Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์

กลางเดือนที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมร้อยชีวิตจากหลากหลายสถาบันเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามโครงการนักศึกษาสู่ชุมชน..เยียวยาผู้สูญเสียเพื่อฟังเสียงชาวบ้านสะท้อนความอัดอั้นตันใจที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเปลวสงคราม และนับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ "นักศึกษา" ในสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ภายหลังภารกิจชุมนุมยืดเยื้อ 5 วัน ณ มัสยิดกลางปัตตานี

แดดร้อนแต่ลมแรง ความแออัดยัดเยียดในรถสองแถวคันนั้นไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มสาวทั้งจากต่างแดนและในท้องถิ่นคละเคล้ากันอ่อนล้ามากนัก เมื่อเทียบกับบทเรียนบทใหม่ในพื้นที่สีแดงที่กำลังรอพวกเขาอยู่ข้างหน้า เป้าหมายของพวกเขา คือ หมู่บ้านคอลอบาแล ในเขต อ.บันนังสตา จ.ยะลา หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่า "แดงจัด" ในสายตาของหน่วยงานความมั่นคง แค่เพียงต้องหยุดรถเพื่อเจรจาผ่านด่านทหารพรานระหว่างเส้นทางก็ดูน่าตื่นเต้นไม่น้อยแล้ว

 

 

ถอดเสื้อขาวเข้าหมู่บ้านแดง

กำหนดการของค่ายจัดวางให้พวกเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากคำบอกเล่าของนักวิชาการและลงพื้นที่ไปดูสถานที่สำคัญๆ ตามเรื่องราวนั้นๆ ต่อจากนั้น หนุ่มสาวหน้าตาเด๋อด๋าจากต่างพื้นที่ซึ่งปกติสวมเสื้อสีขาวนั่งจ่อมในห้องเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สวมชุดลำลองเดินทางเข้าหมู่บ้านสีแดงเพื่อลงไปรับฟัง "เสียงจากชาวบ้าน" ในหลากหลายกรณีปัญหาที่เป็นผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พวกเขาแบ่งออกเป็น 5 ทีม โดยมีเป้าหมายเป็นหมู่บ้านสีแดงที่มีเรื่องราวจากปากคำของตัวละครสำคัญรออยู่ บ้านคอลอบาแล อ.บันนังสตา จ.ยะลา คือ กรณีผลกระทบจากยุทธการปูพรมกวาดจับ ขณะที่บ้านภักดีและบ้านสนามบิน อ.บันนังสตา จะบอกกล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิงชาวบ้านขณะเดินทางกลับจากงานศพ ในขณะที่บ้านควนหรัน ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จะแจกแจงกรณีกราดยิงปอเนาะ

ส่วนบ้านไอบาตู อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พวกเขาจะได้ฟังปัญหาในกรณีที่ครูสอนศาสนาที่เสียชีวิตระหว่างการบุกค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่อีกทีมจะไปเยือนโรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตภายหลังควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในเขตของโรงเรียน ทั้งหมดเป็นกรณีที่มี "ความแรง" ในลำดับต้นๆ ของสถานการณ์ชายแดนใต้ในวินาทีนั้น

9 - 12 ส.ค.ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มนี้สุมหัวกันในโครงการดังกล่าว ภายใต้ความรับผิดชอบของสภานักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งที่เป็นเด็กกิจกรรม เด็กเรียน และเด็กอยากเที่ยวซึ่งสนใจใคร่รู้ได้ลงมาสัมผัสพื้นที่และฟังเสียงจากชาวบ้านที่น้อยครั้งจะหาเสพได้ตามสื่อทั่วไป 

"เราคาดหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความขัดแย้งของที่นี่ และนำเรื่องราวที่พวกเขาพบไปขยายผลต่อ นอกจากนี้เรายังต้องการเครือข่ายในการทำงานของนักศึกษาด้วยกันเองและเชื่อว่าหลังจากงานนี้เราก็จะได้ตามที่ต้องการ" ไลลา เจะซู นักศึกษาปี 4 คณะศึกษาศาสตร์ ประธานโครงการดังกล่าวบอก

