รายงานสถานการณ์ ความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี
[ไตรมาส 3/2561]
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ดาวน์โหลด
ภาพรวม
เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 จากการรวบรวมสถิติในช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 102 เหตุการณ์ ซึ่ง ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 22 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวน 103 ราย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากไตรมาสที่ 2 ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 56 ราย และบาดเจ็บ 47 ราย โดยเดือนกรกฎาคมมีจำนวนเหตุการณ์น้อยที่สุด คือ 29 เหตุการณ์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เดือนกรกฎาคมมีจำนวนเหตุการณ์ และผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด
สถิติสะสมนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงไตรมาสที่กล่าวถึงมีจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 20,029 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย 20,331 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 6,871 ราย และบาดเจ็บ 13,460 ราย
จำนวนเหดุการณ์ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นห้าปีทำให้สถานการณ์โดยภาพรวมดีขึ้นแม้แต่ยังเกิดการสูญเสียอยู่บ้าง
จากข้อมูลเหตุการณ์ในไตรมาสที่สามของปีนี้ที่มีการรวบรวมไว้พอจะจำแนกได้ว่ามีสาเหตุที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ร้อยละ 45 (46 เหตุการณ์) รองลงมาสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน ร้อยละ 30 (31 เหตุการณ์) ส่วนสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 24 (24 เหตุการณ์) และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร้อยละ 1 (1 เหตุการณ์) เมื่อเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนมีการลดลงอย่างชัดเจน และเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ในส่วนของประเภทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ประเภทเหตุการณ์ที่มีอยู่มากที่สุดคือ ยิง มีจำนวน 69 เหตุการณ์ รองลงมาคือ เหตุระเบิดจำนวน 12 เหตุการณ์ ก่อวินาศกรรมฯ 6 เหตุการณ์ ทำร้ายร่างกาย 4 เหตุการณ์ และประเภทเหตุการณ์อื่นๆ 11 เหตุการณ์ ซึ่งทำให้สัดส่วนประเภทเหตุการณ์ในช่วงไตรมาสที่สามใกล้เคียงกับสัดส่วนประเภทเหตุการณ์ 14 ปีที่ผ่านมา
ส่วนข้อมูลเชิงพื้นที่จะเห็นได้ว่ามีการเกิดเหตุการณ์กระจายทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอรือเสาะ 8 เหตุการณ์ รองลงมาอำเภอหนองจิก 6 เหตุการณ์ ยกเว้นอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเบตง และ อำเภอเมืองนราธิวาส ที่ไม่มีการเกิดเหตุการณ์ในช่วงนี้ ถ้าดูข้อมูลในระดับตำบลพื้นที่ ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ และตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ มีความเข้มข้นของเหตุการณ์มากที่สุด
เมื่อจำแนกดูเฉพาะเหตุการณ์ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 4 เหตุการณ์ รองลงมาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส 3 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มที่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียงในเวลาช่วงไตรมาสที่ 3 อำเภอหนองจิก เป็นพื้นที่ที่มีเหตุการเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนจำนวนมากที่สุด และผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
เหตุการณ์สำคัญ
ในไตรมาสนี้มีเหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้น 3 ครั้ง
1. วันที่ 23 กรกฎาคม ปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่บ้านตะโล๊ะดือลง ม.4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้มีการตรวจยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวขยายผลจากเหตุการณ์ลอบยิงราษฎร เสียชีวิต 5 ราย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา
2. วันที่ 16 สิงหาคม ปิดล้อมตรวจค้นและปะทะในพื้นที่บ้านเลขที่ 72 บ้านตะโละกาบูห์ ม.4 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้มีการตรวจยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้คนร้ายเสียชีวิต 2 ราย
3. วันที่ 21 สิงหาคม ปิดล้อมตรวจค้นและปะทะในพื้นที่บริเวณบ้านเลขที่ 5/2 ม.5 ต.ลูโบะยิไร อ.มายอ จ.ปัตตานี ได้มีการตรวจยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ และคนร้ายเสียชีวิต 1 ราย
ในวันที่ 11 กันยายน เกิดเหตุการณ์ซุ่มโจมตีและปะทะในพื้นที่บ้านบางทัน ม.3 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย ไม่ทราบการสูญเสียของคนร้าย หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นมีการจัดตั้งเปิดยุทธการบางทันบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษจำนวน 7 วัน ร่วมมือทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือนทั้งทางน้ำทางบกทางอากาศหลายร้อยนายร่วมวางกำลังควบคุมพื้นที่ ต.บางทัน ต.บางเขา และต.ตุยง อ.หนองจิก ทั้งปิดล้อมตรวจค้นทุกตารางเมตร เพื่อค้นหาติดตามผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่ยังคงหลบซ่อนในพื้นที่
พัฒนาการทางการเมือง และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
วันที่ 20 กันยายน กลุ่มมาราปาตานี ได้ออกแถลงการณ์แสวงความกังวลต่อการประกาศกฎหมายพิเศษด้วย เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบและอยู่ใน บรรยากาศของความหวาดกลัว และรู้สึกเหมือนถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ชัดเจน
วันที่ 21 กันยายน ต่อมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (เปอร์มัส) ออกแถลงการณ์ใน 'วันสันติภาพสากล' เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ลดเงื่อนไขความหวาดกลัว ยกการเจรจาสันภาพปาตานี เป็นวาระแห่งชาติ
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮาหมัด แต่งตั้งให้ อับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทน อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียอ้างว่า หมดวาระการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเตรียมที่จะเสนอชื่อหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขคนใหม่แทน พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่จะหมดวาระในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2561
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 102 เหตุการณ์ จำนวนเหตุการณ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์โดยภาพรวมดีขึ้น
ในขณะเดียวกันยังคงมีความสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการพูดคุย เพื่อสันติสุขที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่ม
กลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่ก่อเหตุความรุนแรงตลอดสิบสี่ปีที่ผ่านมายังก่อเหตุต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 และคงไม่ยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามที่จะกดดันฝ่ายรัฐ
เพราะฉะนั้นการหาวิถีทางเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับทุกกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐโดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธมีความสำคัญสำหรับการลดจำนวน เหตุการณ์ความรุนแรง และเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
ในระยะสั้นอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากทั้งภาครัฐ และประชาสังคมเพื่อคอยคลี่คลายสถานการณ์ หลังจากพื้นที่หนองจิก ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จำนวนมาก