ปกรณ์ พึ่งเนตร
"ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" อันหมายถึงการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อม ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเริ่มเปิดแผนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ได้รับการขานรับอย่างสูงจากหลายฝ่าย เพราะทำให้สถิติการก่อเหตุรุนแรงรายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
เจ้าหน้าที่หลายคนถึงกับเชื่อว่า จะสามารถเผด็จศึกกลุ่มป่วนเมืองที่สร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวมานานกว่า 3 ปีได้ในเร็ววันนี้!
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องในความสำเร็จของยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ก็ยังมี "รอยด่าง" ที่แปดเปื้อนอยู่พอสมควร โดยรอยด่างนั้นหากผู้รับผิดชอบไม่รีบลบโดยพลัน อาจส่งผลทางจิตวิทยามวลชน กลายเป็นกระแสตีกลับทำให้สถานการณ์กลับมาเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้
และหนึ่งในรอยด่างที่ว่านี้ก็คือ การเสียชีวิตของ "ฮัซอารี สะมะแอ" เด็กหนุ่มวัย 26 ปี ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเปิดเป็นศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายหลังจากที่เขาถูกจับกุมใน "ยุทธการกรงปินัง" ของฝ่ายความมั่นคง
น่าสนใจว่า เรื่องราวของฮัซอารีเป็นที่โจษจันในหมู่คนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 2550 เมื่อมีข่าวเล็ดลอดมาจากโรงพยาบาลศูนย์ยะลาว่า มีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ในสภาพร่างกายที่สะบักสะบอมคล้ายถูกทำร้ายมาอย่างหนัก
ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแทบไม่เคยปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนแขนงใด นอกจากความเคลื่อนไหวเล็กๆ ขององค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่ง ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่เคยสนใจออกมาชี้แจงแถลงไข ทั้งๆ ที่มีข่าวลือปากต่อปากดังกระฉ่อนไปทั่วว่า ทหารซ้อมผู้ต้องหาจนตาย!
เกือบ 1 เดือนต่อมา ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อเสาะหาความจริง กระทั่งสามารถต่อภาพเรื่องเศร้าเรื่องนี้ได้สมบูรณ์ระดับหนึ่ง
วันที่ 15 ส.ค. 2550 สกู๊ปข่าวเรื่องราวของฮัซอารี ถูกเผยแพร่ในเวบไซต์ เล่าถึงการเดินทางไปเยือนบ้านหลังเล็กๆ ที่หมู่ 4 บ้านปาโด ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และได้ฟัง บิเดาะห์ สะมะแอ มารดาวัย 49 ปีของฮัซอารี พูดถึงชะตากรรมของลูกชายคนโตด้วยน้ำตาอาบแก้ม
บิเดาะห์ บอกว่า เธอและครอบครัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฮัซอารีถูกจับ เพราะลูกชายไปทำงานอยู่ที่หาดใหญ่ เพื่อส่งเสียครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และน้องๆ อีก 8 คน แต่เดิมนั้น ฮัซอารีเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แต่ด้วยความขัดสนของครอบครัว ทำให้เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อทำงานหาเงิน
แล้ววันหนึ่ง เพื่อนบ้านซึ่งเพิ่งกลับจากเยี่ยมสามีที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารมาเล่าให้ฟังว่า เห็นผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ มีใบหน้าละม้ายคล้ายกับฮัซอารี กำลังนั่งรถเข็นคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำให้เธอและครอบครัวรู้สึกตกใจ
จากนั้นฮัซอารีก็ถูกส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพราะอาการบาดเจ็บเข้าขั้นสาหัส กระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยที่พ่อกับแม่ไปไม่ทันดูใจด้วยซ้ำ และจากสภาพศพที่เธอเห็นในห้องดับจิต ทำให้เธอปักใจเชื่อว่าลูกชายถูกซ้อมจนเสียชีวิตอย่างแน่นอน
"ไม่รู้ลูกชายฉันไปทำผิดอะไรถึงถูกซ้อมจนตาย ทำไมถึงทำกับลูกฉันถึงขนาดนี้ หมอบอกว่าลูกชายฉันตายเพราะสมองช้ำ ตามใบหน้ามีรอยฟกช้ำและมีจุดดำๆ เหมือนถูกไฟช็อต ตามตัวและที่ข้อเท้าซ้ายมีแผลถลอก ตอนทำพิธีศพ คนอาบน้ำศพบอกว่าคอลูกฉันหักด้วย" บิเดาะห์ เล่า
สกู๊ปของศูนย์ข่าวอิศรา ยังนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งจาก พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 (ผบ.ฉก.1) ซึ่งสรุปความได้ว่า ฮัซอารีได้รับบาดเจ็บเพราะหลบหนีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ จนล้มศีรษะฟาดพื้น ระหว่างการเข้าปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านเจาะซีโป๊ะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
พ.อ.ชินวัฒน์ บอกว่า เจ้าหน้าที่มาทราบภายหลังว่าอาการบาดเจ็บจากการหกล้มของฮัซอารีนั้น รุนแรงขึ้นขั้นเลือดคั่งในสมอง จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และเสียชีวิตในที่สุด สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้แจ้งให้ญาติให้รับทราบ ก็เพราะในตัวของฮัซอารีไม่มีหลักฐานแสดงตน จึงไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน พร้อมทั้งยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีการซ้อมผู้ต้องหาอย่างแน่นอน
"เบื้องต้นได้อธิบายให้ครอบครัวของฮัซอารีเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่ต่อมากลับมีการนำประเด็นนี้มาขยายผลโจมตีทหาร จึงอยากบอกว่าส่วนตัวพร้อมพิสูจน์ด้วยหลักฐานและพยานที่มีอยู่ทั้งหมด จะได้ยุติการนำประเด็นไปขยายในทางที่ไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของกลุ่มก่อความไม่สงบไปโดยไม่รู้ตัว" ผบ.ฉก.1 กล่าว
ขณะที่ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ให้สัมภาษณ์สื่อในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาว่า มีหลักฐานค่อนข้างชี้ชัดว่า ฮัซอารีเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ และเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 8 ศพบนรถตู้โดยสารสายเบตง-หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2550
จากข้อมูลของทั้งสองฝ่าย ถึงวันนี้คงยากที่จะตัดสินว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดกับฮัซอารีนั้น ฝ่ายใดพูดจริง ฝ่ายใดพูดเท็จ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือ ความเป็นธรรมและการสร้างความเข้าใจยังเดินทางถึงผู้เสียหายล่าช้าเหมือนเคย กระบวนการพิสูจน์ความจริงในพื้นที่ยังคงพิกลพิการ และไม่เคยสร้างความเชื่อมั่นใดๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้เลย
ทั้งๆ ที่ "ความเชื่อมั่น" คือจุดเริ่มต้นของชัยชนะในสมรภูมิสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติของสงครามที่ต้องใช้กำลังรบ และสงครามทางความคิด !