การอธิบายเรื่องการเมืองมุสลิมตามความเห็นของ Olivier Roy ใน The failure of political Islam นั้นมองว่าการเมืองมุสลิมในช่วงสงครามเย็นมียุทธศาสตร์ของการติดอาวุธและมีเป้าหมายต้องการเป็นรัฐอิสลามและใช้ชาริอะห์อย่างเข้มข้น เพราะตอนนั้น โลกอิสลามต้องต่อสู้กับอาณานิคมตะวันตกและคอมมิวนิสต์ไปพร้อมๆ กัน แต่แนวทางดังกล่าวมีความล้มเหลวมาตั้งแต่หลังจากปี 1990 ยกเว้นอิหร่านที่มีการปฏิวัติอิสลามในช่วงปี 1979
สำหรับโลกสุนหนี่ หลังสงครามเย็นเมื่อระบอบโลกเปลี่ยนไปเป็นทิศทางของการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นผสมกับคุณค่าของอิสลาม การเมืองในโลกมุสลิมก็ค่อนข้างที่จะมีความหลายหลากตั้งแต่ การจัดตั้งพรรคการเมือง การเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการ เช่นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือว่าตุรกี จนถึงกลุ่มติดอาวุธ เช่นกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องอาวุธจากสหรัฐอเมริกาในการขับไล่โซเวียต งานที่แสดงให้เห็นโฉมหน้าของการเมืองมุสลิมทั่วโลกอ่านได้ในงานของ Peter Mandaville : Global political Islam และ Transnational Muslim politics และ Many faces of political Islam ของ Mohammed Ayoob นั้นแสดงให้เห็นโฉมหน้าของการเมืองมุสลิมนั้นค่อนข้างมีความหลากหลายและพลวัตรสูง
สำหรับแนวคิด เรื่องการเมืองในศาสนาอิสลามนั้นสามารถอ่านได้ใน Political Islam: religion and politics in the Arab world โดย Nazih N. M. Ayubi บทแรก เป็นการทบทวนแนวคิดเรื่อง คอนเซบการเมืองในอิสลามค่อนข้างที่จะไม่เหมือนแนวคิดเรื่องรัฐชาติและประชาธิปไตยแบบในปัจจุบัน เช่น เรื่องของการเป็นผู้นำ เรื่องของความยุติธรรม การเป็นอุมมะห์อิสลาม ความหลากหลายในการอยู่ร่วมกัน ระบอบการปรึกษาหารือ เป็นต้น
กลับมาที่เรื่องของชาริอะห์ที่เป็นประเด็นที่ตะวันตกและกลุ่มสิทธิมนุษยชนค่อนข้างที่จะเป็นกังวลมาก ถ้าจะอธิบายโฉมหน้าใหม่ของการเมืองมุสลิมหลังสงครามเย็นค่อนข้างที่จะเปลี่ยนไปมาก ชาวมุสลิมส่วนมากในหลายประเทศไม่ต้องการพรรคการเมืองอิสลามที่ชูธงอิสลามอย่างชัดเจนและสัญลักษณ์ของศาสนาในการผลักตัวเองให้เข้าสู่อำนาจแต่อิสลามก็ยังมีความสำคัญกับชีวิตของชาวมุสลิมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน จะเห็นได้จากผลสำรวจต่างๆ ที่ว่าบ่อยครั้งสวนทางระหว่างความต้องการพรรคการเมืองแบบอิสลามซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกับการให้ศาสนาเข้ามามีบทบาสำคัญในชีวิต ซึ่งมีเปอร์เซ็นที่สูง ดังนั้น กลุ่มที่ค่อนข้างที่จะมีอิทธิพลในทางความคิดของชาวมุสลิมคือกลุ่มองค์กรที่ไม่เป็นทางการมากกว่า เพราะสามารถที่จะจัดหาบริการสาธารณะและเข้าถึงประชาชนมากกว่า กลุ่มเหล่านี้มักมีความลักลั่นระหว่างในการเข้ามาเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการและการดำรงสถานภาพของการที่ไม่เป็นทางการ เช่นกลุ่ม Muslim Brothethood หรือว่ากกลุ่มองค์กรในอินโดนีเซีย NU หรือ Muhammadiyah
ดังนั้นการกำวลเรื่องของการใช้ชาริอะห์และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงนั้นค่อนข้างที่จะเป็นประเด็นที่ยังเป็นภาพมายาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองมุสลิมและเป็นการมองแบบเป็นภัยคุกคาม หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เพราะการใช้ชาริอะห์นั้นฝักรากลงไปแล้วในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองอื่นๆ ในโลกมุสลิม แต่มีความเข้มเข้นมากน้อยต่างกันไป เช่นในไทยก็มีการใช้ชาริอะห์ ซึ่งจำกัดอยู่แค่ครอบครัวและมรดก ดังนั้นการมองชาริอะห์แบบ Top down แบบในอดีตเป็นชาริอะห์ที่มีความเข้มข้นจากบนลงล่าง ซึ่งค่อนข้างที่จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน