลกระทบต่อมลรัฐอย่างเช่นวิสคอนซินและไอโอว่าซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการเลือกตั้งในปี 2020 ทรัมป์จะถูกวิจารณ์จากสังคมมากกว่าสี่จิ้นผิงแน่ๆ นิตยสาร Time สรุปได้อย่างน่าสนใจว่าจีนนั้นไม่มีรัฐที่ฐานเสียงแกว่งไกวไปมา (swing states) แบบอเมริกา

 

ปักกิ่งเริ่มยกที่สองด้วยการตั้งกำแพงภาษีขาเข้าต่อสินค้าอเมริกาซึ่งรวมทั้งรถยนต์ น้ำส้มคั้นและถั่วเหลืองซึ่งมีมูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นี่ก็จะมีผลต่อฐานเสียงของทรัมป์อีกและนี่ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสงครามการค้าเท่านั้น

 

ooo

 

ที่จริงการต่อสู้ในทางการค้าครั้งนี้เป้าหมายของทั้งสองฝ่ายนั้นต่างกัน ทรัมป์ต้องการให้ธุรกิจอเมริกาสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่โตของจีนมากขึ้นและต้องการลดการขาดดุลการค้าเป็นอย่างมากเพื่อชัยชนะในทางการเมือง แต่สีจิ้นผิงของจีนนั้นต้องการเข้าไปให้ถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ตัวเองก้าวกระโดดก้าวใหญ่จากศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจแบบโรงงานไปสู่การเป็นผู้ประดิษฐ์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสุดในทางอุตสาหกรรมและทำให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนมากที่จะมาจากความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ โรบอติกส์ และไมโครชิปส์ที่ล้ำหน้า สหรัฐอเมริกาอาจจะชนะได้ด้วยการทำให้จีนยอมให้ตัวเองเข้าถึงตลาดภายในของจีน แต่จีนก็คงจะไม่หยุดปฏิบัติการทางการค้าที่บีบให้บริษัทของอเมริกายอมแชร์เทคโนโลยีเพื่อเป็นการตอบแทนการยอมเปิดตลาดของตนเอง

 

เกมส์นี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าลัทธิพาณิชย์นิยมสมัยใหม่และสงครามทางการค้าเกี่ยวโยงอย่างมีนัยสำคัญกับการต่อสู้ในเรื่องการครอบครองความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เบื้องหลังจึงเป็นการสู้กันในเรื่องระบบเทคโนโลยีของโลกด้วย และน่าจะมีผลต่อเนื่องที่ซับซ้อนยิ่ง ในเรื่องของเทคโนโลยีนั้น นิตยสาร The Economist วิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบว่า นี่เป็นสงครามเพื่อชิงความเป็นเจ้าในโลกดิจิตอล (Digital Supremacy) ตอนนี้บริษัทอาลีบาบาและเท็นเซ็นต์มีตลาดมูลค่าถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งสามารถแข่งกับ Facebook ได้แล้ว จีนยังมีตลาดธุรกิจการจ่ายเงินออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก ยิ่งกว่านั้น ตะวันตกเริ่มหวั่นใจว่าจีนยังเป็นเจ้าของระบบ Supercomputer ที่เร็วที่สุดในโลกแล้วและกำลังจะสร้างศูนย์กลางวิจัยด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์โดยใช้เงินอย่างรุ่มรวยไม่อั้น ระบบการนำทางด้วยดาวเทียมของจีนที่กำลังออกมาตอนนี้จะทำให้จีนสามารถแข่งกับ GPS ของอเมริกาได้ในปี 2020

 

ตอนนี้ดูเหมือนอเมริกากำลังหนาวสั่นไปด้วย มีการสอบสวนซึ่งน่าจะได้ผลสรุปว่าการขโมยสินทรัพย์ทางปัญญาโดยจีนทำให้บริษัทอเมริกาสูญเสียทรัพย์สินเป็นมูลค่าถึงหลักหนึ่ง 'ล้านล้าน' ดอลลาร์ เมื่อต้นปีนี้สภา คองเกรสของสหรัฐฯได้ออกกฎหมายห้ามมิให้รัฐบาลสหรัฐฯทำธุรกิจกับสองยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนคือ Huawei และ ZTE แต่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทอัลฟาเบตซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google บอกว่าในปี 2025 จีนน่าจะตามทันและแซงหน้าอเมริกาในเรื่อง Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์แล้ว

