(ชายฝั่งทะเลตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 6 ก.ย.2550)
ภาสกร จำลองราช
เกือบเที่ยงวันผมขับรถออกจากหมู่บ้านตันหยงเปาว์ด้วยความรู้สึกวังเวงใจ ตลอดระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรจากหมู่บ้านสู่ถนนใหญ่ซึ่งเป็นป่าชายเลนสลับกับบ้านคน แม้ยังพอเห็นชาวบ้านทำกิจวัตรประจำวัน แต่ความรู้สึกช่างแตกต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนมาก ครั้งนั้นแม้จะมืดดึกเลยเที่ยงคืน บนถนนเปล่าเปลี่ยวมีแต่เพียงแสงไฟหน้ารถแหวกความมืด แต่ผมกลับไม่รู้สึกยะเยือกเท่าครั้งนี้
ตันหยงเปาว์ เป็นหมู่บ้านชาวประมงอยู่ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่นี่มีชื่อเสียงเนื่องจากชาวบ้านซึ่งเป็นมุสลิมลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรืออวนรุนและอวนลากที่เข้ามาทำลายทรัพยากรชายฝั่ง จนกระทั่งหน่วยงานต่างๆ ให้ความเข้าใจและสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เรือตรวจการ แต่ผลของไฟแห่งอุดมการณ์ที่มีเชื้ออยู่ในหมู่บ้าน ในที่สุดเมื่อค่ำวันที่ 18 เมษายนปีนี้ กลุ่มคนร้าย 7-8 คนได้ร่วมกันเผาสิ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเสียวอดวาย โดยเฉพาะเรือลาดตระเวน
ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้ชาวบ้าน คือ ในพื้นที่ข่าวสารสารพัดสื่อแทบไม่มีการถ่ายทอดเหตุการณ์นี้ให้สังคมได้รับทราบเลยในวันแรกๆ สถานการณ์ของชาวประมงพื้นบ้านที่ต่อสู้มายาวนานจนกลายเป็นแหล่งดูงานแห่งนี้ ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและอ่อนล้าสุดขีด
เชื้อไฟของนักนิยมความรุนแรงได้โหมกระหน่ำหมู่บ้านอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐคงมะงุมมะงาหลาอยู่เหมือนเดิม ยังดีที่ตอนหลัง ศอ.บต.เข้าใจและอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือตรวจการลำใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าเรือจะต่อเสร็จลงทะเลได้
"ตอนนี้ไม่ค่อยได้ออกเรือ เพราะหาปูหากุ้งไม่ค่อยได้" ชาวบ้านที่หากินอยู่กับทะเลบอกเป็นเสียงเดียวกัน สาเหตุหลักเพราะพอเกิดความอ่อนแอขึ้นในหมู่บ้าน กลุ่มเรืออวนรุนอวนลากที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลต่างก็รุมทึ้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติกันยกใหญ่ ส่งผลให้สัตว์ทะเลสูญหายไปจากย่านนี้ "เขาบอกไม่ให้เราทำงานร่วมกับคนของรัฐ และวิธีการที่พวกเราทำมาไม่ได้ผลหรอก"
ชุมชนตันหยงเปาว์สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรได้กลายเป็นเรื่องเดียวกันกับการแย่งชิงมวลชนและปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เสียงเศร้าๆ แววตาหม่นๆ ของชาวบ้านที่นี่ ทำให้นึกเปรียบเทียบกับชาวประมงที่หมู่บ้านปาตาบูดี อำเภอยะหริ่ง ที่ผมลงไปดูก่อนหน้านี้ 1 วัน
ทำไมช่างแตกต่างกันสิ้นเชิง
ภาพแรกเมื่อเดินไปถึงหาดปาตาบูดีคือหญิงชาวบ้านกำลังเดินคอแข็งกลับบ้าน ที่ต้องทำให้คอแข็งเพราะบนศีรษะของเธอ มีกะละมังใส่ปลาอินทรีย์ตัวเบ้งๆ อยู่ 5-6 ตัว พอเข้าไปทักทาย เธอก็ยิ้มแย้มแจ่มใจเอาปลาลงมาให้ดู แต่ละตัวหนักไม่ต่ำกว่า 3-4 กิโลกรัม ตอนนี้ราคาขายส่งปลาอินทรีย์ตกราวกิโลกรัมละ 120 บาท
สาเหตุที่สัตว์น้ำหน้าหาดปาตาบูดีอุดมสมบูรณ์ นอกจากอวนรุนอวนลากไม่เข้ามาทำลายเพราะอยู่ใกล้จุดตรวจการณ์แล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังร่วมกันทำ "ซั้ง" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำเอากิ่งไม้ใบและอุปกรณ์ต่างๆ ไปกองสุมอยู่ในทะเลเพื่อให้สัตว์น้ำเข้ามาอยู่
ขณะที่อีกหลายหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาร่วมทำปะการังเทียม ทำให้ชาวท้องทะเลปาตาบูดีเป็นทีพึ่งพาอาศัยของสัตว์น้ำและคนได้ ซึ่งครั้งหนึ่งท้องทะเลย่านตันหยงเปาว์ก็เคยเป็นเช่นนี้