เธอเห็นว่า นักศึกษาที่ทำงานเคลื่อนไหวหรือสนใจในประเด็นสังคมในพื้นที่มักถูกตั้งข้อสงสัยจากทางการว่าเป็นแนวร่วมหรือ "เจเนเรชั่นที่ 2" ของกลุ่มขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ กิจกรรมในครั้งนี้จึงต้องการลบภาพดังกล่าวออกไป จากการสร้างเครือข่ายที่เริ่มต้นจากนักศึกษา และขยับต่อยอดสู่การร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน

"เราจำเป็นต้องมีเกราะป้องกันเมื่อเราต้องการลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน เพราะเรายังต้องการรู้ข้อเท็จจริงจากพื้นที่ เพราะท้ายที่สุดนักศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่" ไลลากล่าว พร้อมให้ความเห็นว่า ที่ยืนของนักศึกษาในปัญหาที่มีความซับซ้อนเช่นนี้จะต้องอยู่ในฐานะของตัวกลางในการประสานความเข้าใจ เพราะปัญหาใหญ่ที่พบในขณะนี้ก็คือความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ หรือที่เธอเรียกว่า "กระบอกเสียงเพื่อเชื่อมรอยร้าว"

 

 

ชุมนุมมัสยิดสู่ค่ายลงพื้นที่

ที่ผ่านมา นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ มอ.ปัตตานี เคยมีกิจกรรมที่ข้องเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่หลายครั้ง ทั้งการลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลญาติเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมกรือเซะและตากใบ การจัดเสวนาถกเถียงแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่การรณรงค์ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมในลักษณะ "ค่าย" พาเพื่อนลงพื้นที่เช่นนี้ก็เคยจัดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2547

ความต่อเนื่องและการส่งผ่านความคิดและประสบการณ์รุ่นต่อรุ่นยังเป็นปัญหาเข้าขั้นคลาสสิคของนักศึกษาที่ต้องการถีบตัวเองเข้ามามีส่วนในการคลี่คลายปัญหาของสังคม ตามจินตภาพของนักศึกษาในอดีต แต่ถึงกระนั้น บทบาทที่เด่นชัดของนักศึกษาล่าสุดเห็นจะได้แก่การชุมนุมยืดเยื้อนานถึง 5 วันที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แกนนำนักศึกษากลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่าพวกเขาเคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนเสียงชาวบ้านที่ถูกกระทำออกสู่สาธารณะ ที่สำคัญ พวกเขาย้ำถึงแนวทาง "สันติวิธี" ที่พวกเขาเลือกจะใช้   

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นนักศึกษาที่เข้าร่วม "กิจกรรม" เป็นนักศึกษามุสลิมที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ภาคใต้ บทสรุปของการชุมนุมคือการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีความไม่เป็นธรรมขึ้นมา เพื่อตรวจสอบกรณีปัญหามีข้อร้องเรียนว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีตัวแทนนักศึกษา 2 คนร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย กระทั่งบัดนี้ การดำเนินการใดๆ ต่อจากนั้นยังไม่มีมากนัก

ส่วนค่ายลงพื้นที่ครั้งนี้ ที่อาจถือได้ว่าเป็นงานที่ต่อเนื่องจาก "กิจกรรม" การชุมนุมครั้งนั้น เจ้าภาพจากนักศึกษา มอ.ปัตตานี อาศัยการประสานงานผ่านเครือข่ายของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งเพิ่งจะมีการประชุมสมัชชาเลือกคณะกรรมการบริหารงานชุดใหม่ไปไม่นานก่อนหน้านี้ และเชื่อมโยงนักศึกษามุสลิมผ่านเครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (คนท.) อันเป็นองค์กรประสานงานที่เพิ่งเริ่มมีบทบาทไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาจากต่างสถาบันเข้าร่วมกว่า 80 คน อาทิ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รามคำแหง เชียงใหม่ ขอนแก่น แม่ฟ้าหลวง มหิดล อุบลราชธานี เป็นต้น รวมสต๊าฟค่ายที่เป็นเด็ก มอ.ปัตตานีก็ปาเข้าไปกว่าร้อยคน