 

ประธานาธิบดีทรัมป์จึงใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการห้ามการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรมูลค่า 142,000 ล้านดอลลาร์ต่อบริษัทอเมริกันผู้ผลิตชิบหรือหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ชื่อ Qualcomm โดยบริษัทคู่แข่งจากสิงคโปร์ชื่อ Broadcom ด้วยข้ออ้างว่ากลัวเป็นปัญหาความมั่นคงเพราะจีนจะนำหน้าอเมริกาเรื่อง 5G แต่การตอบโต้แบบนี้เป็นเหมือนปฏิกิริยาแบบคนสะดุ้งกระตุกหัวเข่าเท่านั้น ไม่เป็นการตอบโต้ที่ถูกต้องในเชิงยุทธศาสตร์ ทรัมป์มักพลาดแบบนี้บ่อย ๆ

 

เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าจีนมีการรวบรวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้าน AI มาอยู่ด้วยกันมากที่สุดในเวลานี้และยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 800 ล้านคนซึ่งมากกว่าประเทศใดในโลกด้วยซึ่งก็หมายความว่าข้อมูล Big Data ขนาดนี้สามารถจะนำมาพัฒนา AI ได้ไม่ยาก ถ้ามองอย่างกลาง ๆ แล้ว ก็คงต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปรวมทั้งคนอเมริกันด้วย การที่สหรัฐอเมริกาจะกดจีนให้ต่ำเพื่อให้ตัวเองมีฐานะนำอย่างเดียวอาจจะนำความปั่นป่วนมาสู่โลกก็ได้

 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง วิทยาการเทคโนโลยีในด้านข้อมูลข่าวสารก็เป็นฐานของการผลิตอุตสาหกรรม ฐานของระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีการสร้างอาวุธ ระบบทั้งหมดนี้มีผลกระทบในเชิงเครือข่ายที่เข้มข้นเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้ชนะสถาปนาอำนาจนำที่ไม่มีใครท้าทายได้ในทุก ๆ ตลาด นั่นก็หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเบียดขับประเทศอื่นให้ออกไปจากเทคโนโลยีที่สำคัญจากคู่แข่งการค้าต่างประเทศที่ตัวเองถูกปั้มให้โตด้วยทุนของรัฐบาลแบบจีน

 

ในกรณีของจีนปัญหาในการแข่งขันนี้ยังอยู่ที่ระบอบอำนาจนิยมที่กดขี่กำลังจะยึดฐานทางเทคนิคทำให้ตัวเองเป็นตัวเลือกแทนที่ระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่ผู้นำจีนก็ยืนยันว่าต้องการอยู่ในโลกที่เป็นฝ่ายชนะทั้งคู่ อเมริกาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยอมรับและมองดูจีนพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่จุดสุดท้ายที่ตนเองก็ไม่พึงปรารถนา

 

ความจริงจีนมียุทธศาสตร์ที่แหลมคมและท้าทายมากในการพัฒนาเทคโนโลยีแข่งขันกับตะวันตกโดยผ่านระบบการค้า ปัญหาก็คือจะสู้กันอย่างไร? สหรัฐอเมริกาเคยประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1950-1960 ในการต่อสู้กับอดีตโซเวียตรัสเซียในเรื่องเทคโนโลยีการสร้างยานอวกาศและอาวุธด้วยการลงทุนอย่างมากมายในการศึกษาและวิจัยทางเทคโนโลยี ผลที่ตามมาคือการเกิดซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) อันเลื่องชื่อซึ่งให้กำเนิด Microsoft และ Apple Macintosh ขณะนี้หกสิบปีให้หลังสหรัฐอเมริกายังคงต้องการการผสมผสานกันระหว่างการลงทุนของรัฐในด้านเทคโนโลยีและพลังธุรกิจเอกชนเพื่อดำเนินนโยบายแห่งชาติแบบเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในอดีต

 