ที่น่าสนใจคือในชุมชนปาตาบูดีแทบไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเลย มีแต่เหตุระเบิดบริเวณเส้นทางเข้าหมู่บ้านเท่านั้น เช่นเดียวกับอีกหลายหมู่บ้านประมงที่ทรัพยากรไม่ถูกทำลาย พลังของชาวบ้านจะเข้มแข็ง ทำไม่มีเงื่อนไขใดมาปุกปั่นมวลชนได้
มูหะมะสุกรี มะสะนิง หรือที่ผมเรียกแกว่า "บังสุกรี" กับแกนนำชาวบ้านกลุ่มที่ยึดมั่นดูแลท้องทะเลตันหยงเปาว์ ต่างพยายามดิ้นรนหาทางออกให้คนในหมู่บ้านได้มีรายได้ในยามที่ไม่สามารถพึ่งพาอาชีพประมงได้นัก โดยเป้าหมายใหญ่ยังอยู่ที่การฟื้นฟูท้องทะเล
ในสมัยที่บังสุกรียังเด็กๆ แถบชายฝั่งตันหยงเปาว์เคยเป็นป่าชายเลนที่เป็นป่าแสม แต่หน่วยงานรัฐบาลบางแห่งเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นป่าโกงกางจะดีกว่า เขาคงคิดว่าง่ายเหมือนปลูกตะไคร้และใบกระเพราในสวนหลังบ้าน เลยทำลายป่าแสมเสียเหี้ยนแล้วลงมือปลูกต้นโกงกางแทน สุดท้ายต้นโกงกางตายเรียบ และป่าชายเลนกลายเป็นหาดโล่งเตียนถูกน้ำเซาะกินพื้นที่ทุกปี ในที่สุดภาครัฐเลยหาทางออกด้วยวิธียอดฮิต คือ การทุ่มงบประมาณสร้างคันหินกั้นน้ำขนาดใหญ่ ทั้งที่ยื่นออกไปสู่ทะเลและเรียบชายฝั่ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้
ปี 2547 ชาวบ้านและหน่วยงานรัฐอีกหน่วยงานหนึ่ง ทดลองแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆ โดยนำเสาคอนกรีตขนาดย่อมมาปักเรียงในท้องทะเลหน้าหาด เว้นระยะ 3 เมตรสลับไปสลับมาหลายแถว ช่วยชะลอคลื่นความแรงของทะเลไว้ได้ และมีตะกอนตกสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี บางจุดหาดที่กำลังหายไป มีทรายกลับเข้ามาเหมือนเดิม
ตามเสาคอนกรีตมีหอยแมงภู่เกาะอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ระบบนิเวศน์เล็กๆถูกสร้างขึ้น เมื่อสัตว์เล็กเข้ามาอยู่ สัตว์น้ำขนาดใหญ่ก็ตามมาหากินเป็นห่วงโซ่
"ตอนนั้นเรากำลังหารายได้เพิ่มให้ชาวบ้าน โดยเอาหอยตัวเล็กๆ ไปเลี้ยงในถุงตะข่าย ผูกห้อยตามเสา เราเสียดายหอยที่เกาะอยู่บนๆ พอน้ำลดก็ตายหมด แต่ทำอยู่ได้ไม่กี่งวด ทุกอย่างก็ถูกเผาหมด" บังสุกรีพูดอย่างอ่อนแรง แต่ไม่ถึงกับท้อแท้ ล่าสุดเขาได้ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อทำโครงการปักเสาคอนกรีต เพิ่มอีก 3 พันต้น แต่ได้มาเพียงครึ่งหนึ่ง
"ผมไม่รู้ว่าใครจะแยกดินแดนกันอย่างไร แต่ที่นี่ถ้าชาวบ้านไม่ช่วยกัน ที่ดินก็ไม่มีจะอยู่ เพราะถูกน้ำเซาะหนักทุกปี" บังสุกรีและชาวบ้านบางส่วนหวั่นว่า สถานนีอนามัย โรงเรียนตาดีกา และมัสยิดที่อยู่ใกล้ทะเลจะถูกบ่อนเซาะเช่นเดียวกับสวนมะพร้าวที่ล้มระเนระนาดและหายไปกับคลื่นลม พวกเขาเลยเร่งมือช่วยกันปักเสาเพื่อให้ทันหน้ามรสุมปลายปี
"ชาวบ้านก็มีรายได้ด้วย ตอนนี้วันละสองร้อยห้าสิบบาทก็มีค่ามากแล้ว แม้เมื่อก่อนเราออกเรือได้วันละห้าร้อยหกร้อยบาท" แม้สถานการณ์ในหมู่บ้านยังร้อนแรง แต่โครงการของชุมชนก็เดินหน้าไปได้ดีระดับหนึ่ง แต่บางเรื่องก็ต้องใช้เวลา
วันนี้แม้รอยยิ้มยังหายากและสายตาทุกคู่ของคนในชุมชนตันหยงเปาว์หวาดหวั่นและหวาดระแวงอยู่สูง แต่เสาคอนกรีตทุกต้นที่ปักลงในท้องทะเลของหมู่บ้าน กำลังช่วยต้านทานคลื่นลมที่โหมกระหน่ำ
ชายฝั่งตันหยงเปาว์ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ
เสาคอนกรีตที่ชาวบ้านร่วมกันปัก เพื่อชะลอความแรงของคลื่นลม มีหอยแมลงภู่และสัตว์น้ำมาอาศัยอยู่
ชาวประมงปาตาบูดี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีช่วยกันเข็นเรือเข้าที่จอด
เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สะท้อนการเกื้อกูลกันในชุมชน
'ปลาอินทรีย์' ที่ชาวปาตาบูดีตกได้จากทะเล
(ภาพโดย : ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)
'เรือตรวจการและที่ทำการประมงพื้นบ้าน' ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจของชาวตันหยงเปาว์
ถูกเผาทำลายไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา