Skip to main content

รายงานสถานการณ์ ความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี

[ไตรมาส2/2561]

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ดาวน์โหลด

ภาพรวม

สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ในช่วงเวลาไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 จากการรวบรวมสถิติในช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 193 เหตุการณ์ ซึ่งเพิ่มขึ้น จากไตรมาสแรกร้อยละ 24 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บล้มตายจ านวน 128 ราย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากไตรมาสแรก ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 65 ราย และบาดเจ็บ 63 ราย โดยเดือนพฤษภาคมมีจำนวนเหตุการณ์มากที่สุด คือ 110 เหตุการณ์ แต่เทียบจากเดือนเมษายน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 36 เหตุการณ์ จะเห็นได้ว่ามีเหตุการณ์เพิ่มขึ้น 74 เหตุการณ์

สถิติสะสมนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงไตรมาสที่กล่าวถึงมีจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 19,927 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย 20,228 รายในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 6,815 ราย และบาดเจ็บ 13,413 ราย

จากข้อมูลเหตุการณ์ในไตรมาสที่สองของปีนี้ที่มีการรวบรวมไว้ พอจะจำแนกได้ว่า มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนมากที่สุดร้อยละ 58 (111 เหตุการณ์) รองลงมา เป็นสาเหตุที่ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนถึงร้อยละ 32 (62 เหตุการณ์) ที่เหลือเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนมีการลดลงอย่างชัดเจน 

ในส่วนของประเภทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ประเภทเหตุการณ์ที่มีอยู่มากที่สุดคือ ยิง มีจำนวน 87 เหตุการณ์ รองลงมาคือ เหตุระเบิดจำนวน 43 ครั้ง ซึ่งใช้รูปแบบนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเกือบเท่าตัว และวางเพลิง 20 เหตุการณ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกประมาณ 2 เท่าตัว

ส่วนข้อมูลเชิงพื้นที่จะเห็นได้ว่ามีการเกิดเหตุการณ์กระจายทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอเมืองยะลา 20 เหตุการณ์ รองลงมา อำเภอยะรัง 13 เหตุการณ์ อำเภอบันนังสตา 12 เหตุการณ์ และอำเภอสายบุรี 11 เหตุการณ์ ยกเว้น อำเภอนาทวี และอำเภอเบตงที่ไม่มีการเกิดเหตุการณ์ในช่วงนี้ ถ้าดูข้อมูลในระดับตำบล พื้นที่ตำบลเขาตูม บันนังสตา มีความเข้มข้นของเหตุการณ์มากที่สุด

เมื่อจำแนกดูเฉพาะเหตุการณ์ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอเมืองปัตตานี ยะรัง และบันนังสตา จำนวนเหตุการณ์ 9 เหตุการณ์รองลงมาอำเภอเมืองยะลา และกรงปินัง 7 เหตุการณ์ ถ้าพิจารณาในระดับตำบลจะเห็นได้ว่า ตำบลบันนังสตามีความเข้มข้นของเหตุการณ์มากที่สุด

เหตุการสำคัญ

ช่วงต้นเดือนเมษายนเกิดเหตุการณ์ระเบิด 3 เหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกันในพื้นที่ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 13 ราย เพศหญิง 10 ราย  เพศชาย 3 ราย มีเด็กผู้หญิงอายุ 3 ขวบรวมอยู่ด้วย ส่วนผลกระทบทางด้านทรัพย์สินโรงแรมและร้านอาหารได้รับความเสียหาย

ในวันที่ 4 พฤษภาคม มีเหตุการณ์ก่อกวน 23 เหตุการณ์วางเพลิง 14 เหตุการณ์ ก่อวินาศกรรมจำนวน 4 เหตุการณ์ และระเบิด 1 เหตุการณ์  รวมทั้งหมด 42 เหตุการณ์ โดยคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ในวันที่ 20 พฤษภาคม มีเหตุการณ์ระเบิดตู้เอทีเอ็มและก่อวินาศกรรม 23 เหตุการณ์ โดยคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากสะเก็ดระเบิด เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในช่วงต้นของเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอนอยู่ในช่วงไตรมาสนี้ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม-14 มิถุนายน ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 76 เหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวน 51 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 33 ราย และบาดเจ็บ 18 ราย

การพูดคุย "สันติสุข" 