แต่ทรัมป์ดูเหมือนจะสอบไม่ผ่านในทุกด้านเรื่องการสู้ทางยุทธศาสตร์ ทรัมป์มีมาตรการที่ทำให้เกิดสับสนกันระหว่างการต่อสู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีกับการเป็นลัทธิปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า (Protectionism) ซึ่งเป็นอันตรายมาก ทรัมป์เพิ่งจะปฏิเสธแผนที่จะขึ้นภาษีขาเข้ากับจีนเพื่อทดแทนการบีบบังคับการโอนถ่ายเทคโนโลยีของจีน ทรัมป์ยังเน้นหนักเรื่องขึ้นกำแพงภาษีมากจนเกินไป ถ้าสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีขาเข้ากับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนมากเกินไป ความเจริญมั่งคั่งอเมริกาจะได้รับผลเสียโดยไม่มีผลดีอะไรต่อความมั่นคงของชาติและยังอาจจะเกิดสงครามการค้าที่ทำลายประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสองประเทศในที่สุด

 

สรุปได้ว่าแนวทางของทรัมป์นั้นต้องการจะบีบคอจีนอย่างเดียว โดยละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพของตัวเอง งบประมาณสหรัฐอเมริกาในการวิจัยและพัฒนามีเพียง 0.6% ของ GDP ในปี 2015 ซึ่งนับเป็นแค่หนึ่งในสามของงบประมาณวิจัยในปี 1964 เท่านั้น กระนั้นก็ตามในปี 2019 นี้ทรัมป์ก็จะตัดงบประมาณการวิจัยและพัฒนาในงบประมาณส่วนที่ไม่ใช่การป้องกันประเทศลงถึง 42.3% ซึ่งรวมไปถึงงบการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้แรงงานย้ายถิ่นที่มีทักษะเทคนิคก็ถูกปิดกั้นด้วยระบบวีซ่าที่เข้มงวดทำให้สหรัฐอเมริกาขาดโอกาสที่จะได้นักวิทยาศาสตร์จากชาติอื่นมาทำงานให้ตัวเองเหมือนในปี 1960-70

 

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ของ Foreign Affairs ชี้ว่าการตั้งกำแพงภาษีขาเข้าของทรัมป์อาจจะสำเร็จในระยะสั้นในการแก้ปัญหาการปฏิบัติที่เป็นผลร้ายต่ออเมริกา แต่ความเสียหายในระยะยาวอาจจะล้นเกินผลประโยชน์ที่ได้รับด้วย นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าภาษีขาเข้าเป็นเครื่องมือที่แย่มากเว้นเสียแต่กรณียกเว้นในบางครั้งบางคราวเท่านั้น ภาษีจะไปเพิ่มราคาที่ผู้บริโภคและกระทบบริษัทที่อยู่ปลายน้ำซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นภาษีขาเข้าเหล็กอาจจะดีกับอุตสาหกรรมเหล็กของอเมริกาแต่เป็นผลร้ายกับโรงงานส่วนใหญ่ในอเมริกาเช่นกัน จากการประมาณการของผู้เชี่ยวชาญบางคน การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นหมื่นรายจากการเพิ่มภาษีขาเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของทรัมป์ แต่นี่ก็จะถูกถ่วงดุลกับการจ้างแรงงานที่สูญเสียไปเกือบห้าแสนคนทั่วประเทศซึ่งก็หมายความว่าการจ้างงาน 18 ตำแหน่งจะเสียไปต่อการได้งานมาหนึ่งตำแหน่ง ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจริงด้วย ภาษีขาเข้าเหล็กที่ออกโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในปี 2002 ทำให้มีผู้สูญเสียงานไปถึง 200,000 คน

 

เท่านั้นยังไม่พอ พิกัดอัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์ยังมีผลกระทบอย่างแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก ประเทศอื่นอาจใช้วิธีการของทรัมป์มาขยายความเรื่องความมั่นคงแห่งชาติและกีดกันสินค้าของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกผลกระทบอาจนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ WTO บนฐานที่ว่ารัฐบาลทรัมป์ใช้ข้ออ้างการยกเว้นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอย่างไม่มีคุณธรรม

 

การขยายผลในการตัดสินใจของทรัมป์เรื่องภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมยังเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามสร้างความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผลของประเทศต่าง ๆ เพื่อต้านการปฏิบัติทางการค้าของจีน มาตรการของทรัมป์ครอบคลุมไปถึงประเทศคู่ค้าทั้งหมดรวมทั้งพันธมิตรในยุโรปและเอเชีย คำประกาศเริ่มต้นมาตรการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดไปยังออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งควรจะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาจัดการกับการเพิ่มศักยภาพอันล้นเกินและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของจีน มันทำให้กรรมาธิการยุโรปไปไกลถึงขั้นที่หันไปคุยกันเองว่าจะหาทางตอบโต้แก้แค้นอเมริกาต่อสินค้าบางอย่าง เช่น บลูยีนส์และเครนเบอรรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้พูดเป็นนัยว่าจะมีความร่วมมือกันน้อยลงในเรื่องวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รัฐบาลทรัมป์ยอมลงต่อแรงกดดันเหล่านี้ด้วยการประกาศยกเว้นภาษีกับประเทศคู่ค้า แต่พันธมิตรสำคัญเช่นญี่ปุ่นยังคงอยู่ในลิสต์เป้าหมาย และความเสียหายได้บังเกิดขึ้นแล้วด้วย

 

ooo

 

อันที่จริงท่าทีของทรัมป์ควรจะแข็งแต่ก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย ลูกตุ้มเหล็กของทรัมป์ในเรื่องการค้าไม่ใช่ทางเลือกทางเดียว และก็ไม่ใช่ว่าจะหันกลับไปหาการเจรจาต่อรองที่ไร้ผล ตรงกันข้าม ควรใช้การผสมผสานกันอย่างพอดีพอควรระหว่างการมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เข้มแข็งของวอชิงตัน บวกกับการมีภาวะผู้นำของอเมริกาในต่างประเทศเพื่อตอบโต้กับผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมของจีนโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายของใครที่เกิดจากลูกหลงในกระบวนการนี้ 

 

การรุกที่ดีเริ่มต้นจากการป้องกันตัวที่ดี สหรัฐอเมริกาควรปรับปรุงและยกระดับคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (CFIUS) ซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาลที่มีหน้าที่ตรวจสอบการลงทุนของต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ในด้านความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคผ่านสภาคองเกรสเพื่อคัดกรองเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญ ดังเช่นอังกฤษมีหน่วยงานตรวจสอบที่ทำถึงขั้นนั่งแกะ Huawei เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อดูแหล่งกำเนิดเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐสภาจะสร้างกฎหมายแบบนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากการเปิดตลาดหรือสร้างบรรยากาศการลงทุนในอเมริกาและต้องให้ CFIUS มีทรัพยากรมากพอที่จะจัดการกับจำนวนงานที่รับผิดชอบมากขึ้น สำนักงานผู้แทนทางการค้าของสหรัฐอเมริกาก็ควรจะมีจำนวนบุคลากรและทรัพยากรมากขึ้นเพื่อมุ่งให้ความสนใจกับการบังคับใช้กฎหมายทางการค้านอกเหนือไปจากการเจรจาต่อรองทางการค้า

 

การแก้ปัญหาทางการค้าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมในการตอบสนองต่อการท้าทายของจีน รัฐบาลทรัมป์ไม่ผิดที่มองดูที่เครื่องมืออย่าง เช่น มาตราที่ 301 ของกฎหมายทางการค้าปี 1974 เพื่อผลักดันตอบกลับต่อพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่ดีของจีนซึ่งรวมทั้งการที่บริษัทจีนบีบบังคับคนอื่นให้ต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี แต่ปฏิบัติการทางกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกาควรจะแก้ปัญหาที่รากเหง้าที่เป็นมิติพื้นฐานกล่าวคือการชนะใจได้รับการสนับสนุนจากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วยและหลีกเลี่ยงการละเมิดพันธะระหว่างประเทศของวอชิงตัน ตรงกันข้าม การตั้งกำแพงภาษีเป็นการละเมิดกฎของ WTO อย่างชัดเจนและเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดการแก้แค้นตอบโต้

 

ด้วยการใช้แนวทางที่มุ่งเป้าอย่างชัดเจนไปที่จีน สหรัฐอเมริกาสามารถรวบรวมประเทศคู่ค้าที่สำคัญเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่มีเจตนาร้ายของจีนในลักษณะที่ใช้ความร่วมมือกันมากขึ้น การกระทำของสหรัฐฯอย่างโดดเดี่ยวยิ่งทำให้จีนหันไปใช้วิธีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น วอชิงตันจึงควรที่จะร่วมมือกับคู่ค้าในเอเชียและยุโรปเพื่อร่วมมือกันร้องเรียนใน WTO และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเรื่องกิจกรรมการลงทุนของจีน

 

