Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ในวงคุยวันสื่อทางเลือกที่ชายแดนใต้ บก.ประชาไทชี้สถานการณ์โลกเปลี่ยน คนใช้ ‘สื่อใหม่’ บนฐานความคิดเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งท้าทายอำนาจที่เคยครอบงำ แนะสื่อใหม่อาจ “เลือกข้าง” ได้เพราะไม่ยึดติดกับความเป็นวิชาชีพ หากแต่เน้นเสรีภาพที่ “มวลชน” ต้องสื่อสารเอง ขณะที่นักข่าวจาก “มินดานิวส์” แนะข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งต้องฉายภาพโศกนาฏกรรของมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2554 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ทางเครือข่ายประชาคมสื่อชายแดนใต้ จัดเวทีเนื่องในวันสื่อทางเลือก พร้อมทั้งจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สื่อใหม่/สื่อชุมชนกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New/community Media & New Social Movement)”โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มสื่อทางเลือกและกลุ่มภาคประชาสังคมหลายกลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
          นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า พัฒนาการของสื่อทางเลือกหรือสื่อใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากความพยายามในการตอบคำถามเกี่ยวกับขนาดและสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเสริมการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลัก ศูนย์ข่าวอิศราจึงถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 2548 และถือเป็นการเริ่มต้นของสื่อทางเลือกในพื้นที่ โดยเฉพาะหลังการทำรัฐประหาร สื่อทางเลือกก็ก่อตัวขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีสื่อทางเลือกมากมายเพียงใด แต่การกำหนดวาระประเด็นข่าวก็มาจาก “สื่อส่วนกลาง” เท่านั้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้สื่อใหม่เติบโตขึ้นและสามารถเชื่อมต่อกับวาระในระดับโลกได้ คำถามก็คือว่าสื่อใหม่จะทำอย่างไรที่จะสามารถกำหนดวาระดังกล่าวได้
          เธอกล่าวต่อว่า แม้จะมีข้อแตกต่างกัน แต่สื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลักก็ควรทำงานเชื่อมต่อกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบทบาทของการทำให้บางเรื่องที่เป็นสิ่งต้องห้ามได้กลายเป็นสิ่งที่พูดถึงได้ ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญได้แก่การขับเคลื่อนเรื่องการสื่อสาร งานวิชาการ และการขับเคลื่อนในองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ  ที่สำคัญ กระบวนการเหล่านี้จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองซึ่งหากมีพื้นที่เหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงจะลดน้อยลง
          ในขณะที่ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาไท เห็นว่า สถานการณ์ของโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ช่องทางในการสื่อสารใหม่ๆ เติบโตขึ้นมา พร้อมๆ กับลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ กล่าวคือ การที่สื่อใหม่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะเข้าถึงได้ สื่อใหม่ในที่นี้แตกต่างกับสื่อมวลชนวิชาชีพ หากแต่เป็นสื่อที่ทำโดยมวลชนที่อยู่บนฐานความคิดเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารของแต่ละคน ซึ่งจะสามารถเล็ดรอดจากการครอบงำของสารพัดอำนาจที่ล้อมรอบเราอยู่ เป็นช่องทางที่จะทำให้สามารถตั้งคำถามที่ไม่เคยคิดว่าจะสามารถถามได้ และท้าทายต่ออำนาจที่ครอบงำ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีราคาที่เราต้องจ่ายซึ่งเป็นข้อจำกัดอุปสรรคนานาประการ เช่น กฎหมาย เป็นต้น แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ไปเส้นแบ่งดังกล่าวจะค่อยๆ ขยับเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับเสรีภาพที่ผู้คนจะสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ
          เขากล่าวต่อว่า เสรีภาพที่จะสื่อสารของสื่อใหม่จะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเทคนิคหรือความแหลมคมของประเด็น ตลอดจนความรอบด้านของข้อมูล แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะมีอยู่ในการรายงานข่าว แต่เสรีภาพในการรายงานข่าวของมวลชนน่าจะสำคัญมากกว่า เนื่องจากสื่อทางเลือกในที่นี้ไม่ได้เป็นสื่อวิชาชีพ แต่ถึงอย่างนั้น การสื่อสารทางเลือกเช่นนี้ก็ถือว่าผู้รับสื่อนั้นควรต้องตระหนักว่าต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟังและตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกรายงานโดยตลอด
          นายชูวัส กล่าวด้วยว่า การทำงานของสื่อใหม่ยังโดดเด่นผ่านการทำงานผ่านเครือข่ายและการทำงานข้ามเครือข่าย ทำให้สื่อใหม่ใกล้ชิดกับมวลชนหรือผู้บริโภคมากกว่าสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นจุดแข็งที่สื่อหลักไม่มี แต่การออกแบบการทำงานร่วมกับเครือข่ายถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
          บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีธงในการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และมาใช้สื่อใหม่เป็นช่องทางในการสื่อสาร ยอมรับว่าเสรีภาพในการสื่อสารนี้อาจเป็นการบั่นทอนแนวทางของตัวเองได้ แน่นอนว่าสื่อทางเลือกอาจไม่ได้อยู่ภายใต้การชี้นำเสมอไป แต่หากมวลชนที่ต้องการจะสื่อสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญจริง การสื่อสารเหล่านี้จะขัดเกลากระบวนการทางอุดมการณ์ให้แหลมคมขึ้น และจะไม่มีฝ่ายใดจะสามารถแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ได้แต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากธรรมชาติของกระบวนการเหล่านี้เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง
          นายฟรอยลัน กัลลาร์โด ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของเว็บไซต์มินดานิวส์ จากฟิลิปปินส์ กล่าวถึงบทเรียนของการสร้างพื้นที่ข่าวทางเลือกในเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ว่า สิ่งที่สื่อทางเลือกอย่างมินดานิวส์ทำก็คือรายงานข่าวเชิงลึกเพื่อสะท้อนภาพโศกนาฏกรรมของมนุษย์ในพื้นที่แห่งนี้ต่อโลก และจับประเด็นข่าวที่ไม่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญจากสื่อส่วนกลาง เช่น สภาพของผู้คนในค่ายอพยพ สถานภาพของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญ คือการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าผลของข่าวสารที่ทำไปนั้นจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อฝ่ายใด นอกจากนี้ บทบาทของมินดานิวส์ยังสนับสนุนการสร้างนักข่าวจากชุมชนรากหญ้าอีกด้วย

File attachment
Attachment Size
dsw-althermedia_present.pdf (7.21 MB) 7.21 MB