เมื่อคืนได้ดูรายการสัมภาษณ์ทางทีวีของช่อง Spring News ถ้าจำไม่ผิดช่วงประมาณสามทุ่มกว่าๆ ของวันที่ 12 มีนาคม เกี่ยวกับการพูดคุยประเด็นปัญหาการไม่ให้สวมฮิญาบในโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ระหว่างตัวแทนของกิจการพุทธศาสนา ตัวแทนฝ่ายมุสลิม และนักวิชาการท่านหนึ่ง
ขณะที่ดำเนินการพูดคุย ดิฉันรู้สึกดีที่มีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวสามารถคลี่คลายในอนาคตได้ แต่ก็แอบผิดหวังเล็กน้อยที่เนื้อหาของการพูดคุยนั้นทำให้ดูเหมือนว่า ปัญหาเรื่องการคลุมฮิญาบคงต้องติดตามต่อไปในระยะยาวและต้องอาศัยความเข้าใจในหลายมิติ
ในการพูดคุยครั้งนี้ ดิฉันมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่ามีบางอย่างที่ไม่ค่อยปกติในการสนทนา คือ แต่ละท่านมีการสะท้อนความเห็นที่ค่อนข้างไปกันคนละทิศละทาง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุหนึ่งในการทำให้การเปิดพื้นที่ในการพูดคุยในอนาคตค่อนข้างลำบาก
อันดับแรกดิฉันสังเกตว่าฝ่ายกิจการพุทธศาสนามีการพูดย้ำว่าปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับปัญหาของเถรสมาคม แต่พยายามที่จะย้ำเตือนให้นึกถึงการเคารพสิทธิของสถานที่อื่นๆ ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งโรงเรียนวัดก็ควรจะต้องมีการรักษาเรื่องของอัตลักษณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมีมาตรการบางอย่างเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของโรงเรียนวัดไว้โดยไม่อนุญาตให้นักเรียนคลุมฮิญาบ (ท่านบอกว่าไม่ได้ห้ามแต่ไม่อนุญาต)
ดิฉันสังเกตว่าการที่ท่านกำลังอ้างถึงการเคารพหลักการของสิทธิของผู้อื่นๆ ซึ่งหากจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการอ้างหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งน่าสนใจว่าในรอบปีที่ผ่านมามีการอ้างหลักการดังกล่าวขึ้นมากมาย
การพูดถึงเรื่องของการเคารพสิทธิของผู้อื่นและหลักการสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยเลยแต่ได้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ ปี 2490 ในช่วงที่ประเทศไทยมีระบบการปกครองแบบเชื่อผู้นำและมีการออกกฎหมายวัฒนธรรมเพื่อจำจัดสิทธิต่างๆ ในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ที่ไม่ได้แสดงถึงความเป็นไทย
อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องในอดีต แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการไหวเวียนของข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก กระแสแนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้กระตุ้นการตื่นตัวของประชาชน ทำให้เกิดการเฟ้อของการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มต่างๆ ในสังคมมักจะเรียกร้องเรื่องสิทธิกันอย่างแพร่หลาย
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจจะกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ฉาบไว้เปลือกผิวภายนอก แต่พลังอำนาจจริงๆ ของมันก็อาจจะลดลงโดยปริยายก็ได้ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งใช้วาทกรรมสิทธิมนุษยชนในการเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของการนับถือศาสนา ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนสูง ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 5 ฉบับร่วมกับรัฐภาคี อีก 100 กว่าประเทศ อันได้แก่
1.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)
2.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenent on Civil and Political Rights-ICCPR)
3.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติชาติในทุกรูปแบบ(International Covenent on the Elimination of All Forms, of Radical Discrimination-ICERD)
4.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Covention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women-CEDAW)
5.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก-(CRC) (Convention on the Rights of the Child)
