ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อความไม่สงบ ล่าสุดที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การกราดยิง ชรบ.ที่เป็นไทยพุทธ เสียชีวิต 5 ศพ บาดเจ็บอีก4 คน ที่ บ้านคอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.นราธิวาส และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.คือการสังหารโหดครอบครัว “บุญหลง” จำนวน 4 ศพ ซึ่งเป็น “ไทยพุทธ” ครอบครัวสุดท้าย ที่ ต.สากอ อ.รือเสาะ ที่ไม่ยอมทิ้งถิ่น รวมทั้งเหตุวางระเบิดฆ่า 9 “พรานป่า” ชาว อ.สะบ้ายย้อย จ.สงขลา ที่ ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ดังนั้น เพียง 8 วัน มีคนไทยพุทธ ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่”สู้รบ” ระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ และขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็นฯ ไปแล้วถึง 18 ศพ บาดเจ็บอีก 9 ราย
ถ้าความรุนแรง ความโหดเหี้ยมระดับนี้ ทั้ง ม.ท.3 อย่างถาวร เสนเนียม ทั้ง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และภาณุ อุทัยรัตน์ รักษาการเลขาธิการ ศอ.บต. ยังสามารถประสานเสียงว่า เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังปกติ สังคมคงต้องตั้งคำถามได้แล้วว่า ผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองเหล่านั้นยังปกติอยู่หรือไม่ รวมทั้งต้องมีคำถามต่อ ผู้นำรัฐบาลอย่าง นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า ที่แท้จริงแล้ว นโยบายในการ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลนั้น ถูกต้องจริงหรือ?
มีข้อสงสัยหลายๆ ประการที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ชวนให้สงสัยว่า ขบวนเหตุที่แท้จริงละลอกใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่การโจมตีฐาน “พระองค์ดำ” ต่อด้วยการฆ่าคนไทยพุทธ ครั้งนี้ เป็นการลงมือของหน่วยคอมมานโด และ อาร์เคเค ในสังกัดบีอาร์เอ็นฯ เพียงฝ่ายเดียว หรือมี “คนใน” แอบแฝงอยู่ด้วย
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ฉก.แห่งหนึ่ง สามารถจับกุม กลุ่มคน 8 คน ที่ติดอาวุธสงครามครบมือได้ในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธนอกสังกัดของ กอ.รมน. แต่เมื่อส่งตัวไปสอบสวน กลับต้องปล่อยตัวไป เพราะกลายเป็นกองกำลังลับๆ ของหน่วยงานหนึ่ง ที่ใส่เสื้อ “สีเขียว” ที่เข้ามาทำงาน “การข่าว” ในพื้นที่ โดยไม่ได้สังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
และนี่คือความ “สับสน” ของสถานการณ์ เพราะไม่รู้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่แห่งความ “ขัดแย้ง” ในพื้นที่ซึ่งมีการ “สู้รบ” มีกองกำลังของใคร ของหน่วยใด เคลื่อนไหวในพื้นที่ “โจร”กับ “ทหาร” ขับรถสวนทางกัน ยังแยกกันไม่ออก จนนึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ทหารจับโจรมา นึกว่าเป็น “แนวร่วม” สุดท้ายกลายเป็น “นักรบ” ที่มี “นาย” เป็นคนในเครื่องแบบ เมื่อเป็นอย่างนี้ การปล้นค่ายหรือยึดค่ายทหาร ในอนาคตอาจะง่ายกว่าการตีฐานพระองค์ดำก็เป็นไปได้