ในช่วงเวลาดังกล่าวการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและมาร่าปาตานีก็อยู่ในช่วงที่ค่อนข้างยากลำบาก หลังจากที่ได้มีความพยายามในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ด้วยการกำหนดกรอบในการดำเนินการและสร้าง Safe House เพื่อเป็นสถานที่ประสานงานระหว่างกันในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ทั้งสองฝ่ายได้พบกันที่กัวลาลัมเปอร์ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้จนกระทั่งผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียต้องยกเลิกการประชุม ทีมประสานงานทางเทคนิค (Joint Technical TeamJTT) ได้นัดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เพื่อแก้ปัญหาที่ยังค้างอยู่ในเรื่องเขตพื้นที่ปลอดภัย

การพบปะกันระหว่างทีมประสานงานทางเทคนิคจึงมีขึ้นในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 นี้เองเพื่อทบทวนครั้งสุดท้ายในกรอบของ Safety Zone-SZ สถานที่ ประสานงาน (Safe House-SH) และคณะกรรมการประสานงานฝ่ายต่างๆในระดับพื้นที่ (Joint Action Committee-JAC) ที่ประชุมตกลงกันว่าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการเต็มคณะของทั้งสองฝ่าย คือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) เพื่ออนุมัติในขั้นสุดท้าย ในที่ประชุมทีมประสานงานทางเทคนิคได้กำหนดวันเวลาในการเริ่มปฏิบัติการพื้นที่ปลอดภัยด้วย แต่ที่ประชุมพบปัญหาอีกครั้งเมื่อฝ่ายไทยปฏิเสธไม่ยอมลงนามในเอกสารข้อตกลง ฝ่ายไทยอ้างว่ากระบวนการนี้เป็นเพียงแค่การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจจึงไม่มีความจำเป็นต้องลงนามในเอกสาร คาดกันว่าจะมีการตกลงกันอีกครั้งในเรื่องนี้ในที่ประชุมของ JWG-PDP แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการพูดคุยกันอีกต่อไป

ดังนั้นการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลทหารที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงตอนนี้มีการพูดคุยกันทั้งหมด 20 ครั้งโดยที่ยังไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวได้ว่าการพูดคุยได้เข้าไปสู่ภาวะชะงักงัน ณ จุดนี้

บทวิเคราะห์สถานการณ์

ในช่วงไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2561 มีเหตุการณ์สำคัญคือการเกิดเหตุพร้อมกัน ในเดือนพฤษภาคมมีเป็นเหตุการณ์ระเบิดตู้เอทีเอ็ม และก่อวินาศกรรม 23 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์คลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในช่วงเดือนรอมฎอน นอกจากนี้ในช่วงเดือนรอมฎอนมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงถึง 76 เหตุการณ์ ซึ่งอาจจะดูเหมือนแบบแผนปกติที่เคยเกิดขึ้นทุกปี แต่ข้อสังเกตุก็คือความล้มเหลวของการพูดคุยสันติสุขครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็อาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยที่สำคัญมากกว่าคือ ปีกการทหารของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ยังปฏิเสธการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับมาร่าปาตานี ข้อเรียกร้องที่สำคัญของบีอาร์เอ็นคือพวกเขาจะยอมรับการเจรจาที่ดำเนินการโดยประชาคมระหว่างประเทศและสอดคล้องตามมาตรฐานการปฏิบัติตามหลักสากลเท่านั้น

มีข้อสังเกตจากนักวิเคราะห์เหตุการณ์บางคนที่เฝ้าดูการเจรจาสันติสุขอย่างใกล้ชิด ซึ่งมองว่าปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวของผู้อำนวยความสะดวกคือดาโต๊ะซัมซามิน และพลเอก อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยซึ่งอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายขบวนการด้วย การเปลี่ยนตัวบุคคลจึงอาจจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปก็ได้

ข้อสรุปในทางนโยบายคือการสร้างความต่อเนื่องของการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และอาจจะจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแบบแผน/รูปแบบการพูดคุย (Platform of Dialogues) เพื่อให้การพูดคุยเปิดกว้างกับทุกกลุ่มให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องสนใจความรู้สึกของคนทุกกลุ่มในพื้นที่รวมทั้งชุมชนชาวพุทธที่ยังอ่อนไหวกับความแปรปรวนของสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

File attachment
Attachment Size
raayngaan_q2-2018_-final-th.pdf (1.71 MB) 1.71 MB