นอกจากจะเล่นเกมส์ตั้งรับให้ดีแล้ว สหรัฐอเมริกายังควรจะเป็นผู้นำในด้านวิสัยทัศน์เชิงบวกด้วยการร่างกฎเกณฑ์ใหม่ในการค้าและการลงทุนสำหรับศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด กฎพวกนี้ตั้งอยู่บนความคาดหวังว่าจะสกัดกั้นการปฏิบัติที่ไม่แฟร์ของจีนโดยบังคับให้จีนยอมปฏิบัติตามกติกาหากยังต้องการจะได้ประโยชน์จากตลาดการค้าที่เปิดเสรีและการลงทุนในเอเชีย แปซิฟิคและที่อื่น ๆ

 

ความจริงนี่เป็นเป้าหมายของข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) และความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา (TTIP) ซึ่งข้อตกลงทั้งสองถูกยกเลิกโดยทรัมป์เอง ข้อตกลงดังกล่าวจะตั้งมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่ยากขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับจีนรวมทั้งเรื่องรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐและการทำให้ระบบข้อมูลเช่น Big Data เป็นของท้องถิ่น ข้อตกลงยังรวมถึงเรื่องมาตรฐานการจ้างงานและประเด็นสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับสนามในการเล่นของแรงงานอเมริกันและป้องกันการแข่งกันลดมาตรฐานให้ต่ำลง ประมาณกันว่าการที่ทรัมป์ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียรายได้ในอนาคตถึง 131,000 ดอลลาร์ต่อปีในปี 2030 นอกจากนี้การต่อรองในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 20 มาตรการที่ไม่มีสหรัฐอเมริการ่วมอยู่ด้วยทำให้กระบวนการนี้ต้องหยุดไปชั่วคราว 

 

ดังนั้น การแข่งขันกับจีนที่มีประสิทธิผลไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของนโยบายการค้าเท่านั้น สหรัฐอเมริกายังควรจะต้องเพิ่มการลงทุนภายในประเทศด้วย การพัฒนาคุณภาพของระบบการดูแลทางสาธารณสุข ระบบการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานก็มีความสำคัญมากต่อประชาชนอเมริกันไม่แพ้เรื่องการเพิ่มอัตราภาษีขาเข้า ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาควรจะพิจารณาหาแนวทางสร้างการริเริ่มสร้างสรรค์ที่เป็นแนวทางไม่ยึดอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดซึ่งรวมไปถึงการค้าและการสร้างระบบอัตโนมัติ 

 

สุดท้ายแล้วผู้นำสหรัฐอเมริกาต้องกล้าที่จะคัดค้านความคิดแบบตามกลุ่มในเรื่องลัทธิปกป้องทางการค้า คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า จากการสำรวจความคิดเห็น Gallup Poll ผู้ตอบร้อยละ 70 มองว่าการค้าต่างประเทศเป็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทรัมป์อาจจะทำประโยชน์ให้สหรัฐอเมริกาในแง่ที่ตื่นตัวมามองว่าลัทธิพาณิชย์นิยมของจีนเป็นประเด็นสำคัญในทางนโยบายแต่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่วอชิงตันจะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว หันมาลงโทษพันธมิตรและบ่อนทำลายความพยายามร่วมมือกันเพื่อทำให้จีนมีความรับผิดชอบมากขึ้น มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐไม่สร้างสรรค์และมีผลเสียหายมากกว่า

 

ข้อสรุปก็คือว่า น่าจะมีหนทางที่ดีกว่านี้ในการแก้ปัญหาซึ่งประกอบด้วยมาตรการป้องกันตนเองที่เข้มแข็ง ปกป้องระบบเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดของสหรัฐอเมริกา การแก้ไขข้อตกลงในการปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่มีเหตุผล สร้างวาระนโยบายเชิงบวกด้วยการเขียนกฎเกณฑ์ที่ยกระดับภาวะผู้นำและความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริการวมทั้งการลงทุนในบ้านตัวเองซึ่งควรจะทำมานมนานแล้วเพื่อเสริมสร้างความสามารถของคนอเมริกันในการแข่งขันกับใครก็ได้รวมทั้งจีนด้วย บทเรียนนี้ประเทศอื่น ๆ ก็ควรจะระวังด้วยโดยเฉพาะในเอเชียที่อาจจะกลายเป็นแค่ระบบรองรับตลาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนเท่านั้น