Skip to main content

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน
สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
 

การประกาศใช้ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" อันประกอบด้วยแผนยุทธการย่อย 14 แผน นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เพื่อจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้นำกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจับกุมและควบคุมตัว เป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้น 37 วัน และภายหลังจากพ้นกำหนดระยะดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งเข้าโครงการ "ฝึกอาชีพ" เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยมีเหตุผลเพื่อความปลอดภัยและการสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิต พร้อมทั้งความหวังในการแยกสลาย "แนวร่วม" ของกลุ่มขบวนการ

องค์การพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนดังรายนามข้างท้าย ได้ทำการการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการลงพื้นที่และประมวลข้อเท็จจริงจากการรายงานของสื่อมวลชน พบว่าการปฏิบัติตามแผนยุทธการดังกล่าวมีข้อสังเกต ดังต่อไปนี้

1.การจับกุมและการควบคุมตัว

มีการจับกุมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น  การปิดล้อมจับกุม ซึ่งมักเป็นการเข้าปิดล้อม จับกุมในชุมชนในเวลาเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ด้วยกองกำลังผสมที่แต่งกายชุดดำและชุดทหารจำนวนมากพร้อมอาวุธหนักและเบาเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน สวนผลไม้ และมัสยิด มีการเข้าตรวจค้นในบ้านของประชาชนโดยไม่มีหมายค้น  หลายกรณีมีใช้กำลังบังคับให้ประชาชนในหมู่บ้านมารวมกันเพื่อตรวจค้นโดยเครื่องตรวจจับการปนเปื้อนสารประกอบวัตถุระเบิด และใช้เป็นเหตุในการควบคุมตัวไปยังสถานที่ใดก็ได้ที่มิใช่เรือนจำ หรือที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องการใช้ความรุนแรงในภาคใต้   โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องสงสัยทราบว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในกรณีหรือเหตุการณ์ใด เป็นต้น 

การดำเนินการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติโดยขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม   ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม"  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 บัญญัติว่า "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ " และ มาตรา 87 ระบุว่า "การควบคุมตัวภายหลังการจับนั้น ห้ามมิให้ควบคุมตัวเกินกว่าจำเป็นและพฤติการณ์แห่งคดี และในกรณีที่ต้องมีการขยายการควบคุมตัว จะต้องมีเหตุจำเป็นและพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจ โดยผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความ หรือศาลจัดหาทนายความให้"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคี ในข้อ 9 ข้อย่อยที่ 1 ที่ว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"

และข้อย่อย ที่ 3 ระบุว่า "บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาจะต้องถูกนำตัวมาโดยพลันไปยังศาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่า จะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีแต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่า จะกลับมาปรากฎตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของการพิจารณาและจะมาปรากฎเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น"

นอกจากนี้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังหรือจำคุก (มาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เอกสารประกอบการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11 ณ กรุงเทพมหานคร) ข้อ 1 ระบุว่า "บุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังหรือจำคุกพึงได้รับการปฏิบัติในการฐานะมนุษย์และอย่างเคารพในศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้น" และในข้อ 3 ระบุว่า "การสร้างข้อจำกัดหรือลดทอนสิทธิมนุษยชนที่เป็นของผู้ที่ถูกคุมขังหรือจำคุกนั้น โดยการออกเป็นกฎหมาย อนุสัญญา กฎระเบียบ หรือประเพณีปฏิบัติใดๆ โดยอ้างว่าสิทธิชนิดนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในหลักการฉบับนี้ หรือมีการกล่าวถึงในหลักการฉบับนี้น้อยกว่านั้น จะกระทำมิได้"

2. มาตรการควบคุมตัว 4 เดือน

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ซึ่งพระราชกำหนดฉบับนี้ นอกจากไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยแล้ว  รัฐยังใช้มาตรการควบคุมตัวอีก 4 เดือนเพื่อฝึกอาชีพ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า

2.1 มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการให้ผู้ถูกจับโดยพลการ มีทางเลือก 2 ทาง คือจะต้องเลือกระหว่างการเข้าร่วมฝึกอาชีพ 4 เดือน หรือ การถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ ไม่มีการแจ้งข้อหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาใด กรณีนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

การฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือนนั้น คือการควบคุมตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับให้กระทำได้โดยชอบ แม้รัฐบาลจะอ้างว่า หลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 นี้ถูกยกเว้นโดยกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเกินกว่าอำนาจในการควบคุมตัว ตามกฎหมายที่มีอยู่ก็ตาม แต่กฎหมายพิเศษนี้ขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษชน

2.2  ตามข้อเท็จจริงพบว่า มีการควบคุมเยาวชนซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปีจำนวนอย่างน้อย 6 คน และมีกรณีผู้สูงอายุและคนพิการถูกควบคุมตัวไปด้วย  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (6) บัญญัติว่า "เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม" ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ต้องแยกการควบคุมตัวระหว่างเยาวชน และผู้ใหญ่

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามท้ายเอกสารนี้มีข้อห่วงใยต่อแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัว 4 เดือน และมีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัว 4 เดือนอันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยให้นำกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้กับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใส เป็นอิสระและให้ความเป็นธรรม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้อย่างเสมอภาคโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ 

2. ให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 4 เดือนโดยมิชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนตามแผนยุทธการนี้โดยทันที

3. ให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว จิตวิทยาสังคมโดยรวม 

4. ให้รัฐบาลใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการกวาดจับกุมที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหากยังคงใช้มาตรการดังกล่าวย่อมเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และมิอาจแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงในภาคใต้ได้  โดยรัฐบาลควรยอมรับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยหลายสำนักที่มีข้อสรุปตรงกันว่า ความรุนแรงในภาคใต้มีสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนไม่ได้รับเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม 

                                                           ลงนามโดย
                                                           1.      คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ                
                                                           2.      สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน
                                                           3.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
                                                          
4.      สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
                                                           5.      ศูนย์ทนายความมุสลิม