สมาชิกค่ายหลายคนตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมดหรือไม่ บรรยากาศของค่ายจึงถกเถียงถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่นำเสนอภาพของความรุนแรงอยู่เป็นนิจ หนำซ้ำยังให้น้ำหนักกับการสูญเสียฝ่ายเดียวจนละเลยเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านผู้ไร้ปากเสียง กำหนดการการลงพื้นที่ปัญหาของพวกเขาจึงตักตวงทั้งความรู้สึกและประเด็นคำถามมากมายที่สื่อมวลชนไม่ได้นำเสนอ

 

 

บทเรียนจากหมู่บ้าน

เด็กหนุ่มจากชมรมค่ายรามอีสานอย่าง "พร" ก็มีความคาดหวังเช่นกันว่า ข้อเท็จจริงในหมู่บ้านที่เขาเดินทางไปตามกำหนดการของค่ายนี้จะให้ภาพที่แตกต่างจากการรับรู้ก่อนหน้า เขาและน้องชมรมอีก 4 คน ได้รับการประสานงานจาก สนนท.ให้เข้าร่วม และมีการเตรียมตัวโดยมีกระบวนการจัดการศึกษาภายในชมรมก่อนเดินทางลงมาร่วมค่าย ถามว่ากลัวหรือไม่ พร บอกว่า แรกๆ ก็กลัว คนในชมรมก็ต่างปฏิเสธที่จะมากัน แต่วงคุยจัดการศึกษาที่มีนักศึกษาในพื้นที่มาให้ภาพว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด พวกเขาจึงตัดสินใจมา แต่ก็ถึงขั้นอาสากัน

"กลัวอยู่ แต่เราต้องการรู้ความจริง" นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงคนนี้กล่าว และบอกว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่คือความไร้ซึ่งอิสรภาพของชาวบ้านภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีเครื่องมือของกฎหมายและอำนาจรัฐอยู่ในมือ สัมผัสได้ถึงความไม่ปลอดภัยและหวาดระแวงของชาวบ้าน โดยเฉพาะคนแปลกหน้าอย่างพวกเขา

       "หากเปรียบกับภาคอีสานแล้ว ที่นั่นมีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งน้ำ ทั้งที่ดินทำกิน แต่ที่นี่แม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ผู้คนก็ไม่มีอิสระในการทำการผลิต บางครั้งจะไปกรีดยางก็ไม่กล้าออกไป" สมาชิกชมรมค่ายรามอีสานเปรียบเทียบ

ในขณะที่ "ลีโอ" นักศึกษาปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า มุมมองต่อชาวมุสลิมในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงกับก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่ได้หัวรุนแรงอย่างที่คิดไว้ และที่สำคัญ ชาวบ้านเหล่านี้ก็ไม่ได้มีความต้องการทางวัตถุมากมาย พวกเขาพร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง และเชื่อว่าไม่แปลกที่พวกเขาจะถูกตีตราว่าเป็น "โจรก่อการร้าย" เพราะมีเหตุผลเพียงพอที่จะลุกขึ้นต่อสู้ นั่นก็เป็นผลมาจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้ปกครอง

แม้จะยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าการมาเที่ยว แต่สิ่งที่ลีโอได้เรียนรู้ คือ เขาเชื่อว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนน่าจะมีอยู่จริงๆ แม้ว่าการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ก็อาจจะยังมีอยู่ เสียงสะท้อนจากชาวบ้านจึงมักเน้นการปฏิเสธทหารเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ แม้ความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ แต่เขาเห็นว่าที่นี่ คนที่มีการศึกษาก็พร้อมที่จะเป็นคนปลุกระดมเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์การต่อสู้ ซึ่งท้ายที่สุดรัฐ โดยเฉพาะทหารก็ควรจะต้องให้เกียรติในความเป็นมุสลิมและความเป็นคนมลายูของคนที่นี่

"หากได้มาคราวหน้า ผมก็อยากจะรู้จักกับกลุ่มผู้ก่อการ ไม่คนใดก็คนหนึ่ง จะได้รู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร" เขากล่าว