และที่ “สับสน”มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 2553 ต่อเนื่องถึง ปลายเดือน มกราคม 2554 ยังมีการ เจรจากันระหว่างตัวแทนระดับสูงของฝ่ายปกครองกับ นายนายยาเซร์ ปาตะห์ และอารีแพ็ญ คาน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน โดยตัวแทนพูโลทั้ง 3 คน ได้อ้างว่าเป็นตัวแทนของภาคพื้นยุโรป และการเจรจาครั้งนี้เพื่อต้องการยุติบทบาทการก่อการร้ายด้วยอาวุธ และกลับมาร่วมสร้างสันติสุขให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายปกครองกับตัวแทนพูโลภาคพิ้นยุโรป จึงสร้างความ “สับสน” ให้เกิดมากขึ้น เพราะสิ่งที่รับรู้กันคือ ผู้ที่บงการกองกำลังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ก่อความรุนแรงขึ้น โดยหวังตั้งรัฐปัตตานีนั้น เป็น “บีอาร์เอ็นฯ” หาใช่ “พูโล” ไม่ แต่ในการเจรจา เจ้าหน้าที่รัฐกลับไปเจรจากับตัวแทนของ “พูโล” ซึ่งอาจจะมี “นัยยะ” แห่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายแอบแฝงอยู่
และแน่นอนว่า หลังจากนี้ ถ้ามีการออกมารายงานตัวจาก “แนวร่วม” แห่ง พ.ร.ก.ความมั่นคงตามมาตราที่ 21 แนวร่วมที่ออกมารายงานตัวอาจเป็นแค่ คนของขบวนการพูโล ซึ่งส่วนใหญ่หมดสภาพของโจรก่อการร้ายไปแล้ว แต่ต้องการล้างมลทินตามกฎหมาย ม. 21 เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แห่งการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่จะมีคนที่ได้ “ความชอบธรรม” ทางการเมือง และคนที่ได้เลื่อนยศเลือนตำแห่ง ตามที่ต้องการ
ความ “สับสน” สุดท้าย มีการต้องการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 4 คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ซึ่งผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง แม่ทัพภาคที่ 4 มาจากสองส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 “บีอาร์เอ็นฯ” ต้องการเปลี่ยนตัว แม่ทัพภาคที่ 4 เนื่องด้วย นโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งเป็น “2 ขา” ของ “บีอาร์เอ็นฯ”และส่วนที่ 2 คือ มี “คนใน” ต้องการขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เร็วกว่ากำหนด
ดังนั้น สถานการณ์แห่งความรุนแรง และ “ร้อนแรง” ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การ “ปล้นปืน” จนถึงการ “ฆ่าหมู่” คนไทยพุทธ จำนวน 3 ครั้งใน 8 วัน จึงอาจะมีปรากฎการณ์อื่นแอบแฝงอยู่ ไม่ใช่การปฏิบัติการของ “บีอาร์เอ็นฯ” เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการ ตรวจสอบ สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องตรวจสอบให้ครบทุกมิติ มิฉะนั้น จะเสียหายทั้งทางการ “ทหาร” และทาง”การเมือง”
และสุดท้ายท่ามกลางความ “สันสน”ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี “โจทย” ใหม่ คือ “ไทยพุทธ” ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ รัฐบาลและ กอ.รมน. หรือ ศอ.บต. จะมีแผนแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะมิให้เกิดการ “ฆ่าหมู่” ขึ้นอีก เพราะการที่ปล่อยให้เหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้น 3 ครั้งในรอบ 8 วัน คงจะบอกไม่ได้ว่า “เราทำเต็มที่แล้ว” แต่ต้องยอมรับว่า “เราผิดพลาดทางยุทธวิธี” ในการรักษาชีวิตของ และดูแลพื้นที่ของ พี่น้องชาวไทยพุทธ
แน่นอน ชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้ง”พุทธ” และ”มุสลิม” ต่างมีค่าที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น “บีอาร์เอ็นฯ” หรือเป็น “ไอ้โม่ง” หรือ “อีแอบ” กลุ่มไหน ที่ หวังเพียงชัยชนะ และ ยศ ตำแหน่ง โดยเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์ เป็น “เหยื่อ” ล้วนเป็นเรื่องที่เลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง และหนทางนี้ ไม่ใช่หนทางแห่งชัยชนะอย่างแน่นอน