ที่ 009/2553
วันที่ 23 ธันวาคม 2553
แถลงการณ์:
ขอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติที่มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้
กรุงเทพฯ -วันนี้ (23 ธันวาคม 2553) เป็นวันที่ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ(The Convention for Protection of all Persons from Enforced Disappearance)มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากประเทศอิรักได้ให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 20 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
อนุสัญญาฯฉบับนี้ได้รับการรับรองในทางสากลจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2549 เพื่อยกระดับให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่คุกคามมนุษยชาติ” เช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งตัวเหยื่อ ครอบครัว และสังคม รวมทั้งยังนำมาซึ่งการต้องสูญเสียสิทธิมนุษยชนในอีกหลายด้านพร้อมกัน
นางนาวี พิลไลย ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางกฎหมายในการต่อสู้กับการบังคับบุคคลสูญหายซึ่งนับว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ อนุสัญญาฯฉบับใหม่ก่อให้เกิดกรอบการปฏิบัติสากลที่ชัดเจนในการยุติการงดเว้นโทษ ส่งเสริมการเข้าถึงความเป็นธรรมและสร้างความหวังในการยับยั้งผลกระทบทั้งหลายที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนความพยายามของบรรดาญาติมิตรของเหยื่อในการแสวงหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นที่รักของตน ความเจ็บปวดจากการไม่รู้สถานะของผู้สูญหายว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ถือเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุด และนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมาน”
นางนาวี ยังกล่าวต่อไปว่า “ทั้ง 45มาตราของอนุสัญญาฯ เน้นถึงการไร้ซึ่งข้อยกเว้นด้านสถานการณ์ต่างๆ อาทิ สถานการณ์สงคราม ความไร้เสถียรภาพทั้งหลายอันอาจนำมาใช้อ้างความชอบธรรมของการบังคับบุคคลสูญหายทางการเมือง หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน”
ในประเทศไทย ปัจจุบันมีกรณีบุคคลสูญหายที่คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ(UN WGEID) รับเป็นคดีคนหายของสหประชาชาติแล้วทั้สิ้น 52 คดี แต่พบว่าทุกคดีไม่มีความก้าวหน้าในทางคดี
“อุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัวคนหายคือ การไม่มีกฎหมายซึ่งกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม อีกทั้งเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ครอบครัวมักถูกคุกคามจนไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการบังคับให้บุคคลสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นการท้าทายอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยในการให้ความคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมต่อเนื่องนี้ อีกทั้งยังท้าทายความจริงใจของกระบวนการยุติธรรมไทยในการให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลทุกคนว่า แท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยจะยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่” –นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว
ในโอกาสที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ(The Convention for Protection of all Persons from Enforced Disappearance) มีผลบังคับใช้ในทางสากล มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติ โดยเร็ว เพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลทุกคนในการที่จะไม่ถูกทำให้สูญหายในท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน การปราบปรามการก่อการร้าย นโยบายต่อต้านยาเสติด หรือความขัดแย้งทางการเมือง
2. รัฐบาลต้องให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม มีการกำหนดโทษผู้กระทำผิด และให้มีการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้มีการเยียวยาแก่ครอบครัว ซี่งครอบคลุมถึงสิทธิที่จะทราบความจริง ความคืบหน้าและผลของการสอบสวน ถึงชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหายในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของบุคคล ทั้งปัจจุบัน และอนาคต อีกทั้งเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าบุคคลทุกคนเสมอภาคกันอย่างแท้จริงในกฎหมาย
.................................