ส่วน ขวัญ - สุภัสสร  นักกิจกรรมจากรั้ว มช. ปี 2 บอกว่า แม้ข้อมูลจากสื่อกระแสหลักจะนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน แต่การลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็สะท้อนความจริงด้านเดียวของชาวบ้านเช่นกัน เธอจึงตระหนักเสมอว่าการลงพื้นที่ไม่อาจทำให้ได้ความจริงทั้งหมด ทว่าสิ่งที่เรียนรู้ได้ คือ ชาวบ้านน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยภายหลังจากที่เราเดินทางกลับ เพราะระหว่างลงพื้นที่ชาวบ้านรู้สึกอึดอัดที่จะเล่าในสิ่งที่ตัวเองประสบ ในขณะที่นักศึกษาเองก็ไม่มีหลักประกันอันใด

"เราอาจได้ความจริงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เสียทีเดียว ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะไปคิดต่อหรือจะเชื่อตามที่ชาวบ้านบอกทั้งหมด บางทีปัญหาอาจมีหลายมิติก็ได้" ขวัญบอกและระบุว่า เธอใช้เวลาเตรียมตัวโดยอ่านหนังสือเกี่ยวกับภาคใต้ 2 - 3 เล่มก่อนที่จะใช้เวลาเดินทาง 2 วันกับรถไฟชั้นสามจากเชียงใหม่ถึงปัตตานี หนึ่งในนั้นคือ "รัฐปัตตานีในศรีวิชัย" ของสำนักพิมพ์มติชน

หลังจากพูดคุยกับชาวบ้าน ขวัญ สรุปว่า ชาวบ้านอาจมองปัญหาแตกต่างกับนักวิชาการ เพราะทุกวันนี้พวกเขาเดือดร้อนในวิถีชีวิตประจำวันหรือเรื่องราวที่เขาต้องเผชิญกันเองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียญาติพี่น้องหรือการทำมาหากิน โดยที่อาจไม่ได้มองเงื่อนไขของประวัติศาสตร์แต่อย่างใด ขวัญยังเป็นอีกคนที่เข้าใจว่าชาวบ้านที่ถูกกระทำมีสิทธิที่จะต่อสู้เรียกร้อง ไม่แปลกที่พวกเขาจะโกรธและใช้ความรุนแรง แม้เธอจะไม่เห็นด้วยในวิธีการก็ตามที

"เราคงต้องดูว่า เราไปทำอะไรกับเขาก่อนหรือเปล่า บางทีรัฐเองก็อาจเป็นโจรก็ได้ เพราะต่างก็ใช้ความรุนแรงด้วยเหมือนกัน" เธอสรุป และย้ำว่า ต่อจากนี้เธอและเพื่อนจาก ม.เชียงใหม่ และ ม.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นเครือข่ายนักศึกษาจากภาคเหนืออาจมีกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่การรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไฟใต้ในมหาวิทยาลัยของตัวเองมากขึ้น

ในขณะที่นักศึกษาเจ้าบ้านอย่าง "ยี" เด็กรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ก็บอกว่า เขาประทับใจความสนใจใคร่รู้ของเพื่อนนักศึกษาจากต่างพื้นที่ และคาดหวังว่าเพื่อนเหล่านี้จะเป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศถึงปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังประสบ เพราะสักแต่ให้นักศึกษามุสลิมคนพื้นที่อย่างพวกเขานำเสนอเพียงลำพังก็จะถูกกล่าวหาว่า "เข้าข้างพวกเดียวกันเอง" แต่ถ้าเป็น "คนอื่น" อธิบายอาจทำความเข้าใจกับผู้คนได้มากขึ้น

เขายอมรับว่า การเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย แต่นักศึกษาจำต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหามากขึ้นให้ได้ "เพราะสิ่งที่ชาวบ้านพูดไม่มีใครสนใจ แต่หากถ้าเป็นเรา (นักศึกษา) พูด อาจมีคนสนใจบ้างก็ได้" ยีบอกว่า ต่อจากนี้ไป นักศึกษา มอ.ปัตตานี จะเน้นหนักที่การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ประสบปัญหา อาจมีเวทีแลกเปลี่ยนติดตามสถานการณ์ภายในมหาวิทยาลัยบ้าง

         นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษามลายูมุสลิมคนพื้นที่ทั้งที่เดินทางไปศึกษาต่างถิ่นและในสถาบันท้องถิ่นกับนักศึกษาที่เป็น "คนนอกพื้นที่" ก็ให้ภาพอันเลวร้ายของสถานการณ์ที่ "ชาวบ้าน" กำลังเผชิญ แน่นอนที่สุด เป้าการโจมตีจึงมุ่งไปที่นโยบายของรัฐและการปฏับัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก

คืนสุดท้าย, หลังจากสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่หมู่บ้านสีแดงกรณีปัญหาต่างๆ กำหนดการก็เข้าสู่การเปิดวงคุยใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงถึงจุดยืนและข้อเสนอของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งสุดท้ายนำมาสู่ข้อเรียกร้อง 11 ข้อ แม้ว่าจะมีเสียงท้วงติงจากสมาชิกค่ายบางส่วนว่าการเรียนรู้ปัญหาภายในระยะเวลาอันสั้นของพวกเขายังไม่สามารถตกตะกอนเป็นข้อเสนอได้ก็ตามที

ถึงกระนั้น ข้อเรียกร้องก็ถูกบีบขับออกมาจากการระดมกันในวง โดยมีเนื้อหาพุ่งเป้าไปสู่ปัญหาที่เกิดจากนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐ โดยเฉพาะการขอให้ถอนทหารพรานออกจากพื้นที่เพราะเห็นว่าชาวบ้านประสบปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ และยังเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการฉุกเฉินและกฎอัยการศึก รวมถึงยกเลิกมาตรการบุกค้นจับกุมชาวบ้านที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

ภัทรดนัย จงเกื้อ โฆษก สนนท. อธิบายเพิ่มเติมถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับทหารพรานว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมากที่สุดในพื้นที่ โดยเฉพาะทหารพรานที่เข้าไปตั้งฐานในหมู่บ้านและมักข่มขู่คุกคามชาวบ้าน การถอนทหารพรานจะเป็นรูปธรรมในความตั้งใจแก้ปัญหาของรัฐบาล เชื่อว่าชุมชนสามารถจัดระบบดูแลความปลอดภัยเองได้ ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

น่าเสียดาย หากกิจกรรมของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ซึ่งมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจะคงบทบาทของตนไว้ที่เสียงสะท้อนผ่านแถลงการณ์ดังกล่าวเพียงอย่างเดียว มะ หรือ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ แกนนำนักศึกษาจากรั้วรามคำแหงก็เห็นไปในทำนองเดียวกันว่า นักศึกษาในเครือข่ายจากค่ายในครั้งนี้ควรจะต้องมีกิจกรรมต่อเนื่อง โดยวางบทบาทในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงจากพื้นที่สู่การรับรู้ของผู้คนทั้งประเทศ และคงฐานะการเป็นตัวประสานระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาครัฐ

       มะ เป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ปัจจุบันเขาเป็นรองเลขาธิการ สนนท.ที่ผลักดันประเด็น "ไฟใต้" เข้าสู่วาระการทำงานของนักศึกษาที่ทำกิจกรรม เขายังเชื่อมั่นว่า ปัญหาความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านจะสามารถคลี่คลายได้หากนักศึกษาทำหน้าที่เชื่อมประสาน เพราะชาวบ้านคาดหวังและไว้วางใจนักศึกษาที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง

เขาบอกว่า ที่ผ่านมานักศึกษาไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวมากนักต่อประเด็นปัญหาชายแดนใต้ เพราะมักถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการหรือแนวร่วมที่ก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแม้จะมีบางส่วนแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่สามารถที่จะเหมารวมได้ รัฐควรจะต้องสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ให้มาก แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของภาครัฐ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเช่นกัน

ส่วนว่าจะมีการชุมนุมของนักศึกษาอีกหรือไม่ รองเลขาธิการ สนนท.บอกเพียงว่า ต้องพิจาณาที่เงื่อนไขของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากรูปธรรมสะท้อนว่ารัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและยังมีการละเมิดสิทธิของประชาชนอีก นักศึกษาอาจมีการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง

ต่อจากนี้ จึงน่าสนใจว่าการใช้พื้นที่สาธารณะเช่นนี้เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบไร้ความรุนแรงเช่นนี้ จะพอเป็นแรงถ่วงดุลให้มองเห็นทางเลือก - ทางออกสำหรับปัญหาไฟใต้ในอนาคตหรือไม่ คงต้องจับตามองอย่างใจเย็น



เปิดพื้นที่สาธารณะ