Skip to main content
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เผยแพร่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554
 
สิทธิในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและการนับถือศาสนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
ประนามการฆ่าสังหารผู้นำศาสนากลุ่มต่างๆ
ในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
 
จากเหตุการณ์ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 ที่มีการฆ่าสังหารอิหม่ามชื่อนายเจ๊ะอาลี  จิยิมะ  อายุ  54 ปีอิหม่ามประจำมัสยิดบลูกาตือบู  ม.2  ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี และในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2554 การฆ่าสังหารพระอภิชัย โรจน์รังสรรค์ อายุ 28 ปี เป็นพระวัดศรีมหาโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี  ซึ่งดูเหมือนว่าความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มุ่งที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้กันโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้นำทางด้านศาสนาโดยใช้ช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัยของรัฐในการลอบสังหารผู้นำทางศาสนา  เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าอาชญกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สามารถสามารถหลบหนีและปฏิบัติการผิดกฎหมายได้อย่างลอยนวล ปราศจากการรับผิดและไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยตลอดมา  ทั้งที่มีหน่วยงานความมั่นคงหลายฝ่ายตั้งมั่นรักษาความปลอดภัยด้วยบุคคคลากรจำนวนมากมายและมีการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ
 
การฆ่าสังหารผู้นำศาสนาในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความแตกแยกทางด้านเชื้อชาติและศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง   มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประนามการใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธในการสังหารโหดผู้นำศาสนาอย่างโหดเหี้ยมและขอให้ทุกฝ่ายยุติการสังหารผู้นำศาสนาในพื้นที่โดยทันที และขอให้ประชาชนอย่าตกไปในหลุมพรางที่กลุ่มนิยมความรุนแรงฝ่ายต่างๆได้สร้างไว้เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชัง เคียดแค้น และความรุนแรงทางด้านเชื้อชาติและศาสนา จากเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทั้งสองคือโต๊ะบิหลั่นหนึ่งรายและพระสงฆ์อีกหนึ่งรูปรวมทั้งเณรอายุ 16 ปีอีกหนึ่งรูปโดยทั้งสามยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องด้วยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนปืน มูลนิธิฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้สูญเสีย ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ทั้งสอง
 
ดังที่คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10มีนาคม พ.ศ. 2554 เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้ในฐานะประชาชนชาวไทยพุทธซึ่งชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เช่นสิทธิในชีวิต สิทธิในเรื่องความเป็นธรรมและการนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย  สิทธิในด้านการรักษาพยาบาลและการเยียวยาเมื่อได้รับผลกระทบ  สิทธิในการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และการนับถือศาสนา สิทธิในเรื่องดำรงชีวิต สิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เหล่านี้เป็นสิทธิที่พึงมีพึงได้ของประชาชน และควรได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะชนกลุ่มน้อยในสังคมหมู่ใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ดีสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน  ดังนี้เองจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดสรรและดำเนินการด้านหลักการปกครองและหลักนิติธรรมอันจะนำมาซึ่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคนอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ หลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกประการคือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการกำหนดแนวทางและรูปแบบการอยู่รวมกันฉันท์ญาติมิตรในฐานะประชาชนชาวไทยอย่างสงบสุข
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีพร้อมทั้งให้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรม และงบประมาณ เพื่อการพัฒนาศาสนสถานในพื้นที่ของวัดทางพุทธศาสนาให้มีความเท่าเทียม และมีสิทธิเสมอภาคกับประชาชนอื่นๆในพื้นที่นี้ตามสิทธิพลเมืองของประเทศไทยอย่างจริงจังและให้มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันรัฐต้องดำเนินการส่งเสริมและเคารพการปฎิบัติและนับถือศาสนาอิสลามของประชาชนในประเทศไทยให้สิทธิพลเมืองของประเทศไทยอย่างเสมอภาคด้วยเช่นกัน  มูลนิธิฯ เรียกร้องให้รัฐให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนด้วยการเจรจาที่ไม่ใช้อาวุธประหัตประหารต่อกัน  การลดการใช้กำลังและการปฏิบัติการทางทหารและทบทวนการเสริมกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่   การลดอาวุธและยุทธปกรณ์อันเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาสถานและในโรงเรียน    การเสริมบทบาทพลเรือนและภาคประชาสังคมโดยเพิ่มกิจกรรมข้ามวัฒนธรรมสองชาติพันธุ์สองศาสนา กิจกรรมด้านสันติวิธีและการสร้างความปรองดองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางมูลนิธิฯเชื่อว่าจะสามารถนำพาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สู่แนวทางสันติได้โดยเร็ว