ในบรรดาสนธิสัญญาเหล่านี้ มีหลายข้อที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการนับถือศาสนาและเสรีภาพในการแสดงออกของอัตลักษณ์ โดยเฉพาะในกติกา ICCPR ซึ่งเน้นว่า “รัฐ” ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ พลเมืองจะต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานการจากการละเมิดของรัฐ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากแนวทางของฝ่ายกิจการพุทธศาสนาต่อการไม่อนุญาตนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบเพราะจำเป็นต้องเคารพสิทธิของสถานที่ที่เป็นโรงเรียนวัดนั้น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายที่เรียกร้องอย่างเดียว หากแต่พิจารณาตามหลักการของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีย่อมผูกพันกับฝ่ายต่างๆ ที่ได้รับการกระทบด้านสิทธิด้วย
หากว่ากันตามเนื้อหาในด้านของการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ฝ่ายนักเรียนมุสลิมเองที่เป็นพลเมืองของประเทศก็มีสิทธิที่จะโต้ตอบการกระทำในฐานะที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการนับถือศาสนาบ้าง
อย่างไรก็ตาม รูปการมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากข้อขัดแย้งดังกล่าว หากสังเกตการสนทนาการมองอีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายมุสลิมเองก็มีการย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า การสวมฮิญาบดังกล่าวนั้นเป็นข้อบัญญัติตามหลักการของศาสนาจริงๆ ตามที่ปรากฏไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งบรรจุหลักการและข้อปฏิบัติของชาวมุสลิมที่จะต้องปฏิบัติตั้งแต่เกิดจนตาย
ผู้สนทนามีความเห็นว่า หลักการของการคลุมฮิญาบของสตรีที่บรรลุศาสนภาวะ ไม่ใช่ธรรมเนียมประเพณีและไม่ควรจะสับสนระหว่างผู้หญิงบางคนที่คลุมและไม่คลุม แต่ต้องการออกมาเรียกร้องถึงความจำเป็นที่ต้องปกป้องชาวมุสลิมที่ต้องดำเนินกิจกรรมทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ดิฉันกำลังคิดตามอยู่ว่าหากแต่ละฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าเรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของศาสนาและไม่ใช่ประเพณีและมองย้อนกลับตั้งแต่ต้นไปในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของประเทศไทยสัญญาเอาไว้กับประชาคมระหว่างประเทศ อีกทั้งรับหลักการสากลดังกล่าวมาใช้ในประเทศ ดิฉันเห็นว่าก็ไม่มีอะไรจะขัดแย้งกันเพราะทุกคนย่อมมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการยอมรับในการนับถือศาสนาของตัวเองซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากและหนักหนาสาหัตอะไร แต่อาจจะด้วยความไม่เข้าใจกันหรือมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติไปทำให้ เรื่องง่ายๆ จึงกลายเป็นเรื่องยาก
ดิฉันได้ยินคำถามจากผู้ดำเนินรายการว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ความไม่เข้าใจดังกล่าวเกิดขึ้นกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดิฉันค่อนข้างที่จะตกใจมากกับคำถามดังกล่าวแต่ก็พยายามตั้งใจฟังสิ่งที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้เสนอว่ามีเริ่มต้นปรับความเข้าใจ ในกรณีของฮิญาบดังกล่าวนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเปิดพื้นที่ให้มีการทำความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างฝ่ายพุทธและฝ่ายมุสลิม ซึ่งสถาบันของเธอก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วในเรื่องของการสานเสวนาและระหว่างศาสนาในการสร้างสันติภาพ เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่ชอบอ้างในการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ดิฉันเห็นว่าประเด็นการสร้างความเข้าใจเรื่องปัญหาฮิญาบในเวลานี้นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างทางโรงเรียนและฝ่ายต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาเท่านั้น ต่างกับปัญหาภาคใต้มีความซับซ้อนและฝังรากมายาวนาน ยืดเยื้อ และมีตัวแสดงหลากหลายมากกว่า
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการเอาหลายๆ สิ่งมาเชื่อมโยงกันให้สับสน ยากต่อการแก้ไข รวมทั้งการปลดล็อกความรู้สึกและความไม่เข้าใจที่ฝังอยู่
ดิฉันยืนยันว่าในเบื้องต้นควรจะต้องเปิดพื้นที่พูดคุยกันทั้งสองฝ่ายในหลากหลายมิติ เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะที่อยู่ร่วมกันในสังคมที่ยังมีความยึดมั่นในพหุวัฒนธรรม